posttoday

“การเมือง-ตุลาการ”หนุนคุมอำนาจองค์กรอิสระ

01 มีนาคม 2556

“พงศ์เทพ”แนะทุกฝ่ายร่วมออกแบบองค์กรอิสระใหม่ เหตุที่ผ่านมาไม่สามารถตรวจสอบได้ ด้าน“วิษณุ”ย้ำหากเกิดรธน.ฉบับใหม่ควรระบุอำนาจให้ชัด

“พงศ์เทพ”แนะทุกฝ่ายร่วมออกแบบองค์กรอิสระใหม่ เหตุที่ผ่านมาไม่สามารถตรวจสอบได้ ด้าน“วิษณุ”ย้ำหากเกิดรธน.ฉบับใหม่ควรระบุอำนาจให้ชัด

ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (USAID) ร่วมกับเว็บไซด์ประชาไท จัดสัมมนา “15 ปี องค์กรอิสระฯ สำรวจธรรมาภิบาลไทย สำรวจประชาธิปไตย” โดยมีนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประเทศไทย พร้อมด้วยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะอดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 (ส.ส.ร. 40) ร่วมบรรยายในหัวข้อ “พัฒนาการองค์กรอิสระฯกับประชาธิปไตยไทย”

ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า องค์กรอิสระกับธรรมาภิบาล ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ประเทศไทยต้องระดมความคิด เพื่อให้เกิดกลไกลการใช้อำนาจอย่างโปร่งใส ตนได้มีโอกาสอยู่ในกลไกลการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตย ทั้ง 3 อำนาจ คือ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ซึ่งในประเทศไทยองค์กรที่คนส่วนใหญ่มักคิดเสมอว่าเป็นองค์ที่น่าเชื่อถือที่สุด คือ องค์กรตุลาการ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะเห็นตัวอย่างต่างๆมากมาย ทำให้มั่นใจว่ามันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป และในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ทำให้องค์กรอิสระเกิดขึ้นมา เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ขณะนั้น ส.ส.ร.40 คิดกันว่า จะทำอย่างไร ให้เกิดองค์กรในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใส โดยมีผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ หรือเรียกง่ายๆว่า ซุปเปอร์ฮีโร่ เข้ามาทำงานในองค์กรอิสระ

“แต่ตอนนี้ผมเชื่อว่า ส.ส.ร. 40 คงคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญให้มีองค์กรอิสระเกิดขึ้นมานั้น เป็นความคิดที่ผิดมาก ที่ทำให้เกิดองค์กรอิสระขึ้นมา เนื่องจากคนที่เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ มันมีแต่ในนิยาย เพราะเราจะเห็นได้ว่า เมื่อคนเหล่านี้มีอำนาจอย่างล้นมือ ก็จะใช้อำนาจฉ้อฉลแบบเบ็ดเสร็จ จนทำให้ไม่สามารถมีองค์กรใดเข้ามาตรวจสอบได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้สร้างกลไกลอย่างประหลาดขึ้นมา โดยการที่รัฐสภา ไม่สามารถเรียกฝ่ายตุลาการ เข้ามาสอบถามการใช้อำนาจได้เลย”นายพงศ์เทพ กล่าวและว่า ดังนั้น ต้องมาระดมความคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรอิสระเหล่านี้ ยึดโยงกับประชาชนและสามารถตรวจสอบได้มากที่สุด

ด้านนายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ กับการสร้างธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย” ซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า องค์กรอิสระเริ่มมีขึ้นเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา และที่ผ่านมารัฐธรรมนูญประเทศไทย ถูกแช่แข็งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 เนื่องจาก ปี 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ต่างประเทศได้พัฒนาการเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันให้เกิดการปฏิวัติรัฐปหารกันอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังวนเวียนกับวงจรอุบาทว์ โดยการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาดัดแปลงใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการฉีกรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ถือเป็นวงจรอุบาทว์อย่างมาก แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ประเทศไทยหลุดจากวงจรเดิมๆ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับแรกที่พยายามจะแบ่งกรอบการร่างรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากเดิม คือ การจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ อย่างโปร่งใส

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า จึงเป็นที่มาขององค์กรอิสระในทุกวันนี้ แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับลืมพูดถึงว่าองค์กรอิสระมีขึ้นมาเพื่ออะไร และมีขอบเขตอำนาจมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น จึงทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้เข้าใจว่า เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเทียบเท่ากับรัฐสภา รัฐบาล หรือแม้กระทั่งศาล จนทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้ มักเข้าใจว่า องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความคิดที่ผิด เพราะองค์กรทุกองค์กรต้องมีกลไกลการตรวจสอบได้ แม้กระทั่งศาล ก็สามารถตรวจสอบได้จากคำวินิจฉัยของศาลว่าผิดหรือถูกได้

“รัฐธรรมนูญ ปี 2550 องค์กรอิสระเหล่านี้ถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นการกำจัดอำนาจศาลปกครอง เนื่องจากศาลปกครองไม่สามารถตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ได้เลย เพราะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจผิดที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะองค์กรอิสระเหล่านี้มีอำนาจทับซ้อนกับองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติทางการเมือง ที่ไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงอยากให้มีกฎหมายที่จัดตั้งองค์กรอิสระ ที่แยกออกจารัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรอิสระที่ดูเฉพาะเรื่องๆไป เช่น องค์กรอิสระที่ดูในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง”นายวิษณุ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้ประสบการณ์และตัวอย่างจากการทำงานขององค์กรอิสระมาตลอด 15 ปี ดังนั้นหากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ควรจะกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่รวมถึงที่มาขององค์กรอิสระว่าเป็นอย่างไรให้ชัดเจน  เพราะทุกวันนี้ (1มี.ค.) อำนาจขององค์กรอิสระยังคลุมเครืออยู่มาก รวมถึงองค์กรอิสระเหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบและสามารถตรวจสอบได้ ทั้งในด้านกฎหมายและสื่อมวลชน พร้อมทั้งต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการของสภาฯขึ้น ที่สามารถเรียกองค์กรอิสระมาตรวจสอบ และส่งรายงานประจำปีต่อรัฐสภา ที่สามารถประเมินผลให้คุณให้โทษได้