posttoday

ยกข้อมูลย้ำเขมรจ้องเปลี่ยนคำพิพากษา

17 เมษายน 2556

ทีมทนายยกข้อมูลแจงศาลโลก ย้ำกัมพูชาจ้องเปลี่ยนคำพิพากษาในอดีต เพราะที่ผ่านมาไม่เคยยื่นตีความเรื่องเขตแดน

ทีมทนายยกข้อมูลแจงศาลโลก ย้ำกัมพูชาจ้องเปลี่ยนคำพิพากษาในอดีต เพราะที่ผ่านมาไม่เคยยื่นตีความเรื่องเขตแดน

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ทนายความฝ่ายไทย ได้ขึ้นให้การด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี2505 โดยระบุว่า ศาลไม่จำเป็นต้องให้สถานะอะไรกับแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่1ต่อ 200,000 หรือ ระวางดงรัก) เพราะในปี 2505 ศาลไม่ได้มีการพิจารณา อีกทั้ง ประเด็นแผนที่ไทยกับกัมพูชาไม่เคยมีข้อพิพาท แม้ในสมัยฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาจะอ้างถึงอธิปไตยเหนือดินแดน

ทั้งนี้ ไทยได้ยินยอมปฏิบัติการ และไม่ได้แก้ไขในความคลุมเครือหรือความบกพร่องของแผนที่ดังกล่าว โดยมีหลักฐาน เมื่อปี 1974 ของคณะกรรมการประนอมระหว่างประเทศสยาม – ฝรั่งเศส รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปยังตัวปราสาทของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระหว่างที่มีกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จนมีเหตุที่นำไปสู่การพิจารณา

อย่างไรก็ดีเมื่อผลสรุปออกมา ไทยก็ยอมรับเขตอธิปไตยของฝรั่งเศสเหนือดินแดนดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าแผนที่ฉบับใดของกัมพูชาที่มาแสดง บอกเพียงพื้นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ได้มีการระบุถึงเส้นเขตแดน โดยเจตนาของทั้ง 2 ประเทศ ได้ใช้เส้นสันปันน้ำเป็นเขตแดนในการกำหนดแผนที่ หากไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอาจทำให้เกิดข้อบกพร่อง และความพยามยามใดๆ ที่จะถ่ายทอดแผนที่สู่ภูมิศาสตร์อาจทำให้เกิดข้อพิพาทกันได้

ขณะที่ ศ.โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ กล่าวว่า ก่อนเป็นที่มาของคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พบว่าเกิดจากทางฝรั่งเศสแจ้งมายังทางการของสยามว่าขอให้ชาวสยาม จำนวน 3 คนที่อยู่ในพื้นที่ปรักหักพังของตัวปราสาทพระวิหาร ออกจากไปจากพื้นที่ดังกล่าวในปีค.ศ. 1948

หลังจากนั้นเมื่อกัมพูชาได้เอกราชแล้วในปีค.ศ.1969 ก็ได้ส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเดียวกัน คือ ขอให้ราชอาณาจักรไทยถอนบุคลากรและกองกำลังออกไปจากปราสาทพระวิหาร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อธิปไตยของกัมพูชา ดังนั้น ประเด็นที่กล่าวมานั้นเห็นชัดเจนว่ากัมพูชาได้ยื่นให้ศาลพิจารณาเรื่องพื้นที่อธิปไตยเท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องของเขตแดน

“ที่มาของข้อพิพาท คือ มีคนไทยเข้าไปในตัวปราสาท กัมพูชาจึงขอให้มีการถอนออกมา นั่นเป็นสาระที่แท้จริง ไม่ใช่การกำหนดว่าเขตแดนอยู่ที่ไหน ส่วนประเด็นบริเวณปราสาท คือ พื้นที่ที่ติดกับตัวปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่แผนที่ตามภาคผนวก 1 อย่างที่กัมพูชาได้มีการร้องเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อหวังการเปลี่ยนแปลงและขยายคำร้องในคดีดังกล่าวออกไป”ศ.โดนัลด์กล่าว

อย่างไรก็ตาม มุมมองที่แตกต่างกันของเรื่องดินแดนใกล้ตัวปราสาท  ศาลได้ระบุไปแล้วว่าการถอนกำลังทหารออกจากตัวปราสาทและบริเวณปราสาทก็คือพื้นที่ที่ติดกับตัวปราสาท ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่กัมพูชาต้องการให้ถอนทหารออกจากบริเวณปราสาท ซึ่งหมายถึงพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโมเมตร ดังนั้นการขอตีความคดีปราสาทพระวิหารรอบนี้ ถือเป็นการขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาในอดีต