posttoday

เขมรยัน2ชาติพิพาทต้องตีความคำพิพากษา

18 เมษายน 2556

"กัมพูชา"ระบุไทยล้อมลวดหนามไม่ตรงตามคำตัดสิน ย้ำ"สีหนุ"ประท้วงหลายครั้ง ยกไทยทำแผนที่ L7017 สะท้อนเกิดข้อพิพาทศาลต้องตีความคำพิพากษา

"กัมพูชา"ระบุไทยล้อมลวดหนามไม่ตรงตามคำตัดสิน ย้ำ"สีหนุ"ประท้วงหลายครั้ง ยกไทยทำแผนที่ L7017 สะท้อนเกิดข้อพิพาทศาลต้องตีความคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายร็อดแมน บุนดี ทนายความฝ่ายกัมพูชา ขึ้นให้การทางวาจารอบสองต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี2505

นายร็อดแมนกล่าวว่า แนวรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไทยไม่ได้เป็นไปตามคำพิพากษาเมื่อปี 2505 อีกทั้งการที่ไทยยกกรณีพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัติรย์กัมพูชา ไม่คัดค้านต่อเส้นลวดหนามนั้น เพราะครั้งนั้นหากสมเด็จฯสีหนุก้าวข้ามรั้วลวดหนามก็จะเป็นปัญหา

กัมพูชายืนยันว่า มีการแสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดแจ้ง จากบันทึกของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในภาคผนวก 6 ของกัมพูชานั้นระบุว่า สมเด็จฯสีหนุได้กล่าวหลังจากไปเยี่ยมปราสาทพระวิหารว่าแม้ประเทศไทยจะถอนกำลังออกจากปราสาทพระวิหาร แต่ก็มีการสร้างรั้วลวดหนามขึ้นมา และยังรุกล้ำดินแดนกัมพูชาโดยละเมิดคำพิพากษา เหมือนกับว่าไทยตีความไปเองฝ่ายเดียว            

นายร็อดเเมน กล่าวอีกว่า การให้การของไทยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. พยายามจะเปรียบเทียบกับการเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ สมเด็จฯสีหนุ ซึ่งกัมพูชาขอชี้แจงว่าทั้งสองกรณีมีความแตกต่างกัน เนื่องจากสมเด็จฯสีหนุได้ประท้วงท่าทีของไทยทั้งก่อนเดินทางไปและหลังจากเดินทางกลับ และยืนยันว่าได้พยายามประท้วงหลายครั้ง แต่ประเทศไทยไม่ยอมรับ ในขณะที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่เคยพูดอะไรเลย

หลังจากนั้นตัวแทนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ทราบว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นหลังศาลมีคำพิพากษาในปี 2505 และไทยเองก็ทราบว่ามีเอกสารยืนยัน แต่ไม่เคยยอมรับ

อย่างไรก็ตามอีก 28 ปี ต่อมาหลังปี 2512 มีช่วงที่กลุ่มเขมรแดงเข้ามา จึงไม่มีใครทำอะไรกับปราสาท ทั้งนี้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใหม่ในปี 2533 โดยครั้งนั้นประเทศไทยก็ไม่ได้อ้างถึงเส้นตามมติ ครม.แต่อย่างใด อีกทั้งทางกัมพูชายังสร้างวัดและมีคนกัมพูชาไปอาศัยจำนวนมาก แต่ไทยก็นิ่งเฉย ไม่ได้มีการประท้วง

นายร็อดเเมน กล่าวอีกว่า ในปี 2550 ไทยได้จัดทำแผนที่ L7017 ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งในปี 2551 กัมพูชาได้ปฏิเสธแล้วว่าแผนที่ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแผนที่ตามภาคผนวก 1  (แผนที่1:200,000 หรือ ระวางดงรัก) ตามคำตัดสินของศาล

"กรณีดังกล่าวแสดงชัดเจนว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นจากการตีความคำพิพากษา แต่ต่างกันที่ไทยบอกว่าข้อพิพาทเกิดขึ้นจากแผนที่ที่กัมพูชาทำขึ้นมาเพื่อยื่นต่อ ยูเนสโก ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทและบริเวณเป็นมรดกโลก แต่กัมพูชามองอีกด้านว่าข้อพิพาทเกิดขึ้น เพราะมีแผนที่ของไทยเกิดขึ้นมา"นายร็อดแมนกล่าว

นายร็อดแมนกล่าวอีกว่า สังเกตได้ชัดเจนว่า เรื่องนี้มีข้อพิพาทเกิดขึ้นไม่ว่าในแง่ใดก็ตามในความหมายและขอบเขตคำพิพากษา ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ศาลต้องฟังคำขอของกัมพูชาเพื่อให้ตีความคำพิพากษาซ้ำอีกครั้ง

*************

อนึ่งแผนที่ L7017 คือแผนที่ซึ่งจัดทำโดยกรมแผนที่ทหารของไทยซึ่งแสดงสภาพภูมิประเทศจากภาพถ่ายทางอากาศในมาตราส่วน 1: 50,000 โดยเป็นการถ่ายทอดเส้นเขตแดนตามสภาพภูมิประเทศจริง

ทั้งนี้แผนที่ตามภาคผนวก1ของกัมพูชาหรือแผนที่ 1:200,000 กับ แผนที่ L7017 ถูกจัดทำขึ้นโดยวิธีการจัดทำ (Projection)ที่ต่างกัน โดย แผนที่ L7017 จัดทำโดยใช้พื้นผิวของรูปทรงกระบอก (Mercator Projection) ซึ่งจะแสดงระยะทางที่ถูกต้อง แต่ขนาดของ ภูมิประเทศจะคลาดเคลื่อน ขณะที่แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 จัดทำโดยใช้ Sinusoidal Projection (ลักษณะคล้ายหัวหอม) จะแสดง ขนาดภูมิประเทศถูกต้อง แต่ระยะทางคลาดเคลื่อน

เนื่องด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกันของแผนที่ทั้ง 2 ชุด จึงไม่ สามารถนำแผนที่มาทาบกันได้ เพราะขนาดและรูปทรงของภูมิประเทศและ เส้นเขตแดนจะแตกต่างกันมาก


ทำให้มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เมื่อนำแผนที่มาทาบกันจึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนเพราะขนาดและรูปทรงของภูมิประเทศและเส้นเขตแดนจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด