posttoday

ญาติวีรชนหนุนนิรโทษเว้น4ฝ่าย

17 กุมภาพันธ์ 2556

ญาติวีรชนหนุนนิรโทษกรรม แต่ต้องยกเว้นผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย ชี้ควรให้ประชาชนเป็นผู้ผลักดันกฎหมายไม่ใช่แกนนำ

ญาติวีรชนหนุนนิรโทษกรรม แต่ต้องยกเว้นผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย ชี้ควรให้ประชาชนเป็นผู้ผลักดันกฎหมายไม่ใช่แกนนำ

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6 เรื่องการนิรโทษกรรมโดยใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยระบุว่า ฝ่ายผู้สูญเสียและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งญาติวีรชนพฤษภา 35 มีความเห็นว่า ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน อย่าได้รวมแกนนำผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย ซึ่งสังคมชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมแต่อย่างใด อันประกอบไปด้วย รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพในขณะนั้น ผู้ทำเหล่าทัพและเจ้าหน้าที่รัฐ(ศอฉ.) พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มแกนนำการชุมนุมต่างๆ นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงมา 

ทั้งนี้เนื่องจากการนิรโทษกรรมไม่ควรเป็นการนิรโทษกรรมแบบถ้วนหน้าอย่างที่เคยทำมาแล้ว เพราะนอกจากไม่นำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงแล้ว ยังไม่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก

2. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เห็นว่า การนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการเมืองนั้น จะสำเร็จได้ต้องเป็นเรื่องที่สังคมภาคส่วนต่างๆ เห็นพ้องร่วมกัน ดังนั้น เราขอให้แกนนำทุกเสื้อสี ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียจากการนิรโทษกรรม ไม่ควรออกมาเป็นตัวหลักในการผลักดันเรื่องนี้ แต่ควรให้ภาคประชาชนช่วยกันระดมความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อหาทางทำให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

3.ขอเรียกร้องให้การกำหนดการนิรโทษกรรมดังกล่าว ได้นำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้เสนอทางออกไว้แล้ว ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองควรใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง เช่น การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิด เช่น ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น

ขณะที่การนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองและกระทำผิดอาญาไม่ร้ายแรง ถือเป็นมาตรการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างมีการจัดตั้ง แต่เป็นการกระทำผิดในลักษณะจลาจล เพื่อนำข้อเสนอเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ดังกล่าวมาพิจารณาร่วม เพื่อให้ทุกฝ่ายหยิบยกมาขยายความเพิ่มเติมต่อว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร โดยเฉพาะ อดีตกรรมการ คอป. และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ควรมีส่วนร่วมในการผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชนในครั้งนี้ตามหลักการดังกล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จะต้องมีกระบวนการทำทัณฑ์บนประกอบการฟื้นฟูสังคมด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ที่กระทำความผิดไม่กลับไปทำความผิดครั้งใหม่ เพราะเป้าหมายสูงสุดของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการให้อภัยกัน โดยผ่านกระบวนการฟื้นสำนึกผิดและได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันครบถ้วน เพื่อให้ผู้กระทำผิดไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก เพราะฟื้นสำนึกด้วยความจริงใจ ในขณะที่ผู้เสียหายและสังคมก็ให้อภัยยอมรับผู้กระทำผิดคืนสู่สังคม