posttoday

คำต่อคำรัฐบาลเจรจาเสื้อแดง

28 มีนาคม 2553

หมายเหตุ : เนื้อหาในการเจรจาร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมประขาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งขาติ (นปช.) ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชขาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ นายวีระ มุกสิพงษ์ ประธานนปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

หมายเหตุ : เนื้อหาในการเจรจาร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมประขาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งขาติ (นปช.) ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชขาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ นายวีระ มุกสิพงษ์ ประธานนปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

วีระ : การที่ท่านนายกฯได้ให้โอกาสให้เวลามาในวันนี้ ต้องขอบคุณเพราะเชื่อว่าสิ่งที่จะคุยกันจะเป็นทางออกที่ดี ท่านก็ทราบแล้วว่าเราก็มีแถลงการณ์เรียกร้องก็ง่ายๆ ตรงไปตรงมา คืออยากให้มีการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนได้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้มีอคติอะไรมาก ไม่มีจิตใจที่ต้องการทำลายอะไร แต่เห็นว่ามันแก้ปัญหาได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือว่าข้อขัดข้องระหว่างพวกเรามันไปอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัญหา ทำให้ไม่สบายใจตลอดมา ทีนี้รัฐธรรมนูญก็ไม่จบสักทีว่าจะเอากันอย่างไร จะแก้กันแบบไหน หรือว่าจะทำประชามติหรือไม่ เรื่องที่ 2 คือเรื่องของการทำงานของคณะรัฐบาล ซึ่งก็มาในภาวะที่ประเทศมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่มากมาย ท่านก็เหน็ดเหนื่อย แต่ก็ไม่อาจฝ่าฝากหนามของปัญหาทั้งมวลได้ ทั้งในและนอกประเทศก็เป็นปัญหาที่ประชาชนกลุ้มใจ ก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดี ก็เลยเสนอทางนี้มา มันก็ได้ทั้ง 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง ก็ไปถามชาวบ้านเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยวิธีการเลือกตั้งกับเรื่องที่สอง กับเรื่องของการแก้ไขปัญหา

อภิสิทธิ์ : ยืนยันตั้งแต่ต้นว่าต้องการให้ประเทศไทยชนะ ไม่ใช่เป็นชัยชนะของฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด  จะเห็นว่าตลอดเวลาที่มีการชุมนุม ก็จะยืนยันตลอดว่า เราไม่ใช่ศัตรูกัน แต่ว่าความคิดเห็นทางการเมือง มีความแตกต่างหลากหลาย หลายคนรู้สึกสะท้อนใจว่าไม่เคยมียุคใด ที่ความแตกต่างทางการเมือง มันแสดงออกในลักษณะที่แรงมากขึ้นๆ ก็ 13-14 วันรัฐบาลพยายามทุกวิถีทางในการบริหารสถานการณ์ไม่ให้มีเหตุที่จะทำให้ทุกคนต้องเสียใจตภายหลัง วันนี้ก็ต้อง ขอบคุณที่เราอยู่ตรงนี้ แทนที่จะเห็นประชาชนเจ้าหน้าที่รัฐ เผชิญหน้ากันอยู่บนความเครียดของคนทั้งประเทศ

ข้อเสนอของการยุบสภา ว่าตามจริง ผมไม่เคยเป็นคนที่ปฏิเสธเรื่องนี้ แม้แต่วันแรกที่มารับตำแหน่ง ผมคงเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเหตุ เรื่องผลหลายอย่าง แต่ผมก็ถือว่าการยุบสภา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระบบ แต่ว่ามันก็มีคำถามเท่านั้นเองว่า การยุบสภา เราต้องการที่จะทำอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ผมคิดว่าวันนี้ สิ่งที่มันแสดงออกมาจากความขัดแย้ง มันนับยาก ว่าจะเริ่มจากจุดไหน ผมไม่ได้คิดว่า มันเริ่มเพราะว่ามาเป็นนายกฯ ไม่ได้คิดมันเริ่มเพราะมีการปฏิวัติ รัฐประหาร ผมคิดว่ามันยาวไกลไปกว่านั้น หลายเรื่องที่สะสมกันมา ในเรื่องโครงสร้าง เรื่องตัวบุคคล ปัญหาก็ลุกลามมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องที่ผมได้พูดมาตลอดเรื่องการยุบสภา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุดก็คือ ถ้าเราคิดว่ามันเป็นทางออก ทุกคนชนะ ประเทศสงบสุขผมก็นึกไม่ออกว่าใครจะค้าน แต่ถ้าคิดว่าเริ่มคุยกัน เราก็จะเริ่มเห็นประเด็นต่างที่เราจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจพูดคุยกันก่อนว่าตกลงการยุบสภามันเป็นคำตอบเหมือนกับดีดนิ้วแล้ว(ทำท่าดีดนิ้วประกอบ)จบ ชนะ จริงหรือไม่ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สอง พี่วีระบอกว่า ท่านทั้ง 3  มาในฐานะตัวแทนเสื้อเดง แต่ผมไม่ได้มาในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ผมมาในฐานะนายกรัฐมนตรี พอมาในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็กินความมากกว่าหัวหน้าพรรคการเมือง อย่างน้อยรัฐบาลผมก็เป็นรัฐบาลผสม  บังเอิญระบุว่าให้มา 3 คนได้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค คนเท่าที่ตามตัวได้เวลาสั้น ทุกพรรคสนับสนุนกระบวนการที่เราคุยกัน ทุกคนจะได้สบายใจ ไม่ใช่ว่าเดินออกไป คุยอะไรกัน ไม่สนับสนุน แต่ว่าเราก็ต้องฟังความเห็นของเขาด้วย ซึ่งก็มีข้อคิดความอ่านเกี่ยวกับเรื่องการยุบสภาแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ 

ผมต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของคนทั้งประเทศ รวมทั้งคนเสื้อแดงด้วย โดยผมพูดเสมอว่าไม่ว่าคนเสื้อแดงจะยอมรับผม หรือไม่ยอมรับ ก็ถือว่าต้องทำหน้าที่ให้กับเขา ความคิดเห็นหลากหลาย ผมเขื่ว่ามีหลายคนที่บอกว่าเขาไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐบาล และก็ไม่ใช่ผู้สนับสนุนคนเสื้อแดง เขาก็มีสิทธิ์มีเสียงของเขา ดีไม่ดี กลุ่มคนนี้อาจจะเป็นกลุ่มคนที่เยอะที่สุดก็ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเราตั้งต้นบนความตั้งใจร่วมกันว่า การยุบสภามันแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้จริงหรือ หรือถ้าจะยุบสภาแล้วแก้ได้ มันมีอะไรบ้าง ที่เราต้องตกลงทำความใจหรือทำ เพื่อให้เดินไปได้

วีระ :  อยากชวนนายกฯนิดเดียวว่า ปัญหาของบ้านเมืองเริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจ 19 ก.ย.2549 ที่น่าจะตรงกันได้ คือพวกผมมีความเห็นว่า บ้านเมืองต้องมีปัญหามาทุกยุคสมัย แต่ถ้ามีปัญหาเราแก้โดยวิธีที่มีบทบัญญัติกฎหมาย บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็จะแก้ปัญหาได้  แต่เมื่อมีการยึดอำนาจ ต้องถือว่าเป็นวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ เป็นวิธีการที่นอกระเบียบวิธีการปกครอง มันก็เลยเริ่มต้นความถูกต้อง ความแตกแยก แล้วก็คณะยึดอำนาจก็ได้ทำกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นตัวอย่างที่ดี ใช้มาจนถึงบัดนี้ เราก็รู้พิษสงแล้วว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินหลายข้อ นี่ก็ตัวปมปัญหาของประเทศที่ทำให้คนออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองกันมากมาย

ผมไม่แน่ใจว่าท่านนายกฯจะรับหรือไม่ถ้าจะกล่าวว่า พวกเราต่างเป็นเหยื่อของสถานการณ์การยึดอำนาจ หมายความว่าพวกผมไม่ควรจะมาอยู่บนถนนหรอก พวกผมควรจะได้ใช้ระบบรัฐสภา แบบที่ประเทศเจริญแล้วเขาทำกัน แต่เราก็ต้องบอกว่าต่อสู้กัน  นายกฯมาเป็นนายกฯก็ไม่ควรจะมีใครต่อต้าน ตรงกันข้ามผมควรจะได้สนับสนุนท่านด้วยซ้ำไป เพราะว่าท่านก็อยู่ในสายตาที่ว่าอนาคตบ้านเมืองก็หนีไม่พ้นที่ท่านจะต้องรับผิดชอบ ก่อนหน้านี้เราก็เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญกัน มันก็แก้ไม่ได้ เพราะว่าเวลามันนานมาจนกระทั่งบัดนี้ และไม่มีแนวโน้มว่าจะแก้ได้สำเร็จ  ฝ่ายที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญก็นอกจากพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคของท่านเอง ก็ยังมีกลุ่มข้างนอกที่บอกว่าแตะรัฐธรรมนูญนี้ตลอดเวลาก็เป็นเหตุให้มีการแก้ล่าช้ามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ชวนบอกว่า ขอประชามติว่าประชาชนจะให้แก้หรือไม่ให้แก้ ประชามติก็ไม่เดินหน้าเหมือนกัน การแก้ไขจากรัฐสภาก็ไม่เดินหน้า เราก็เลยมีความเห็นว่าการยุบสภามันเท่ากับการยุบสภา มันเท่ากับการขอประชามติ

ยุบสภาก็ไปเลือกตั้งกัน เลือกตั้งแต่ละพรรคก็ต้องไปเสนอนโยบายบอกกับประชาชน ถ้าเลือกพรรคไหนแก้ ไม่แก้ก็ว่ากันไป ให้ชัดเจนอย่างนี้ในเรื่องหลักการปกครองประเทศ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็หลากหลายก็ว่ากันไป ต่างคนต่างเสนอได้ ว่าจะแก้กันอย่างไร ถึงตรงนั้นก็คิดว่ามันก็เท่ากับไปลงคะแนนเลือกรัฐบาล เลือกสภา แล้วก็เลือกรัฐธรรมนูญไปในตัว และถ้าใครเสนอว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็แก้ไข ส่วนพวกที่ว่าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องแก้

ตอนนี้ก็จะมีปัญหาว่าถ้าฝ่ายไม่แก้รัฐธรรมนูญชนะ แล้วจะยุติได้หรือไม่ ในส่วนนี้ผมก็กราบเรียนนายกฯว่าผมสามารถรับประกันได้ในส่วนของคนเสื้อแดงว่าผลลัพธ์ออกมาแล้ว ต้องยอมรับผลลัพธ์นั้น แล้วยุติการต่อต้าน การเคลื่อนไหว ในลักษณะที่จะทำให้รัฐบาลลำบากใจ ฝ่ายนี้ผมรับประกันได้ และถ้าเห็นว่าปัญหาประเทศในขณะนี้อยู่ที่กลุ่มนี้ กลุ่มนี้รับเงื่อนไขข้อนี้แล้ว แต่ว่าถ้ามันจะมีบ้างก็ต้องพูดจาต่อไป หมายความว่าคนพวกนั้นแพ้แล้วไม่ยอมรับแพ้

อันนี้มันก็นอกเหนืออำนาจพวกผม แต่พวกผมรับประกันได้ แพ้แล้วรับ ถามว่าทำไมต้องจบ เพราะสิ่งที่เราเรียกร้องต้องการคือขอประชามติ เมื่อได้ประชามติอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ ถ้าไม่แก้ก็ไม่แก้ไข จะทนอยู่กันไปอย่างนี้ก็ไม่เป็นไร ก็ว่ากันไป หลักประกันส่วนนี้มันตอบโจทย์ว่ายุบสภาแล้ว บ้านเมืองจะเดินไปได้ดี จริงหรือไม่ ส่วนทางอื่นมองไม่เห็นว่าจะสงบลงได้อย่างไรถ้าเดินไปแบบนี้รอยแตกแยกมันถ่างออกเสื้อแดงก็ยิ่งโตขึ้นๆ มันน่าห่วงใย ถ้าฝ่ายเสื้อแดงรับประกันข้อนี้ ว่าแพ้ชนะก็ยุติกัน มันเท่ากับได้ประชามติ  ใครเคลื่อนไหวก็เรียกว่าไม่มีเหตุผล มวลชนทั้งประเทศก็จะเห็นว่าขาดเหตุผลที่จะเคลื่อนไหว อันนี้ผมคิดว่าน่าจะทำให้สบายใจ รัฐบาลมาใหม่ก็จะได้เดินสบายเสียที ถ้านายกฯมาอีกรอบนั้นผมก็จะได้สบายใจที่ว่าเราพูดได้ว่ามาด้วยวิธีที่เราสนับสนุน

อภิสิทธิ์ : ถ้ายุบสภาและประชามติรัฐธรรมนูญไปด้วย คงไม่ค่อยตรง เพราะเวลาไปหาเสียง ผู้แทนฯจะหาเสียงเรื่องเรียนฟรี ล้างหนี้ เอาคอมพิวเตอร์ไปคนละเครื่อง เขาอาจจะเลือกเพราะนโยบายอย่างนี้ แต่เขาอาจใม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งถ้ามีการเลือกตั้งแล้วใช้กติกาเหมือนครั้งที่แล้วก็มีปัญหาอีก และถ้าหาเสียงเอาคลิปตัดต่อของตนไปเปิด มีการร้องเรียนว่ามีการใส่ร้ายป้ายสีตน แล้วทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) วินิจฉัยว่า ผิดมีฝ่ายบริหารไปพูด ก็จะมีการยุบพรรคอีก และวนกลับมาเหมือนเดิมอีกหรือไม่

ที่พี่วีระบอกผลออกมาอย่างไรยอมรับ ถ้าพรรคหนึ่งชนะ ต่อมากลายเป็นพรรคแพ้ จะยอมรับหรือไม่ คนชนะก็มีสิทธิตั้งรัฐบาล เกิดจับแพ้ฟาวล์จะยอมรับหรือไม่ เพราะกติกาเขียนอย่างนั้น อีกทั้ง ณ เวลาที่เราคุยกันหลายฝ่ายบอกว่าจะไปผูกมัดเขาได้หรือไม่ ฝ่ายตนเป็นพรรคการเมืองไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาล แต่ถ้าบางคนบอกว่ายอมรับไม่ได้ ถ้ายุบสภาไป ปรากฎว่าผลออกมาทางหนึ่งทางใด บางฝ่ายไม่ยอมรับ และมีปัญหาแบบนี้อีก เราก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประเทศ เราจะเชิญเขามาหารือด้วยหรือไม่  เอามาคุยอีก 3 คนก็ได้จะได้เป็นคำตอบถาวร สุดท้ายเขาจะมาตำหนิเราว่า เจรจากันเพียงเพื่อประโยชน์ว่ารัฐบาลแก้ปัญหาตัวเองไป

สุดท้ายปัญหาประเทศก็ไม่ได้แก้ คิดว่าที่อยากได้ กติกาเป็นประชาธิปไตย ปัญหาคือ ประเด็นแรกเลยรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข สงสัยถ้ายุบสภาวันนี้จะวนกลับไปเหมือนในอดีตหรือไม่ เพราะฝ่ายต่าง ๆ มีความเห็นหลากหลาย ถ้าบอกว่าเลือกตั้งผลออกมาอย่างไรยอมรับ ฝ่ายหนึ่งอาจจะบอกว่า รัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามาติมาแล้ว เราจะตอบเขาอย่างไร ไม่ใช่รัฐบาลไม่พยายามจะแก้ไข ตนไม่ปฏิเสธการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ แต่เคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีมติให้แก้ไข 6 ประเด็นซึ่งเป็นความเห็นพ้องทุกฝ่าย และได้มีการนัดวิป 3 ฝ่ายมาหารือกัน และมีการนัดแนะกันแต่พออดีตนายกฯ บอกไม่เอา การนัดวิป 3 ฝ่ายก็เลิกไปเลย ทั้ง ๆ ที่ตกลงกันแล้ว ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเรียนรู้จากอดีต และมีองค์กรเป็นที่ยอมับ  

จตุพร : สภาฯชุดนี้ไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ประเด็นที่บอกว่า อดีตนายกฯ โทรศัพท์มาแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงวิป 3 ฝ่ายนั้นไม่ใช่ ในฐานะ ส.ส. ตนไม่เชื่อจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ๆ  ลำพังเสียงของรัฐบาลและส.ว.น่าจะผ่านพ้นไปได้ นายกฯก็เป็นเสียงข้างมาก 80 เสียงใน ปชป.ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สถานการณ์มาถึงจุดนี้ไม่รู้นายกฯจะบริหารประเทศอย่างไร วันนี้ตั้งใจมาพูดเรื่องเดียวคือจะยุบสภา และเป็นสิทธินายกฯจะไม่ยุบสภา แต่ถ้าบ้านเมืองบรรยากาศแบบนี้ก็ไปไม่ได้ นายกฯบอกเองว่าถ้ายุบสภาเลือกตั้งใหม่จะได้ 240 เสียง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าจะได้ 280 เสียง จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ถ้ามั่นใจได้ 240 เสียงหรือ 280 เสียง ก็ให้คืนอำนาจให้ประชาชน หลังจากนั้นจะกลับมาป็นนายกฯ อีกก็ไม่เป็นไร

ถ้ามั่นใจยังเป็นรัฐบาลอยู่ ถ้าทุกคนเห็นท่านถูกจะกลับมาสง่างามถ้าไม่ยุบจะหาความสงบสุขไม่ได้เลย  สถานการณ์ก็ยิ่งตึงเครียด ส่วนเรื่องคลิปเสียงถ้านำไปหาเสียง ก็ให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินใจ การยุบพรรคก็ให้เป็นไปตามขั้นตอน ถ้าพวกตนแพ้เลือกตั้งแสดงว่าว่าประชาชนพึงพอใจเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 50 และที่มาของท่าน

นพ. เหวง : สิ่งที่นายกฯ พูดมาทุกเรื่องดูเลิศหรูไปหมด เปลือกเขียวแต่แก่นแท้ไม่เป็นประชาธิปไตย เราต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อำนาจของปวงชนต้องเป็นของประชาชนโดยสมบูรณ์ เหตุการณ์ 19 ก.ย. 2549 ได้เปลี่ยนโครงสร้างประเทศไทยใหม่ หุ้มด้วยประชาธิปไตยข้างนอก แต่แก่นแท้ของรัฐไทยไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นอำมาตยธิปไตย  ต้องยอมรับว่าประเทศไทยตอนนี้มีระบบความคิด 2 ชุด นับวันจะแตกร้าวห่างกันออกไป หนำซ้ำยังมีการเหยียบย่ำกฎหมาย เช่น กรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ไม่ทำหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น  ปล่อยให้อำมาตย์อุ้มสมนายกฯ การทำประชามติรัฐธรรมนูญในเวลานั้น บรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก 46 จังหวัด และท่านเคยบอกว่าให้รับรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง แต่ผ่านมาปีกว่า ท่านมีโอกาสแก้แต่ท่านก็ไม่ทำ ดังนั้นไม่มีทางอื่น ต้องยุบสภาเท่านั้น เพราะว่าเราเชื่อว่ารัฐสภาชุดนี้คงไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

อภิสิทธิ์ :  ซึ่งที่จริงพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กับนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีความเข้าใจที่ดีต่อกัน ผมเคยสอบถามว่าถ้ามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะต้องทำอย่างไร  ตอนที่นายสมัครประกาศแล้วแต่ทหารไม่มา ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์ชี้แจงว่ายังมีความสับสนว่าหากประกาศไปแล้วใครจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ  ส่วนสมัยนายกฯสมชาย ก็เลือกไว้ใจตำรวจแทน  ส่วนงบทหารนั้นสมัยรัฐบาลนายสมัครก็เพิ่ม และรัฐบาลผมก็เพิ่ม ถ้าไปดูข้อเท็จจริงก็เป็นเรื่องของเหตุและผล ส่วนหากเกิดความไม่โปรงใสก็ตรวจสอบกันได้ และจากการฟัง พ.ต.ท.ทักษิณ วิดิโอลิงค์ก็บอกถ้ากลับมาก็จะเพิ่มเหมือนกัน 

ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมาย กอ.รมน. ยุคใหม่  หลายท่านไม่อยากให้ใช้พ.ร.ก. บริหารราชการฯ เพราะเกรงจะทำให้ภาพดูไม่เหมาะสม แต่วันนี้ทหารอยู่ในวัด ในโรงเรียน ทำเนียบหรือรัฐสภาเพราะไปดูแลความปลอดภัย เพื่อให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติทำงานได้  ทั้งนี้ท่านอาจจะไม่ได้พูด แต่มีแกนนำคนหนึ่งที่ไปพูดว่าถ้านายอภิสิทธิ์ไปที่ไหนให้จับได้เลย ล่าสุดก็ให้บุกเข้าไปหากมีการประชุม ครม.ในทำเนียบรัฐบาล หลายเรื่องที่เราทำกันอยู่ในประเทศอังกฤษถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากก็ยังไม่ทำกัน ดังนั้นแก่นจริงๆ คงต้องถกกันยาว จะมาบอกว่าตรงนี้เผด็จการณ์หรือเป็นประชาธิปไตยก็คงไม่จบ

อภิสิทธิ์ : ส่วนการจะยุบหรือไม่ยุบสภา  เดินต่อหรือไม่เดินต่อนั้น บางภาคบางจังหวัดตนไปได้หรือไม่ได้นั้น ตรงนี้ก็วัดความเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.มหาดไทย  เดินทางไปกระบี่แล้วถูกบางกลุ่มปิดล้อม  ผมเป็นคนแรกที่ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ควรทำ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย เห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่เป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ตามวิธีทางประชาธิปไตย ตนไปเจอพี่น้องเสื้อแดงหลายคน โกรธตนคิดว่าตนเป็นฆาตกรเชื่อเรื่องคลิปเสียง ที่มีคนนำไปเผยแพร่ บางคนโทรมาหาตน บอกได้เลยว่าถ้ามีนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งสั่งฆ่าประชาชนตนก็ต่อต้าน แต่ถ้ายุบสภาพรุ่งนี้ ท่านตอบได้ว่าคนจะคลายอารมณ์ มันไม่ใช่

ตนเป็นนายกรัฐมนตรีไปสั่งให้คนคลายอารมณ์ไม่ได้  ต้องใช้เวลาในการคลายอารมณ์และมาทำกติการ่วมกัน ถ้าอยากทำเพื่อบ้านเมือง เราต้องมาดูว่านอกจากแนวทางนี้จะทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับกัน  มาทำบรรยากาศบ้านเมืองเสียก่อน ถ้าคิดว่ามีความไม่เป็นธรรม แก้รัฐธรรมนูญ หรือคิดว่ารัฐบาลนี้ไม่ควรอยู่ในวาระ จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเป็นหนึ่งดียวกันก่อน คลายอารมณ์กันก่อน เพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อย

บางคนก็รับไม่ได้กับฝ่ายที่แสดงออกอย่างรุนแรงก็มี  บางทีบางคนก็เก็บความใม่พอใจไว้ข้างใน  ใช้เวลากันสักนิด เพื่อให้เกิดความถาวร ถ้ายุบสภาและยังอยู่ในบรรยากาศอย่างนี้จะเกิดเสื้อสีอะไรขึ้นมาอีกก็ไม่รู้  มีประเทศไหนบ้างที่ยอมรับการขู่  แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง เขาก็ไม่ยอมรับกัน วันนี้มาฟังแล้วยอมรับเหตุผลของท่าน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเป็นตัวแทนหลายฝ่าย จากนั้นเชิญหลายฝายมาร่วมด้วย อย่าเอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นใหญ่

ขอบอกนายจตุพรว่า มานั่งอย่างนี้แล้วประชาชนจะเสียโอกาสกันมาก ถ้าต้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ตนคิดว่าเราต้องใช้เวลา ตามที่นายวีระบอกตั้งแต่ตอนทักทายกันว่ารอบแรกน่าจะได้เท่านั้นเท่านี้  ดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะมีรอบสอง สาม และสี่ต่อไป ตนคิดว่าเรามีเวลาและท่านไม่ต้องห่วง ท่านจะชุมนุมหรือไม่ชุมนุมก็แล้วแต่  ทั้งนี้อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนตนก็ไม่ทำ ถ้าเราพยายามขีดเส้นตายหรือเส้นแบ่งมันยังไม่จบ เพราะว่าถ้าเลือกทางใดทางหนึ่งก็จะมีคนไม่เห็นด้วย   ตนคิดว่าคนทั้งประเทศอยู่คงไม่หวังให้ยื่นคำขาดอะไร

จตุพร : เราไม่ได้มายื่นคำขาด แต่ข้อเรียกร้องคือให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน  ข้อเรียกร้องของบตนคือยุบสภาข้อเดียว ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณ และพ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่าไม่ให้เอาเรื่องของท่านมาเจรจา  และถ้าท่านไม่ยุบพวกตนก็ต้องต่อสู้กันต่อไป แต่ขอให้สบายใจได้ว่าพวกตนจะไม่ไปยึดสถานที่ราชการ เราชิงชังอะไรเราก็รังเกียจไปด้วยและจะไม่ทำเช่นนั้น  วันนี้ทหารของท่านก็มากขึ้นเรื่อยๆ  พวกตนประกาศแนวทางสันติวิธีชัดเจน การดำเนินการทั้งหมดไม่รู้จะมีจุดจบเมื่อไร การอยู่ของท่านยิ่งสร้างบาดแผลลึกขึ้นเรื่อยๆ  ตนขอข้อสรุปว่าท่านจะยุบสภาหรือไม่ พี่น้องจะได้ชัดเจนในเรื่องนี้

อภิสิทธิ์ : เรื่องการยุบสภา ที่ผ่านมาเพราะเราไม่คุยกัน วันนี้เมื่อเราคุยกันแล้ว ยังไม่เคยพูดเลยว่าจะอยู่ครบวาระ ยังไม่เคยบอกว่าไม่ยุบสภาเด็ดขาด สมัยรัฐบาลนายสมัครเขาเรียกร้องให้สมัครลาออก เพราะกลัวรัฐบาลของท่านจะกลับเข้ามา จริงๆ แสนคนมาถ้าไม่มีเหตุผลก็ต้องชี้แจงกัน คนหนึ่งคนถ้ามีเหตุผลก็ต้องฟัง ตนก็แสดงความคิดว่าถ้านายสมัครลาออก ก็เท่ากับเป็นการจำนนต่อแรงกดดันนอกสภา และจะคิดว่าตนมีส่วนได้เสีย ตนก็เลยบอกว่าไม่ใช่ทางออกเวลานั้นตนจึงบอกยุบสภาเป็นทางออก

เรื่องยุบสภาจึงต้องย้ำอีกครั้งแต่เวลานี้เราต้องตอบคนทั้งประเทศไม่ใช่ตอบสนองความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันไม่นานเกินไปที่จะหาคำตอบตรงนี้ได้ แต่เราต้องดำเนินการให้บ้านเมืองกลับสู่บรรยากาศที่ดีถ้าผมไม่คิดจะตอบสนองเลย ผมไม่มานั่งคุยตรงนี้หรอก เพราะผมรู้ว่ามันมีช่องว่างที่เราต้องอุดให้ได้ กำหนดกรอบเวลาก็ได้ถ้าเรากลัวมันไม่จบไม่สิ้น ต้องมีกรอบเวลา เพื่อให้ระบบของเราเดินไปในทางที่ดี เราต้องคุยเรื่องรัฐธรรมนูญให้ขาด ว่าจะมีทางออกได้หรือไม่ที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งความจริงไม่ควรจะช้าเพราะศึกษากันมากี่รอบแล้ว วันนั้นถ้าท่านร่วมสังฆกรรมกับตนคงประชามติกันเสร็จไปแล้ว  อาจจะมีการวางกรอบ  3 เดือนก็ได้ วันนี้ที่ทหารเข้ามาเพ่นพ่านมาก ถ้าไม่มีการชุมนุมใหญ่ทหารก็ไม่ออกมามาก  ถ้ายุบสภาตอนนี้ นปช. อาจจะไม่ฮือ แต่กลุ่มอื่นอาจจะมาฮือก็ได้ ดังนั้นเราต้องสร้างบรรยากาศร่วมกันก่อน มาคุยกันต่อก็ได้ ตนก็จะได้ไปหารือพรรรคร่วม ส่วนท่านก็ไปคุยนปช. จะนัดกันใหม่พรุ่งนี้ก็ได้  ไปบรูไนเช้ากลับเย็นก็มาคุยต่อ

วีระ : การยุบสภาก่อนแล้วสร้างกติกากับทำกติกาก่อนแล้วค่อยยุบสภา เป็นข้อแตกต่างชัดเจน ปัญหาของเสื้อแดงคือรอคอยกติกามานานแล้วมันสิ้นหวัง ทั้งจากรัฐสภา และรัฐบาล จึงมีความเห็นว่ายุบสภาแล้วจึงมาทำกติกา 

อภิสิทธิ์ :  วันนี้เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ในสภาเราก็มี 6 ประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ตนว่าเรากำหนดตารางเวลาได้เลยถ้าอยากจะเดินต่อ  เพื่อการทำประชามติต่อไป   แต่การที่ตนมาเจรจาวันนี้อีกฝ่ายก็เตรียมเคลื่อนไหวแล้ว ตนขอบคุณถ้าลดการเผชิญหน้าที่ราบ 11 ได้ เราก็ทำได้ แล้วเราก็มาเจรจากันในวันนี้

จตุพร : สำหรับประเด็นรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่มีความเชื่อเลยว่าจะแก้ได้ พรรคร่วมเสนอมาท่านยังไม่รับเลย ประเด็นของตนคือพร้อมจะไปตายเอาดาบหน้า ตน ไม่เชื่อในความจริงใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น เรื่องกติกาจึงเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นก็ให้ไปตายเอาดาบหน้า เอาเสียงประชาชนเป็นที่ตั้ง ตนเรียนกับท่านว่า ท่านควรเป็นคนที่สง่างามเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทุกคนก็จะไม่ไปวอแวกับท่าน  ฟังแล้วท่านคงไม่ยุบสภาหรอก และสภาก็คงไม่มีแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น  กรณีคลิปเสียงถ้าท่านไม่สบายใจก็ให้ไปแจ้งความดำเนินคดี ใช้กระบวนการยุติธรรมไปวัดกัน ตนสรุปว่าถ้าท่านมั่นใจว่าเหตุผลในการดำรงอยู่เป็นนายกฯของท่านยังอยู่ได้ต่อไป บ้านเมืองดำรงอยู่ได้ก็เป็นต่อไป  แต่ถ้าท่านเห็นตรงกับพวกผมท่านถึงมาคุยกัน  ถ้าท่านมั่นใจว่าคุมประเทศในสภาพแบบนี้ได้ท่านก็ไม่ต้องยุบสภา

อภิสิทธิ์ : ไม่สนใจว่ายุบสภาแล้วจะแพ้หรือชนะ แต่สนใจว่าบ้านเมืองจะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เกรงจะเกิดความบาดหมางกัน  บ้านเมืองจะเดินไปไม่ได้ พวกเราที่นี่ถ้าจะทำให้มันสงบก็ทำได้ ถ้าตนมาหลอกลวงท่านตกลงกันแล้วไม่ทำอะไรเลย ใครก็อยู่ไม่ได้ ตนทราบว่ามาอย่างนี้แล้วต้องเปิดใจกว้างและมีความจริงใจ 

วันนี้ถ้าบอกว่ายังไงก็เดินไปด้วยกันไม่ได้ มันก็ยาก รัฐบาลมาแล้วเพื่อมาหาคำตอบร่วมกันของสังคม ไม่ใช่ให้สังคมไปตายเอาดาบหน้า ใครจะตายดาบหน้าไม่ได้ ตนต้องหาคำตอบให้สังคม เพราะเป็นความรับผิดชอบของตน 
ชำนิ : ที่ผ่านมาการเมืองไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการยุบสภาไม่ได้เป็นทางออกของประเทศอย่างแท้จริงเพราะมีตัวอย่างในเหตุการณ์เมื่อปีพ.ศ.2535จนนำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ต่อมาพ.ศ.2549 มีการยุบสภาเข่นกันแต่ปัญหาก็ไม่จบ ดังนั้น คิดว่าการยุบสภาในครั้งนี้ต้องมีการพูดคุยกันให้ชัดเจนว่าจะเป็นทางออกที่แท้จริงหรือไม่

วีระ :  อยากให้พวกท่านกลับไปทบทวนดู พวกตนก็จะกลับไปทบทวนมวลชนดู บางทีอาจจะได้ไปพัก คุยกันยาว ๆ อาจจะเกิดหนทางเชื่อมประสานกัน ที่สำคัญพวกตนไปนั่งคอยกลางถนน กับคนคอยที่บ้านคนละอารมณ์

อภิสิทธิ์ : ไม่ขัดข้องหากพักกันไปก่อน และจะประสานงานกันมากขึ้น  ไม่ว่ายุบสภาก่อนแก้ หรือแก้รัฐธรรมนูญก่อนยุบ รัฐบาลก็ฟังและมองเห็นว่าการยุบสภาเป็นทางออกหนึ่ง แต่สำหรับคนทั้งประเทศไม่เฉพาะเสื้อแดง ตนต้องการให้ยุบสภาแล้วทุกคนกลับมาหลอมรวมกันเป็นสายเดียว  คิดไม่ตรงกันไม่เป็นไร ก็จะพักกันก่อน ต่างคนต่างไปคิด ฟังเสียงรอบข้าง ตนก็ต้องฟังเช่นกัน

จตุพร :  ขอยืดเวลาไปอีก 2 สัปดาห์ ในการยุบสภา ส่วนนายกฯจะมีแนวทางอย่างไรก็ให้คำตอบมา ท่านจะยุบหรือไม่ยุบสภาก็ได้เป็นสิทธิ์ของท่าน ถ้าวันที่ 29 มี.ค. การเจรจายังมีขึ้น ก็ขอยื่นเรื่องการยุบสภาให้นายกฯพิจารณา เพราะพวกตนก็คุยกันมาแล้วว่าควรยุบสภาให้เสร็จใน 2 สัปดาห์หรือภายใน 15 วัน จะไม่ยุบสภา ก็ได้สุดแท้แต่

อภิสิทธ์ :  ไม่เป็นไร เข้าใจ เหมือนอยู่ตรงจุดกึ่งกลางพอดี รัฐบาลเหลือเวลา 2 ปี แต่ให้เวลารัฐบาลยุบสภา 2 สัปดาห์