posttoday

กต.เตรียมประสานต่างชาติช่วยเหลือโรฮิงญา

18 มกราคม 2556

บัวแก้วดันมาตรการ2ช่วงช่วยโรฮิงญา ยันไม่ผลักดันออกนอกประเทศจนกว่าพิสูจน์สัญชาติเสร็จ พร้อมประสานหน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างชาติช่วยเหลือ

บัวแก้วดันมาตรการ2ช่วงช่วยโรฮิงญา ยันไม่ผลักดันออกนอกประเทศจนกว่าพิสูจน์สัญชาติเสร็จ พร้อมประสานหน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างชาติช่วยเหลือ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า การดำเนินการกับชาวโรฮิงญา กว่า 900 คน ทั้งหมดให้ถือเป็น “ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยึดถือการปฏิบัติตามกฎหมายไทย ว่าด้วยผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล แต่จะปรับวิธีการให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเด็กและสตรี รวมทั้งการตรวจสอบคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ และการจำแนกความผิดตามกฎหมายให้ชัดเจนก่อน โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไว้ชัดเจน คือ ให้คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และการให้ความช่วยเหลือให้ที่พักพิงไว้ก่อนในเบื้องต้น

ทั้งนี้ จะมีมาตรการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ มาตรการเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยมาตรการเฉพาะหน้า จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ไปก่อนด้วยงบประมาณของต้นสังกัด ส่วนมาตรการระยะยาว กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนิน คือ 1.เจรจากับประเทศพม่าและอื่นๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกับประเทศต้นทาง

2.หารือกับองค์กรระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม อาทิ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) องค์กรนานาชาติเพื่อการย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ (ยูนิเซฟ) และกาชาดสากล (ไอซีอาร์ซี) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยคำนึงของหลักอธิปไตยของไทย และ 3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานและงบประมาณ จัดส่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อบูรณาการแผนงานเพื่อของบประมาณกลางจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี กระทรวงได้เริ่มหารือกับผู้แทนของยูเอ็นเอชซีอาร์ และไอโอเอ็ม เมื่อ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกรอบบทบาทการเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยต้องเป็นไปตามหลักอธิปไตยของไทย และจะมีการหารือกันในรายละเอียดต่อไปในสัปดาห์หน้า โดยมีแผนจะนำผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมลงพื้นที่เยี่ยมชาวโรฮิงญาเพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยให้การดูแลคนเหล่านี้อย่างเหมาะสม

นายสุรพงษ์ ยังได้กล่าวขอบคุณสมาคมชาวมุลิม จ.สงขลา ที่ได้บริจาคเงินสนับสนุนช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญา ถือว่าเป็นน้ำจิตน้ำใจของคนไทยที่มีต่อผู้ที่ตกระกำลำบาก โดยไทยจะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

ส่วนความเป็นไปได้ในการตั้งศูนย์ช่วยเหลือชาวโรฮิงญา นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะพูดไปแล้วว่ากลุ่มนี้เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จึงต้องดูว่าขั้นตอนในการดำเนินการตามกฎหมายต้องมีต่อไปอย่างไร หลังจากที่แยกกลุ่มแล้ว แต่ทุกอย่างจะต้องคุยกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ไทยดำเนินการ แม้แต่องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ก็จะเชิญมาด้วย เพื่อให้มีส่วนร่วมรู้เห็น ยืนยันว่าจะทำเต็มที่

เมื่อถามย้ำว่า ไทยจะยังคงพิจารณาส่งตัวชาวโรฮิงญาไปยังประเทศอื่นหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ทางสมช.และกระทรวงฯ เห็นว่าเป็นการเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แต่จะส่งกลับหรือไม่ ต้องมาพิจารณาก่อนว่าออกมาจากประเทศต้นทางด้วยสาเหตุใด เพราะมีขั้นตอนทางกฎหมายอยู่ เป็นเรื่องที่ไทยปฏิบัติมาโดยตลอด

“ขอให้สบายใจ เพราะว่าไทยจะทำอะไรก็จะคำนึงถึงสังคมโลก เพราะไม่อยากให้ใครเข้าใจผิด จะทำทุกอย่างด้วยความยุติธรรมและรอบคอบ” นายสุรพงษ์ กล่าว