posttoday

สว.อัดลอยLPGฉ้อราษฎร์เชิงนโยบาย

28 พฤศจิกายน 2555

สว.อัดลอยตัว LPG อุ้มภาคอุตสาหกรรม ลอยแพ ปชช.ทั้งที่เป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าซในปท. รบ.กลับโยนภาระให้แบกราคาเท่าตลาดโลก

สว.อัดลอยตัว LPG อุ้มภาคอุตสาหกรรม ลอยแพ ปชช.ทั้งที่เป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าซในปท. รบ.กลับโยนภาระให้แบกราคาเท่าตลาดโลก

น.ส.รสนา  โตสิตระกูล สว.กทม. เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนโยบายพลังงานของรัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงเชิงนโยบายรัฐบาล จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี หรือ การลอยตัวราคา ภายในปี 2556 เนื่องจากนโยบายนี้เป็นการโยนภาระให้กับประชาชน แต่กลับไปโอบอุ้มกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและน้ำมัน

ทั้งนี้จากข้อมูลประเทศไทยพบว่าไทยขุดหรือผลิตก๊าซธรรมชาติใช้เองภายในประเทศ 55% นำเข้า 22% และโรงกลั่นอีก 23% ในขณะที่การใช้ก๊าซภาคครัวเรือน 40% ภาคอุตสาหกรรม 36%  จึงเกิดคำถามว่าในเมื่อประเทศไทยขุดก๊าซขึ้นมาใช้เองภายในประเทศซึ่งถือเป็นทรัพย์สมบัติของชาติและประชาชน ดังนั้นเหตุใดต้องให้ประชาชนต้องแบกรับภาระราคาก๊าซตามราคาตลาดโลก 

น.ส.รสนา กล่าวการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ที่รัฐบาลประกาศจะเริ่มภายในเดือน ม.ค. 2556 เฉลี่ยเดือนละ 50 สต.ต่อกก. ภายใน 2 ปี เพื่อให้ราคาก๊าซในประเทศเท่ากับราคาตลาดโลก ถือว่าเอาเปรียบประชาชนเพราะภาคครัวเรือน และยานยนต์ที่ถือว่าเป็นเจ้าของประเทศเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผู้ใช้ก๊าซเพื่อการดำรงชีวิตและอยู่รอดจากภาษีให้กับรัฐ ในขณะที่การใช้ก๊าซภาคอุตสาหกรรมเป็นการใช้ก๊าซเพื่อแสวงหาผลกำไรอย่างมหาศาล ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ปรับขึ้นราคาก๊าซเฉพาะส่วนภาคอุสาหกรรมเท่านั้น

ทั้งนี้รัฐบาลควรทบทวนการขึ้นค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เนื่องจากรัฐบาลกำลังจะเปิดสัมปทานหลุมก๊าซเพิ่มขึ้นอีก และที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2532 ยังไม่มีการปรับปรุงค่าภาคหลวงแต่อย่างใด ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 80-120 เหรียญดอล์ล่าสหรัฐฯต่อบารเรล แต่ยังใช้อัตราเดิมอยู่ และหากมีการปรับขึ้นการเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มปีละ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี โดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อนำมาจัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วม 3 แสนล้านบาท ดังนั้นหาก 2 นโยบายดังกล่าวนี้ทางรัฐบาลยังคงจะเดินหน้าโดยไม่ทบทวน นั้นแสดงว่ารัฐบาลกำลังกระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงเชิงนโยบาย