posttoday

สส.-สว.ยันศาลไร้อำนาจตีความแก้รธน.

02 พฤษภาคม 2556

สมาชิกรัฐสภายันศาลไร้อำนาจรับตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำฝ่ายนิติบัญญัติมีสิทธิ์แก้กฎหมาย ด้าน“พีรพันธุ์”ชี้แม้ตัดสินก็ไม่ผูกพันสภา

สมาชิกรัฐสภายันศาลไร้อำนาจรับตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำฝ่ายนิติบัญญัติมีสิทธิ์แก้กฎหมาย ด้าน“พีรพันธุ์”ชี้แม้ตัดสินก็ไม่ผูกพันสภา

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา นำโดย นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) และนายกฤช อาทิตย์แก้ว สว.กำแพงเพชร พร้อมด้วยสส.และสว. กว่า 20 คน ร่วมกันแถลงข่าวกรณีทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ในการรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของสมาชิกรัฐสภา 312 คน

โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร สส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภา จำนวน 312 คน ได้ทำจดหมายเปิดผนึกจำนวน 10 หน้า เพื่อมอบให้กับองค์กรอิสระต่างๆ ยกเว้น ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งให้คณะผู้พิพากษาศาลทั่วประเทศ และส่งให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆที่สอนด้านกฎหมาย เพื่อให้รับทราบการวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่ผิดกฎหมาย และขอยืนยันว่าสมาชิกรัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค2 ที่บัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามหน้าที่

ด้าน นายพีรพันธุ์ พาลุสุข สส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันและตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ก็จะถือว่าไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและจะไม่ผูกพันรัฐสภา  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายเปิดผนึกคัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาอ้างถึงมติคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. และ 11 เม.ย. 2556 กรณีรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา ระบุว่า ข้าพเจ้าในนามสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ขอเรียนว่าการรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจตามเหตุผลดังนี้

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณาเนื่องจาก

1.1 เรื่องใดที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนไว้พิจารณา ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

1.2 รัฐสภามีความชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่ยการยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญแล้วจัดตั้งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ย่อมทำได้ การที่สมาชิกรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นการกระทำในนามของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้นในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหากไม่อยู่ในข้อจำกัดของการห้ามแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 291 วรรค 2 และการดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 แล้ว ย่อมเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภาที่จะดำเนินการได้ องค์กรอื่นใดตามรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบได้

1.3 การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ได้ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือแบ่งแยกภารกิจในการใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการออกจากกัน แต่ก็มีกระบวนการถ่วงดุลหรือกำหนดความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างองค์กรไว้ในบางประการ เฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น หากกรณีใดรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติถึงความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างองค์ไว้แล้ว องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปกระทบหรือแทรกแซงการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นมิได้ ดังนั้นเมื่อรัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาได้ไม่ว่ากรณีใด

1.4 กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเป็นกระบวนการปกติในระบอบรัฐสภาซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญก็เคยได้รับการแก้ไขเป็นรายมาตรา และยกร่างทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว และไม่เคยบัญญัติให้อำนาจแก่องค์ใดเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเลยไม่ว่ากรณีใด

1.5 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมิใช่เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด การที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบได้ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งนั้น ผลก็จะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญ การตีความเช่นนี้เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง อันจะทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและหลักการแบ่งแยกอำนาจถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

2.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไว้พิจารณาโดยตรงโดยที่ยังมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน

2.1 ตั้งแต่แรกที่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2540 รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้การยื่นคำร้องจ่อศาลรัฐธรรมนูญต้องผ่านองค์กรหรือบุคคลตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติใดให้สิทธิประชาชนที่จะเสนอคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เช่นเดียวกัน มีเพียงกรณีเดียวที่ประชาชนอาจใช้สิทธิโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้คือ ตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ก็ต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน

2.2 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้น มิใช่สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้นการจะปล่อยให้ใครมาใช้สิทธิโดยพังต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้นอาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้

2.3 การตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าบุคคลผู้ทราบการกระทำว่ามีการล้มล้างการปกครอง สามารถใช้สิทธิได้ 2 ทางคือเสนอเรื่องให้อับการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้นั้น เป็นการตีความที่ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์รวมถึงวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง จะทำให้การทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดไม่มีที่ใช้อีกต่อไป เพราะเมื่อผู้ทราบการกระทำสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดอีก หรือเมื่อเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว ผู้ร้องกลับมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เองอีกเช่นนี้ สิ่งที่อัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็จะไร้ผล การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำให้เกิดผลประหลาดที่ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเองและทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง จนอาจทำให้เข้าใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเสียเอง เพราะจะทำให้รัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้

3.มาตรฐานการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจยอมรับได้ มีการเร่งรัดพิจารณารับคำร้องอย่างผิดปกติวิสัยและขาดหลักความเสมอภาคในการพิจารณารับคำร้อง เมื่อมีผู้มายื่นร้องวันที่ 2 เม.ย. ปรากฎว่าวันที่ 3 เม.ย.มีการพิจารณารับคำร้องทั้งที่มีตุลการศาลรัฐธรรมนูญอยู่เพียง 5 คน และมีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องดังกล่าวไว้ นอกจากนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่รับคำร้อง ประกอบด้วยนายจรัญ ภักดีธนากุล และนาสุพจน์ ไข่มุกต์ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญ เพราะเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในด้านจรรยาบรรณของตุลาการและตามหลักวิชาชีพย่อมไม่สมควรที่จะร่วมพิจารณาคำร้องนี้ตั้งแต่แรก อีกทั้งนายจรัญเองก็เคยพูดว่ารัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องควรแก้ไข

ขณะเดียวกันการตีความของศาลรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรและหลักการตีความรัฐธรรมนูญ ทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความขัดแย้งกันเอง ขาดความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ การตีความขยายเขตอำนาจตนเองของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้นับเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะการตีความเพิ่มเติมอำนาจให้กับตัวเองดังกล่าว มีผลเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และไม่ต้องผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีองค์กรใดตรวจสอบถ่วงดุลได้ หากยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายอำนาจของตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักการสำคัญอื่นในรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ในนามของสมาชิกรัฐสภาขอประกาศยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันอีกครั้งว่า ขอคัดค้านการช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาและกรณีที่รับคำร้องไว้พิจารณาโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดเสียก่อน สมาชิกรัฐสภาทุกคนที่เกี่ยวข้องขอยืนยันอย่างแน่วแน่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ประเทศชาติประชาชน และเพื่อคงไว้ซึ่งหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งอำนาจ และเกียรติภูมิของสภาบันรัฐสภาอันเป็นหลักการและสถาบันที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และการรับคำร้องไว้พิจารณาในคดีนี้พวกเราขอแจ้งมายังพี่น้องประชาชนว่า ขอให้ศาลได้ไตร่ตรองและพิจารณาแนวทางการรับคดีเรื่องนี้เสียใหม่ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเอง โดยที่พวกเรามิได้มีอคติหรือเจตนาร้ายใดๆ ต่อศาลแม้แต่น้อย

แต่สถานะความเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนไม่อาจทนเห็นและยอมรับความผิดพลาด บกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น และปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไปได้ ทั้งที่สมาชิกรัฐสภาได้โต้แย้งและคัดค้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่รับคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 แล้ว จึงพร้อมกันแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินการครั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจอ้างผลแห่งคำวินิจฉัยที่เป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรต่างๆมาใช้ในกรณีนี้ได้เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาด และผูกพันองค์กรต่างๆนั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากเป็นการวินิจฉัยที่เกินขอบเขตอำนาจแล้วก็ไม่มีผลผูกพันองค์กรอื่น องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จึงชอบที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ต่อไปได้