posttoday

ภาคปชช.ยื่นกมธ.วุฒิสอบหมอประดิษฐ

02 พฤษภาคม 2556

ภาคประชาชน ยื่น กมธ.วุฒิ สอบหมอประดิษฐ เหตุปล่อยข่าวทำลายองค์การเภสัชกรรม ทั้งที่ต้องตั้งกก.สอบก่อน ชี้ เอื้อต่างชาติค้ากำไรยา

ภาคประชาชน ยื่น กมธ.วุฒิ สอบหมอประดิษฐ เหตุปล่อยข่าวทำลายองค์การเภสัชกรรม ทั้งที่ต้องตั้งกก.สอบก่อน ชี้ เอื้อต่างชาติค้ากำไรยา

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงาน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เข้ายื่นหนังสือต่อน.ส.รสนา โตสิตระกูล สว.กทม.และประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรมว.สาธารณสุข จากการกล่าวหาว่าองค์การเภสัชกรรม(อภ.)และผู้ที่เกี่ยวข้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 157 หลังจากกดีเอสไอตรวจสอบการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลจำนวน 148 ตัน มูลค่า 23 ล้านบาท

โดยเนื้อหาในคำร้องได้บรรยายสรุปว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการทำงานของนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการอภ.และนพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ดอภ. ได้มีส่วนสำคัญในการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากเดิมที่ต้องจ่ายทั้งหมด 6,617 ล้านบาทลดลงเหลือเพียง 4,080 ล้านบาท เพื่อนำจำนวนส่วนต่างที่ลดลงไปจัดหายากำพร้าที่ธุรกิจเอกชนไม่ยอมผลิตเพราะเป็นยาที่ไม่ทำกำไรแต่มีผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ อีกทั้งเป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติตามการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory: CL) ช่วยให้ผู้ป่วยหลายแสนคนสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ จะเห็นได้ว่าการทำงานส่วนหนึ่งของอภ.ย่อมขัดต่อผลประโยชน์ของธุรกิจยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นพ.วิทิต และนพ.วิชัย ถูกตรวจสอบโดยมิชอบหรือใช้หน่วยงานรัฐในการทำลายการมีอยู่ขององค์การเภสัชกรรมเพื่อเปิดทางให้บริษัทยาข้ามชาติมาแสวงหากำไรจากงบประมาณแผ่นดิน
ทั้งนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการกล่าวหาของรมว.สาธารณสุขและเลขานุการและการสอบสวนของดีเอสไอด้วย เพราะไม่ได้มีการสอบสวนตามกระบวนการปกติ แต่กลับมีการปล่อยข่าวเป็นระยะราวกับจงใจที่จะทำให้สาธารณชนหมดความไว้วางใจกับคุณภาพยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยอภ. ซึ่งอาจจะมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศและทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศไทย

ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้มอบให้คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐ ที่มี พล อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ สว.สรรหา เป็นประธาน ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามคำเรียกร้องดังกล่าวหรือไม่ คาดว่าน่าจะประชุมกันได้ในวันที่ 16 พ.ค.พร้อมกับเชิญตัวแทนจากอภ.และกระทรวงสาธารณสุขมาชี้แจงต่อไป

ขณะเดียวกัน นายสมชาย ขำน้อย รองประธานคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอภ. ปฎิบัติหน้าที่แทนประธานสหภาพฯ ได้ยื่นหนังสือต่อน.ส.รสนาในกรณีเดียวกันด้วย พร้อมกับข้อให้ดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อถอดถอดนนพ.ประดิษฐในข้อหาปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326,328 และ 157

สำหรับความผิดของนพ.ประดิษฐ์มาจากการที่ได้มอบหมายให้นายกมลนำกรณีที่พบสารปนเปื้อนในวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลไปแจ้งและแถลงข่าวกับสื่อมวลชนและกล่าวหาอภ.ในลักษณะที่ประชาชนที่รับข่าวสารเข้าใจได้ว่าอภ.มีการทุจริตทั้งที่ยังไม่ได้สอบสวนพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีพ.ศ.2539 ข้อ 8 และพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ.2539 บัญญัติให้กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหน่วยงานของรัฐสร้างความเสียหายจะต้องให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก่อน แต่ในกรณีนี้นพ.ประดิษฐไม่ได้ปฎิบัติตาม