posttoday

มาร์คส่งทนายฟ้องธาริตผิดม.157

24 มกราคม 2556

อภิสิทธิ์- สุเทพส่งทนาย ฟ้องธาริตกับพวก รวม 4 คน ผิดม.157 พ่วงม.200 ศาลนัดไต่สวน29เม.ย .

อภิสิทธิ์- สุเทพส่งทนาย ฟ้องธาริตกับพวก รวม 4 คน ผิดม.157 พ่วงม.200 ศาลนัดไต่สวน29เม.ย .

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  เวลา 09.00น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มอบอำนาจให้นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 , พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 90 , 157 ,200

โดยคำฟ้องระบุฟ้องว่า เมื่อเดือน ก.ค.54 – 13 ธ.ค.55 จำเลยที่ 1-4 ในฐานะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ทำการสอบสวนและตั้งข้อกล่าวหาโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมาย ว่าสั่งฆ่าประชาชนโดยเจตนาเล็งเห็นผลจากกรณีที่ ศอฉ.เข้ากระชับพื้นที่ เพื่อขอพื้นที่คืนจากกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างเดือน มี.ค.- พ.ค.53 ที่บริเวณ ถ.ราชดำเนินและแยกราชประสงค์ และในหลายพื้นที่ใน กทม. – เขตปริมณฑล และที่ต่างๆ ทั่วประเทศโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งพวกจำเลยรู้ดีว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เกินกว่าขอบเขตรัฐธรรมนูญ ก่อการร้าย ก่อการจลาจล สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน กระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของ ศอฉ.เป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็เพื่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในบ้านเมืองและไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่งคงของประเทศ โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 17 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งหมด ดำเนินการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานั้น จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยรู้ดีว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง โยจำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม นปช. ชุมนุมระหว่างเดือน พ.ย.52 – พ.ค.53 โดยละเอียดแล้ว มีความเห็นว่า การกระทำกลุ่ม นปช.มีความผิดฐานก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-3 และได้รวบรวมสำนวนคดีส่งอัยการ กระทั่งมีการยื่นฟ้องคดีกับกลุ่มแกนนำ นปช.และพวกในข้อหาก่อการร้ายไปแล้ว


ขณะที่จำเลยทั้งสี่ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนโจทก์ทั้งสองคดีดังกล่าว เนื่องจากโจทก์ทั้งสองถูกจำเลยกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือตามกฎหมาย เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นหากจะมีการกล่าวโทษจะต้องเป็นข้อกล่าวหาโจทก์ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอำนาจการสอบสวนและการชี้มูลความผิดเป็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และ รัฐธรรมนูญ ฯ ปี 2550 มาตรา 250(2) และ มาตรา 275 และการที่พวกจำเลย สรุปสำนวนกล่าวหาโจทก์ โดยนำเอาคำสั่งศาลอาญาคดีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง มาโยงเป็นเหตุว่าโจทก์ทั้งสอง ออกคำสั่งโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลฆ่านายพันนั้นก็ไร้เหตุผล ขัดกับพยานหลักฐานและไกลเกินกว่าเหตุ เพราะคำสั่งศาลไม่ได้วินิจฉัยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่คนใดเป็นผู้ทำให้นายพัน เสียชีวิต การกระทำของพวกจำเลย จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ขัดข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย มีอคติ ยอมเป็นเครื่องมือของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ข้อกล่าวหาโจทก์ทั้งสอง และดำเนินการสอบสวนคดีตามคำชี้นำของแกนนำพรรคเพื่อไทยเพื่อทำลายล้างโจทก์ทั้งสองในทางการเมือง โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญา ที่มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยสถานหนักด้วย

ทั้งนี้ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาในสารบบคดีดำหมายเลข อ.310/2556 และนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ วันที่ 29 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ขณะที่นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความโจทก์ ระบุว่า การยื่นฟ้อง นายธาริต กับพวก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ด้วยนั้นเป็นการฟ้องตามพฤติการณ์ที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นว่ากระทำผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานต่อการยุติธรรมด้วย ซึ่งอัตราโทษจะสูงกว่า มาตรา 157 ที่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ