posttoday

เฉลิมยันต้องรายงานศาลการเมืองไทยไม่สากล

22 พฤษภาคม 2556

"เฉลิม" ยืนกรานแก้รายงาน เพื่อให้เห็นว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เป็นสากล เสนอเวทียูเอ็น

"เฉลิม" ยืนกรานแก้รายงาน เพื่อให้เห็นว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เป็นสากล เสนอเวทียูเอ็น

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี  ยืนยันว่า จะขอแก้ไขรายงานสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 2  ก่อนนำเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้เห็นว่า กระบวนการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เป็นไปตามหลักสากล

“องค์การสหประชาชาติจะถามทุกประเทศว่าแต่ละประเทศมีการพิจารณาคดีเป็นไปตามหลักสากลในข้อ 14 วรรคห้า หรือไม่ จึงต้องดูว่าประเทศไทยเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า แม้ไม่เรียนเมืองนอก แต่มีความรู้ว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล เพราะการพิจารณาต้องใช้ 3 ศาล ยกเว้นคดียาเสพติด และการอุทธรณ์จะต้องอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้เวลา 30 วันไม่พอ  ตนเองไม่ได้ก้าวก่ายศาล แต่ต้องปรับปรุงและบอกกับชาวโลกว่าเมืองไทยยังไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“แล้วผมทำอย่างนี้ผิดหรือ เราต้องบอกเขาว่าเมืองไทยยังไม่ใช่ ยังมีศาลเดียว” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม ปฏิเสธว่า  ไม่ได้พูดให้ล้มศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่จะบอกให้สหประชาชาติทราบว่าเมืองไทยไม่เป็นหลักสากลในการพิจารณาคดี ส่วนที่กระทรวงยุติธรรมระบุว่าจะพิจารณาไม่ทันนั้น ก็ให้เอามา 30 วัน ตนเองจะเขียนให้ ถ้ายังไม่เสร็จก็ยังไม่รายงานไปว่าของเราเป็นไปตามหลักสากล เพราะยังไม่เป็นหลักสากล เรากำลังมีแนวคิด ถ้าเราทำเองจะถูกวิจารณ์ ดังนั้น ให้สหประชาชาติรับรู้และช่วยคิดให้ด้วย

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า กรณีที่รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้ศาลฯเปิดอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้ภายใน 30 วันนั้น แต่ทั่วโลกไม่มีแบบนี้ เรากำลังปรับสู่สากล

“ผมไม่ได้หวังผลอะไร  แค่ให้ทั่วโลกรู้ว่าที่คุณคิดว่าเมืองไทยเป็นสากลนั้นไม่ใช่  จะไปถูกมองอย่างไร เราเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ไม่มีใครว่าหรอก“ ร.ต.อ. เฉลิม กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. กระทรวงยุติธรรมนำเสนอรายงานสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2 ก่อนเสนอ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ให้ที่ประชุมครม.รับทราบ แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ได้ท้วงติงให้นำกลับไปแก้ไข โดยให้ใส่เนื้อหากระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เป็นไปตามหลักสากล  แต่พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม แย้งว่า รายงานฉบับนี้พิจารณากันมาอย่างรอบคอบแล้วใช้เวลาทำมานานแล้ว ไม่อยากให้แก้ไข  ในที่สุดครม. มีมติมอบหมาย ให้ร.ต.อ.เฉลิม และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ร่วมพิจารณากับกระทรวงยุติธรรมก่อนนำเสนอ ครม.อีกรอบ