posttoday

ม็อบกบข.-แพทย์ชนบท บุกชุมนุมหน้าทำเนียบ

26 มีนาคม 2556

กลุ่ม เครือข่ายรพ.ชุมชน-สมาชิกกบข.ขสมก.บุกชุมนุมหน้า ทำเนียบฯร้องนายกช่วย แนะเลี่ยงจราจร ถ.พิษณุโลก

กลุ่มเครือข่ายรพ.ชุมชน-สมาชิกกบข.-ขสมก.บุกชุมนุมหน้า ทำเนียบฯร้องนายกช่วย แนะเลี่ยงจราจร ถ.พิษณุโลก

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. กลุ่มแพทย์ชนบท ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร และเครือข่ายทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ได้ร่วมกันแต่งกายชุดสีดำมาชุมนุมที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปิดการจราจรบริเวณถ.พิษณุโลกไปจนถึงสี่แยกมิสกวัน ส่งผลการจราจรโดยรอบทำเนียบรัฐบาลติดขัดอย่างมาก ทำให้ผู้ที่ใช้รถยนต์สัญจรไปมาต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น

ขณะเดียวกัน กลุ่มม็อบแพทย์ชนบทได้นำพวงหรีดพร้อมป้ายประท้วงและป้ายขับไล่นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกจากตำแหน่ง รวมถึงได้มีการนำโรงศพ หุ่นฟาง ที่มีภาพและเขียนชื่อตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และนำดอกไม้จันจุดธูปเทียนเพื่อเผาขับไล่ด้วย

ทั้งนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การมารวมตัวครั้งนี้เพื่อขับไล่นพ.ประดิษฐ์ให้ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากที่ผ่านมาบริหารงานมีปัญหา และมีการรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง อีกทั้ง พยายามผลักดันให้แพทย์นั้นออกจากการสังกัดของรัฐ โดยให้ไปอยู่กับภาคเอกชนที่ต้องการจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์หนือเมดิคัลฮับ อีกทั้ง มีอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายคือการเปลี่ยนการจ่ายเงินแบบเหมาจ่าย เบี้ยทุรกันดาร ให้จ่ายเป็นเบี้ยขยันตามภาระงาน ทำให้แพทย์ขาดขวัญและกำลังใจ ส่งผลให้แพทย์ต้องเร่งตรวจผู้ป่วยจำนวนมากๆ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบคุณภาพการรักษา

“การชุมนุมวันนี้จะไม่มีการยื่นหนังสือใดๆ เพราะได้ยื่นหนังสือหลายครั้งแล้ว และจะชุมนุมจนกว่าจะปลดนพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ จะคอยประเมินสถานการณ์เพื่อรอดูท่าทีความเคลื่อนไหวต่อไป”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 ได้เดินทางมาเจรจากัยนพ.เกรียงศักดิ์ เพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเส้นทางการจราจรและส่งตัวแทนกลุ่มไปพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลในทำเนียบ แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมไม่ยินยอม พร้อมทั้งยืนยันจะชุมนุมบริเวณดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มม็อบเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สถาบันนอกสมทบ) นำโดยนายยุทธนา โคตะระ ประธานเครือข่ายฯ ได้มารวมชุมนุมติดกับกลุ่มแพทย์ชนบท ทำให้มีผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ถ.พิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการสาธารณะสุขฯได้ออกแถลงการณ์ร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลชี้แจงการบรรจุข้าราชการ พร้อมกับขอให้น.ส.ยิ่งลักษ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งบรรจุนักวิชาการสาธารสุขปฎิบัติการที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวใน 21 สายงานเป็นข้าราชการ

ขณะที่ นายสุพร อัตฐาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีได้เข้าเจรจากับผู้ชุมนุม โดยระบุว่า ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ จะนัดประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกเรื่องดังกล่าว โดยให้ตัวแทนสาธารณสุขเข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพอใจ และสลายตัวกลับทันที

วันเดียวกันยังมีการชุมนุมขององค์กรเครือข่ายสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แห่งประเทศไทย นำโดยนายวิศร์ อัครสันตติกุล ประธานองค์กรฯ พร้อมด้วยสมาชิกรวมตัวชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณเดียวกันกับม็อบแพทย์ชนบทและม็อบเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุข

ทั้งนี้หลุ่มผู้ชุมนุมได้สวมเสื้อโปโลสีชมพูและคาดผ้าสีขาวและมีข้อความสีดำ “ปลดแอกกบข.” คาดไว้บริเวณหน้าผาก ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายกบข. มาตรา 63 ใน4 ประเด็นหลัก คือ 1.เมื่อเกษียณอายุราชการขอให้ได้บำนาญสูงขึ้น 2.ให้สามารถลาออกได้ 3.เมื่อเสียชีวิตให้ทายาทได้รับประโยชน์ที่เป็นธรรม และ 4.ให้มีผลย้อนหลังไปถึงสมาชิกที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ถ้าไม่เป็นผล ให้ยกเลิกกบข.แล้วไปรับบำนาญตามสูตรเดิม ปี 2494 โดยไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมาชี้แจงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว พร้อมเร่งรัดให้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าสู่สภา เพื่อให้มีการพิจารณาทันในสมัยประชุมนี้ และะหากไม่นำเข้าสภา จะไปชุมนุมเรียกร้องหน้ารัฐสภาต่อไป

อย่างไรก็ดี ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกิตติรัตน์ ได้เดินทางมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยยืนยันสาเหตุการดำเนินงานล่าช้า เพราะต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้องรอบคอบ และในวันที่ 28 มี.ค. จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีตนเป็นประธาน

ทั้งนี้ หากผ่านการพิจารณาจะเสนอต่อที่ประชุมคครม. เพื่อเสนอต่อสภาให้แก้ไขกฏหมายต่อไป และขอยืนยันจะดูแลครอบคลุมข้าราชการที่เกษียนอายุด้วย อีกทั้ง ขอให้สมาชิกกบข.จับตาเรื่องดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะมีความเคลื่อไหวอย่างไรต่อไป ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมนุมต่างพอใจกับข้อสรุปดังกล่าว และยอมสลายการชุมนุมทันที

ขณะที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ได้เดินทางยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู ขสมก. โดยการจัดการซื้อรถโดยสาร(รถเมล์)ใหม่ระบบเครื่องยนต์เอ็นจีวี จำนวน 3,183 คัน มาทดแทนรถเก่าที่ใช้งานเกินกว่า 20 ปี

โดยทางสหภาพฯ มองว่ารัฐบาลขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ขสมก. จึงต้องเดินทางมาเรียกร้องและถามหาความจริงใจของรัฐบาล เพราะการปรับปรุงคุณภาพรถเมล์มีความจำเป็นและเร่งด่วนไม่น้อยไปกว่าโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างรถไฟฟ้า หรือรถไฟความเร็วสูงเพียงอย่างเดียว ซึ่งทางสหภาพฯ ได้รวมตัวชุมนุมบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษา

จากการชุมนุมดังกล่าวส่งผลมีการปิดเส้นทางการจราจร 1 เส้นทาง บริเวณถนนพิษณุโลก ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล และยังปิดถนนพระราม5 ทั้งเส้น บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลด้วย

ภาพ-@mr_madoa