posttoday

10เหตุการณ์ร้อนรอบปี

31 ธันวาคม 2555

รอบปี 2555 ต้องยอมรับว่ามีเหตุการณ์สำคัญมากมายทั้งในสภาและนอกสภา "โพสต์ทูเดย์" รวบรวม 10 เหตุการณ์เด่นทางการเมือง นำเสนอดังนี้

รอบปี 2555 ต้องยอมรับว่ามีเหตุการณ์สำคัญมากมายทั้งในสภาและนอกสภา "โพสต์ทูเดย์" รวบรวม 10 เหตุการณ์เด่นทางการเมือง นำเสนอดังนี้

10เหตุการณ์ร้อนรอบปี

1.ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทำพิษสภาป่วน
        
 ถือเป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหญ่ที่สุด เมื่อพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และสส.พรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ทันทีที่ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมวันที่ 30-31 พ.ค. สส.พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านเต็มที่ถึงขั้นขว้างเอกสารใส่ประธานสภา แต่สุดท้ายพรรคเพื่อไทยใช้เสียงข้างมากให้เลื่อนกฎหมายมาพิจารณาก่อนได้สำเร็จแต่ถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่กล้าเดินหน้า
        
 2.แก้รัฐธรรมนูญ 2550 ติดหล่ม
         
พรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แต่กระบวนการทั้งหมดต้องมาสะดุดในขั้นตอนการเตรียมลงมติวาระ 3 ช่วงเดือน มิ.ย. เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ 68 หรือไม่ ต่อมาศาลได้ยกคำร้องและเสนอให้ทำประชามติก่อนหรือแก้ไขเป็นรายมาตรา เหตุการณ์ยังดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี เมื่อรัฐบาลตัดสินใจให้ทำประชามติ ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 สร้างความขัดแย้งดำรงอยู่ต่อไป

10เหตุการณ์ร้อนรอบปี

3.คลิปเสียงขุนค้อนสะเทือน 'เพื่อไทย'
        
 สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร คงไม่คาดว่าคำพูดที่ตัวเองพูดในงานเลี้ยงที่ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่27 มิ.ย. เกือบถูกพรรคเพื่อไทยปลดจากประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเนื่องจากเนื้อหาที่ระบุในทำนองว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โทรมาหาหลายครั้งระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ได้กลายเป็นกุญแจไขปริศนาให้สังคมได้รับรู้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเกี่ยวข้องแบบเต็มๆ
        
4.ซักฟอกจำนำข้าวหมัดเด็ดฝ่ายค้าน
         
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์เป็นปรากฏการณ์สำคัญ โดยทีเด็ดที่ฝ่ายค้านแสดงออกมาและเขย่ารัฐบาลได้อย่างเหลือเชื่อคือ การชำแหละโครงการรับจำนำข้าว โดยมีคนในพรรคเพื่อไทยเกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากล ส่งผลให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องไว้ไต่สวน

10เหตุการณ์ร้อนรอบปี

5.องค์การพิทักษ์สยามถอยทัพล้มรัฐบาล
         
ปลายปี 2555 รัฐบาลต้องเผชิญแรงเสียดทานจากมวลชนฝ่ายต่อต้านในนาม "องค์การพิทักษ์สยาม" นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย การประกาศชุมนุมล้มรัฐบาล แต่การเคลื่อนไหวก็ต้องยุติลงเพียงแค่การนัดชุมนุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่24 พ.ย. ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ทำให้ เสธ.อ้าย ประกาศขอถอนตัวในเวลาต่อมา
         
6.คอป.เปิดโปงชายชุดดำสะท้าน 'เสื้อแดง'
         
คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธานเปิดแถลงผลการตรวจสอบเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างมาก เมื่อรายงานคอป.ระบุชัดว่าขบวนการชายชุดดำเมื่อปี2553 มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเสื้อแดงส่งผลให้ขบวนการเสื้อแดงต้องเสียรังวัด
         
7.มาตรา 112 จากวิวาทะสู่การปะทะ
         
ประมวลกฎหมายมาตรา 112 ว่าด้วยความผิดในการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ถูกหยิบมาเป็นประเด็นสาธารณะของสังคมไทยตลอดทั้งปี และยิ่งเกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตของ อำพล ตั้งนพคุณ หรืออากง ผู้ต้องหาคดี 112 ทำให้เกิดการเรียกร้องจากอีกฝ่ายเพื่อให้แก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำคณะนิติราษฎร์ ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านถึงกับมีการทำร้ายร่างกายนักวิชาการรายนี้

10เหตุการณ์ร้อนรอบปี

         
8.เด้ง 'ปลัดกลาโหม'เขย่ากองทัพ
         
คำสั่งเด้ง "พล.อ.เสถียรเพิ่มทองอินทร์" จากปลัดกระทรวงกลาโหม มาช่วยราชการสำนักงาน รมว.กลาโหม ของ พล.อ.อ.สุกำพลสุวรรณทัต สร้างรอยปริระหว่างกองทัพกับรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ เพราะถือเป็นการเข้ามาจัดระเบียบกองทัพอย่างที่ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าทำมาก่อน แม้ว่า พล.อ.เสถียร จะพยายามฟ้องศาลปกครอง แต่ก็ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ได้รับเรื่องไว้ไต่สวนแล้ว
         
9.สหรัฐขอใช้อู่ตะเภาปมร้อนอาเซียน
         
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) แสดงความจำนงต้องการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของไทยเข้ามาเป็นฐานสำรวจสภาพเมฆในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงต้าน แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลไทยก็ไม่กล้าอนุมัติเพราะกลัวจะสร้างความอ่อนไหวในภูมิภาค และจะกระเทือนความสัมพันธ์กับประเทศจีน รวมไปถึงหมิ่นเหม่ต่อการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 190
         
10.สองผู้นำโลกเยือนไทยกระชับสัมพันธ์
         
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มีโอกาสต้อนรับสองผู้นำจากประเทศมหาอำนาจ ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศแรกที่ บารัก โอบามา เดินทางมาเยือนหลังจากเป็นผู้นำสหรัฐสมัยที่ 2 ถัดมาภายในเดือนเดียวกัน เวินเจียเป่านายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งใกล้จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งเป็นแขกของรัฐบาลเช่นกัน