posttoday

ยิ่งลักษณ์ชูผนึกเอเชียรับวิกฤตศก.โลก

17 ตุลาคม 2555

นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เวที เอซีดี ย้ำให้เอเชียเป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือภายในภูมิภาคให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รับมือเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เวที เอซีดี  ย้ำให้เอเชียเป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือภายในภูมิภาคให้เข้มแข็ง  โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รับมือเศรษฐกิจโลก

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD อย่างเป็นทางการ ที่พระราชวังบายัน ประเทศคูเวต เมื่อเวลา 11.00น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง พร้อมกับประเทศสมาชิก 32 ประเทศจากทุกอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย โดยมีเจ้าผู้ครองคูเวต เป็นประธาน และครั้งนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรก โดยมีผู้นำจาก 8 ประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย ไทย บาห์เรน กาตาร์ บังกลาเทศ คีร์กิซสถาน ศรีลังกา อิหร่าน และทาจิกิสถาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ ว่า ปัจจุบันโลกต้องเผชิญช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป และปัญหาความยุ่งยากต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.3% และมูลค่าการค้าโลกคาดว่าจะลดต่ำลงจาก 5.8 เมื่อปีที่แล้ว เหลือเพียง 3.2 ในปีนี้ ซึ่งไม่ช้าหรือเร็ว ประเทศในเอเชียย่อมได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย ดังนั้นการประชุม เอซีดี จึงมีความสำคัญ ทันต่อเวลา และเป็นการส่งข้อความว่าเอเชียได้ยืนยันที่จะขยายความร่วมมือและการค้าการลงทุนภายในเอเชียและเชื่อมไปยังส่วนอื่นของโลก แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยมี เอซีดี  เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศสมาชิกในเอเชียไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ 3 ประการประการแรก การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยการเชื่อมโยงในการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น ซึ่งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎและระเบียบด้านการขนส่งข้ามพรมแดนที่คล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้จากโครงการเส้นทางรถไฟเชื่อมเอเชีย (Trans-Asian Railway) และโครงการเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway) จะช่วยให้ทวีปเอเชียมีความเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น ความเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถสร้าง "เส้นทางสายไหม" ใหม่สำหรับเอเชีย ที่สามารถนำความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นให้กับทุกคนได้ โดยประเทศสมาชิกต้องร่วมกันหาเงินทุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนอกจากนี้ การเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในทวีปเอเชีย การแบ่งปันความคิดผ่านความร่วมมือและการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งจะไม่เพียงช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการแสดงความเคารพต่อความหลากหลายแล้ว แต่ยังหมายถึงการสนับสนุนความร่วมมือในกรอบของ เอซีดี  ที่มีอยู่กว่า 20 สาขาความร่วมมือด้วย อาทิ การเงิน การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ประการที่สอง ด้านความร่วมมือความมั่นคงทางอาหาร ที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกใน เอซีดี และยังเป็นจุดแข็งของทวีปเอเชีย โดยประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารหลักของโลก ได้สร้างกลยุทธ์ใหม่ ผ่านโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งกำลังมองหาประเทศพันธมิตรทั้งในและนอก เอซีดีเพื่อช่วยในด้านการผลิต การส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงอาหารฮาลาล ให้ไปสู่ครัวโลกบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ในขณะเดียวกันไทยได้เตรียมการหารือเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารภายใน เอซีดี จากประสบการณ์ของไทยในอาเซียนและอาเซียนบวกสาม เกี่ยวกับคลังข้าวสำรองฉุกเฉิน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการจัดการของเสียจากอาหารประการที่สาม ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นจุดแข็งของภูมิภาคเอเชีย มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความมั่นคงทางอาหาร จะช่วยส่งเสริมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่หลังการเก็บเกี่ยวจนถึงการขนส่ง ดังนั้นถ้าพลังงานมีเสถียรภาพ ก็หมายถึงการมีอาหารอย่างพอเพียงสำหรับทุกคน ซึ่งถือเป็นประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน การขยายกรอบความร่วมมือในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานอยู่ในความสนใจของทุกประเทศสมาชิกใน เอซีดี

นอกจากนี้ ในการหารือยังสามารถมุ่งเน้นไปที่การหาพลังงานเสริมทางเลือกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างไรก็ตาม ขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เอซีดี ควรมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอย่างยิ่งในการเป็นเจ้าภาพการประชุม เอซีดี ซัมมิท  ในปี 2015 ซึ่งเป็นปีแห่งการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และจะเสนอให้มีการจัดตั้งเลขาธิการ เอซีดี ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควรจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในปี 2013 เพื่อให้เป็นเวทีหลักของเอเชียในการเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งในระดับภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสพบปะ และหารือกับ เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี)โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณโอไอซีที่ให้การสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาภาคใต้