posttoday

ไทยย้ำศาลไม่ควรรับตีความกัมพูชา

17 เมษายน 2556

ไทยย้ำศาลโลกไม่ควรรับตีความประเด็นพระวิหารตามฝ่ายกัมพูชายื่นขอ ขณะที่ผู้พิพากษาถาม 2 ฝ่ายใช้ดุลยพินิจอะไรกำหนดพื้นที่บริเวณปราสาท

ไทยย้ำศาลโลกไม่ควรรับตีความประเด็นพระวิหารตามฝ่ายกัมพูชายื่นขอ ขณะที่ผู้พิพากษาถาม 2 ฝ่ายใช้ดุลยพินิจอะไรกำหนดพื้นที่บริเวณปราสาท

ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย กล่าวสรุปด้วยวาจาต่อศาลโลก ว่า ขณะนี้ศาลโลกคงจะเห็นถึงความแตกต่างใน 2 ด้านที่ชัดเจนที่กัมพูชาพยายามจะกล่าวหาในเรื่องไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก เชื่อมโยงกับความไม่ชัดเจนในเรื่องเส้นเขตแดน ที่นำไปสู่การรุกราน และข้อพิพาทตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ในสภาพที่ศาลต้องรับตีความ โดยใช้ธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 ว่า ไทยและกัมพูชา เห็นต่างในคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 ทั้งที่ความจริง ขอย้ำว่า ไทยได้ยอมรับปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนกัมพูชา ซึ่ง 2 ฝ่ายไม่มีข้อขัดแย้งในประเด็นนี้

ทั้งนี้ กัมพูชามีความพยายามที่จะให้เรื่องนี้เกิดความเข้าใจเป็นอย่างอื่น อย่างที่การตั้งคำถามว่า เส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน ซึ่งไทยได้ถอนทหารออกมาแล้วในพื้นที่ตั้งปราสาทพระวิหารภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ทำให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่ศาลต้องตีความข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ปี 2505 และการที่กัมพูชาขอให้ศาลชี้ชัดเส้นเขตแดน โดยใช้วิธีบังหน้าด้วยการขอตีความเส้นเขตแดน ทั้งที่ศาลได้ปฏิเสธมาแล้ว สิ่งนี้กัมพูชาน่าจะเข้าใจในคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 ว่าถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับศาลโลก ที่กำหนดเส้นเขตแดนของไทย-กัมพูชา เนื่องจากเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นข้อพิพาท มีความจำเป็นต้องปักปันเขตแดนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการชี้แจงด้วยวาจาของฝ่ายไทย นายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูเซฟ ผู้พิพากษาศาลโลก ชาวโซมาเลีย ได้ถามคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ในเรื่องดินแดนของคู่ความแต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นบริเวณปราสาทพระวิหารที่อยู่บนดินแดนกัมพูชา ในข้อ 2 ของบทปฏิบัติการ ตามคำสั่งเมื่อปี2505 ได้ใช้หลักภูมิศาสตร์หรือแผนที่ที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว

ขณะที่ นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก ระบุว่า อยากให้ทั้ง 2 ฝ่าย ตอบด้วยวาจาในรอบที่ 2 หรือจำเป็นให้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษร ในวันที่ 26 เม.ย. เวลา 17.00 น. ส่วนข้อสังเกตคำตอบฝ่ายตรงข้ามให้ยื่นวันที่ 3 พ.ค.ของปีนี้ เวลา 17.00 น.