posttoday

ชูโมเดลประชามติเสียง2ใน3ชี้ชะตารธน.

13 ธันวาคม 2555

"ไชยันต์"เสนอใช้โมเดลลงประชามติ ยึดเสียง 2 ใน 3 ชี้ขาดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุ"พลังเงียบ"ตัวแปรสำคัญ

"ไชยันต์"เสนอใช้โมเดลลงประชามติ ยึดเสียง 2 ใน 3 ชี้ขาดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุ"พลังเงียบ"ตัวแปรสำคัญ

เกมแก้รัฐธรรมนูญเริ่มพลิก หลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจหันหัวเรือรัฐบาลไปพึ่งเสียง “ประชามติ”ก่อนเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 พร้อมกับที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนำโดย ‘โภคิน พลกุล’มีมติรับลูกรัฐบาลโดยเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดให้มีการการออกเสียงประชามติได้ก่อนโหวตวาระ 3 โดยใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 165  

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 165 เป็นเพียงกรอบโดยกว้างเท่านั้น แต่หากพิจารณาตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้ในการจัดทำประชามติกำหนดไว้ชัดเจนว่า “...การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”

ตีความว่าได้ว่า “ประชามติ” ต้องเดินเกม 2 ขยัก ขยักแรก คือ ต้องให้ผู้มีสิทธิทั้งประเทศออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง และขยัก 2 คือ ในจำนวนกึ่งหนึ่งนี้เองต้องมีผู้ออกเสียงเห็นด้วยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้

ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ปรากฏการณ์ “หืดขึ้นคอ” ของพรรคเพื่อไทยว่าจะเจองานหินตรง “ขยักแรก” ที่ต้องให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งคือ 23 ล้านคนจากจำนวน 46 ล้านคนของผู้มีสิทธิทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามเห็นว่าไม่ควรมองตัวเลข 46 ล้านคน แต่ควรยึดตามจำนวนผู้ที่เคยออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.ปี 54 ที่พบว่ามีผู้มาใช้สิทธิจำนวน 35 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้นในจำนวน 46 ล้านจึงเท่ากับหายไปแล้ว 11 ล้านเสียง

จุดนี้เอง ไชยันต์ มองว่า หากทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งอยู่ถึง 11 ล้านเสียงผนึกกำลังกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสีและสารพัดศัตรูของรัฐบาลปลุกประชาชนไม่ให้มาออกเสียงประชามติ ยอดของขยักแรกที่ต้องใช้ 23 ล้านเสียงอาจเป็นเรื่องยากของพรรคเพื่อไทยที่มีฐานเสียงสนับสนุนเพียง 15 ล้านเสียงเท่านั้น

“ต่อให้รวมกับเสียงกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกล้านกว่าเสียงก็ยังถือว่าสำเร็จยาก ดังนั้นกลุ่ม “พลังเงียบ” ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่รวมถึงคนที่ไม่สนใจการเมืองเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นรัฐบาลจะใช้เวลาก่อนทำประชามติรณรงค์ให้พลังเงียบกลุ่มนี้เห็นความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางของรัฐบาลได้อย่างไรเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง”

อย่างไรก็ตาม ไชยันต์ ชี้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระสำคัญของชาติ และเป็นวิกฤตความขัดแย้งฝังรากลึกในสังคมทุกระดับ เขาจึงเสนอโมเดลใหม่ภายใต้หลักการที่เห็นว่าในเมื่อเป็น “เรื่องพิเศษ” ก็ต้องใช้ “เสียงพิเศษ”

“ผมเสนอให้ลงประชามติโดยยึดเสียง 2 ใน 3 ของประชาชนเป็นตัวตัดสินว่าจะตัดสินใจเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เพราะเสียงเกินกึ่งหนึ่งไม่เพียงพอการชี้ขาดเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หากใช้เกณฑ์ 2 ใน 3 จะได้ไม่เกิดปรากฏการณ์เหมือนการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ถูกโจมตีว่าชนะเพียงเฉียดฉิว และถึงแม้จะชนะ แต่ยังมีเสียงข้างน้อยอีกจำนวนมากที่ยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้อยู่ใต้เงาเผด็จการ”นักวิชาการจุฬาฯ ระบุ

ไชยันต์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า หากใช้เกณฑ์ข้างต้นก็จำเป็นต้องมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมเนื้อหาใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้ยึดจำนวนเสียง 2 ใน 3 ของผู้ออกมาใช้สิทธิโดยอาจกำหนดให้เป็นเกณฑ์ที่ใช้เฉพาะการลงมติต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้เจ้าตัวคาดการณ์ว่าหากใช้เกณฑ์ใหม่ที่ว่าโดยยึดตามตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35 ล้านคนเมื่อปี 54พรรคเพื่อไทยจะต้องได้เสียงสนับสนุนประมาณ 23 ล้านเสียง (2 ใน3 ของ 35 ล้านคน) เพื่อเห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

โมเดลนี้ “เขา” วิเคราะห์ว่า เป็นปรากฏการณ์สุดหินไม่ต่างจากเกณฑ์เดิมที่ต้องระดมคนถึงเป้า 23 ล้านเสียงให้ออกมาใช้สิทธิในขยักแรก แต่เจ้าตัวยืนยันว่าถึงแม้จะเหนื่อยพอกันแต่ผลที่ได้รับจะได้รับความชอบธรรมมากกว่า เพราะได้เสียงประชาชนถึง 2 ใน 3 ที่เห็นด้วยกับการเลิกใช้รัฐธรรมนูญ 50 ฉบับและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล