posttoday

“ชัชชาติ”ยันตั้งไข่รางคู่ได้เอกชนร่วมทุนต่อขยายแน่

29 มีนาคม 2556

“รมว.คมนาคม ”ยันตั้งไข่รถไฟรางคู่ได้หาเอกชนร่วมทุนสร้างทางต่อขยายไม่ยาก ย้ำเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกสมัยสายหนองคายเสร็จทันพร้อมเชียงใหม่ ชี้รถไฟฟ้าเร็วสูงใช้ไฟไม่เกิน 1%

“รมว.คมนาคม ”ยันตั้งไข่รถไฟรางคู่ได้หาเอกชนร่วมทุนสร้างทางต่อขยายไม่ยาก ย้ำเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกสมัยสายหนองคายเสร็จทันพร้อมเชียงใหม่ ชี้รถไฟฟ้าเร็วสูงใช้ไฟไม่เกิน 1%

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวชี้แจงว่า ประเด็นรถไฟรางคู่ กทม.-เชียงใหม่ กทม.-หนองคาย และ กทม.-ประดังเบซา ซึ่งจากการคำนวนต้นทาง-ปลายทางต้องระบุชัดเจน และไม่ได้โกหก มีการคำนวนงบประมาณชัดเจนว่า ในงบประมาณเบื้องต้นทำตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้ว กทม.-เชียงใหม่ กทม.-โคราช กทม.-ระยอง และกทม.-หัวหิน

ส่วนที่ขยายไปหนองคายขอให้ตั้งไข่ได้ก่อน เพราะการลงทุนเรื่องดังกล่าวมีความไม่แน่นอนสูงในระยะต้น การที่หาเอกชนมาร่วมลงทุนเลยจากโครงการเป็นศูนย์ เป็นความเสี่ยงที่เอกชนต้องไปคำนวนบวกเพิ่มเข้าไป แต่ถ้าสามารถตั้งไข่ตอนแรกได้ชัดเจน และมีผู้โดยสารเบื้องต้น การขยายต่อไม่ยากที่จะหาคนมาร่วมทุน ทั้งนี้ ยืนยันว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกหนึ่งสมัย กทม.-หนองคาย จะเสร็จพร้อมกับ กทม.-เชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้บ้าบิ่น รัฐบาลได้ทำในกรอบที่ทำได้ ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงแพงนั้น ชัดเจนว่าทุกคนเข้าใจและมีกลุ่มลูกค้าแตกต่างกับกลุ่มรถไฟทางคู่ ก็เป็นสาเหตุที่รัฐบาลดำเนินการทำรถไฟทางคู่ก่อน ซึ่งเป็นโจทย์ชัดเจน เพราะรถไฟทางคู่มาระยะทางที่ยาวกว่ารถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องการเข้าไปดูแลประชาชนทั่วประเทศ

สำหรับประเด็นความพร้อมของจำนวนคนนั้น ยืนยันว่ารถไฟได้เริ่มขบวนการแล้ว มีการทำข้อตกลงกับหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และได้ส่งคน 100 คน จากรถไฟไปอบรมที่ประเทศจีน ดังนั้น อย่าไปดูถูกการรถไฟมาก มีพนักงานดีๆเยอะ ในจำนวนหมื่นกว่าคน

“เขาเป็นคนมีศักยภาพ ที่ผ่านมาผมคิดว่าเราก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ภาครัฐเองไม่ส่งงบประมาณลงไปดูแลรถไฟ เขาก็อยู่ของเขาไป ระบบการบริหารจัดการยังมีคนดีๆอยู่ เราเข้าไปดูแล คัดเลือกคน จัดองค์กร ส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าจัดการบริหารได้ แต่ถ้าเป็นองค์กรใหม่ที่บริหารรถไฟความเร็วสูงอาจจะต้องแยกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่เรากำลังดำเนินการอยู่”

ส่วนเรื่องแอร์พอร์ตลิงก์ มีพนักงานเป็นคนไทยทั้งสิ้น 500 คน และมีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ 3 ตำแหน่งในเรื่อง ความปลอดภัย และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยี ซึ่งตระหนักว่าการสร้างคนเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในรถไฟความเร็วสูง จากการคำนวนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เบื้องต้น จะใช้ไฟไม่เกิน 1% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

ทั้งนี้ จะดูมิติเดียวไม่ได้ ต้องดูอนาคตว่าน้ำมันเท่าไหร่ เพราะรถไฟฟ้าความเร็วสูงในอนาคตจะมาใช้แทนรถยนต์ ดังนั้น เมื่อน้ำมันราคาสูงขึ้น เครื่องบินโลว์คอสอนาคตก็ไม่ใช่ราคาแบบนี้ อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีความผิดพลาดเอกสาร ดังนั้น ต้องแก้ไข ส่วนค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้น 300 ล้านบาทต่อกม. เป็นการศึกษาประมาณปี 52-53 ของ ถือเป็นช่วงต้น รูปแบบการก่อสร้างจะทำเป็นคันดินตลอดทาง 600 กม. จะถูกหน่อย

ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุการณ์อุทกภัย มีการดูเรื่องการไหลของน้ำ พื้นที่น้ำท่วม แต่ละเส้นทางจึงมีการยกระดับ ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดเพิ่ม จากเดิมประมานการเป็นคันดิน และแบ่งพื้นที่ 2 ส่วนทั้งยกระดับและอุโมงค์ จะสะท้อนค่าใช้จ่าย และไม่ได้ทำฝ่ายเดียว มีทั้งญี่ปุ่น จีน ที่มาช่วยศึกษาเบื้องต้น และนำมาเปรียบเทียบอยู่ในราคาเหมาะสม ซึ่งสะท้อนราคาที่แท้จริง ไม่ได้ปรับราคาตามอำเภอใจ