posttoday

โพลเผยคนกรุงเห็นควรให้พงศพัศรับราชการ

09 มีนาคม 2556

นิด้าโพล เผยผลสำรวจคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ไม่คัดค้าน หากพงศพัศจะกลับเข้ารับราชการ

นิด้าโพล เผยผลสำรวจคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ไม่คัดค้าน หากพงศพัศจะกลับเข้ารับราชการ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การดำรงตำแหน่งของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในมุมมองของคนกรุงฯ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2556 จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง โดยพบว่า  คนกรุงเทพฯ 47.96% ระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ควรเข้ารับราชการ รองลงมา 25.18%  ระบุว่า ควรเล่นการเมือง และ 8.07% ไม่ควรดำรงตำแหน่งทั้งสองอย่าง

ทั้งนี้ ผู้ที่เห็นว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ควรเข้ารับราชการ 49.58% ระบุว่า ควรดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) รองลงมา 29.95% ควรดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนอีก 14.81% ควรดำรงตำแหน่ง ทั้งเลขาธิการ ปปส. และ รอง ผบ.ตร. และ 5.66% ระบุว่า ตำแหน่งใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถ

สำหรับผู้ที่เห็นว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ควรเล่นการเมือง  46.99% ระบุว่า ควรดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคเพื่อไทย ส.ส. พรรคเพื่อไทย หรือที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย รองลงมา 18.85% ควรดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ส่วนอีก 12.84% เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (กระทรวงกลาโหม,กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ขณะที่ 7.38%  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (กระทรวงกลาโหม,กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงยุติธรรม) และ 13.93% ระบุว่า เป็นตำแหน่งใดก็ได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสามารถ

นายทวีศักดิ์  สูทกวาทิน อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การกลับเข้ามารับราชการของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็ถือว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ เพราะมีกฎหมายที่รักษาสิทธิไว้อยู่แล้ว กฎเกณฑ์นี้เป็นแรงจูงใจให้ข้าราชการได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หากไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หรือแพ้การเลือกตั้ง ก็สามารถกลับเข้าไปรับราชการได้ตามปกติ

ทั้งนี้ การกลับเข้าไปเป็นข้าราชการตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หรือ ตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ข้าราชการตำรวจเป็นตำแหน่งที่มีความใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ ซึ่งอาจจะถูกมองเชื่อมโยงว่าเป็นการสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล แต่ถ้าหากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก็มีโอกาสสูงที่จะขึ้นมาเป็นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ถ้าหากเข้ามาเล่นการเมือง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประชาสัมพันธ์ ให้กับพรรคเพื่อไทย เพราะมีบุคคลิกและภาพลักษณ์ที่ดี จะเห็นได้จากการหาเสียงในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา