posttoday

มท.1แย้ม”โคทม-พล.อ.เอกชัย”วิทยากรประชาเสวนา

07 ธันวาคม 2555

มท.1แย้ม”โคทม-พล.อ.เอกชัย”เข้าร่วมเป็นวิทยากรประชาเสวนา 108 เวทีทั่วประเทศ เชื่อนำข้อเสนอไปพ่วงขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญทัน

มท.1แย้ม”โคทม-พล.อ.เอกชัย”เข้าร่วมเป็นวิทยากรประชาเสวนา  108 เวทีทั่วประเทศ เชื่อนำข้อเสนอไปพ่วงขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญทัน

ที่กรมการพัฒนาชุมชน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงาน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ ป.คอป. เปิดเผยว่า รูปแบบการจัดทำเวทีประชาเสวนา จะมีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั้งหมดประมาณ 7.5 หมื่นคน ตามหลักการทางสถิติ ที่นายสุขุม เฉลยทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ให้คำแนะนำ โดยกระทรวงมหาดไทย จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้บริการจัดการเท่านั้น และยืนยันว่าจะไม่มีการชี้นำความคิดเห็นของประชาชนหรือวิทยากรในแต่ละเวที

โดยภายในเดือนนี้ จะมีการคัดเลือกวิทยากรหลักประมาณ 5-20 คน อาทิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณบดีคณะรัฐศาสตร์หรืออธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึง พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และขณะนี้ได้เชิญนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการเทียบเชิญ โดยมีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการ และเลขานุการป.คอป.เป็นผู้เทียบเชิญ ซึ่งคาดว่าจะได้เห็ฯรายชื่อวิทยากรหลักทั้งหมดภายในสื้นเดือนธ.ค.นี้อย่างแน่นอน

ส่วนขั้นตอนต่อไปนั้น นายจารุพงศ์กล่าวว่า วิทยากรหลักที่ได้มาทั้งหมดจะเป็นผู้คัดเลือกตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วน เวทีละ 300 คนเพื่อเข้าร่วมเวทีประชาเสวนา และจะมีการจัดหาวิทยากรปฏิบัติการ ซึ่งเป็นนักวิชาการในพื้นที่เป็นผู้จัดเวทีในแต่ละจังหวัด หลังจากคัดเลือกได้ทั้งหมด วิทยากรหลักจะเข้าไปชี้แจงกฎเกณฑ์ และจุดประสงค์ของการจัดเวทีประชาเสวนาให้กับวิทยากรปฏิบัติการที่จะเป็นผู้ดำเนินการเวทีเสวนาในพื้นที่ หลังจากนั้น จะมีการรวมข้อเสนอในประเด็นต่างๆ จากประชาชน 7.5 หมื่นคน เข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ก่อนเข้าสู่กระบวนการเสนอเข้าสู่รัฐสภา เพื่อให้พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ รมว.มหาดไทยกล่าวว่า จะนำข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีทั้งหมด 108 เวที ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเดือน ก.พ. 2556 ไปเป็นส่วนเสริมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจะเดินหน้า ลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อไป แต่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะถูกนำไปรวมในพ.ร.บ.ปรองดองหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ทั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณเพื่อจัดเวทีประชาเสวนาในเบื้องต้นทั้งหมด 90 ล้านบาท สำหรับจัด 60 เวที แต่เมื่อมีการเปลี่ยนจำนวนเวทีเป็น 108 เวที อาจทำให้ต้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล แต่ยืนยันว่า การเพิ่มงบประมาณไม่เป็นปัญหา และสามารถเดินหน้าทำงานต่อได้แน่นอน

นายจารุพงศ์กล่าวอีกว่า พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีตอนหนึ่งที่ระบุถึงความปรารถนาดี และความพร้อมเพรียงของคนในชาติ ซึ่งการจัดเวทีประชาเสวนา จะยึดตามหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และนำมาปรับใช้เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมให้ได้มากที่สุด