posttoday

ประชาเผยสถานทูตไทยในวอชิงตันเจอพิษ FATF

05 ตุลาคม 2555

รมว.ยุติธรรม เผยสถานทูตไทยในวอชิงตันเจอพิษ FATF ธนาคารปฎิเสธการขึ้นเงินให้เจ้าหน้าที่ฯชี้สัญญาณไม่ดี แจงหารือผู้บริหารไอเอ็มเอฟให้เป็นพี่เลี้ยงช่วยแจงแฟทเอฟปลดไทยออกจากประเทศเสี่ยงต่อการฟอกเงิน

รมว.ยุติธรรม เผยสถานทูตไทยในวอชิงตันเจอพิษ FATF ธนาคารปฎิเสธการขึ้นเงินให้เจ้าหน้าที่ฯชี้สัญญาณไม่ดี แจงหารือผู้บริหารไอเอ็มเอฟให้เป็นพี่เลี้ยงช่วยแจงแฟทเอฟปลดไทยออกจากประเทศเสี่ยงต่อการฟอกเงิน

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานประธานกรรมาธิการยกร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับใหม่และกฎหมายต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายว่า กล่าวว่า ได้เดินทางไปหารือกับผู้บริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับไอเอ็มเอฟ ถึงขั้นตอนการออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับว่าไทยมีความพร้อมที่จะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับแล้วและขอให้ไอเอ็มเอฟนำรายละเอียดความคืบหน้าของไทยไปชี้แจงต่อ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือแฟทเอฟ (FATF) ให้แก้ไขกรณีที่แฟทเอฟขึ้นบัญชีประเทศเป็นประเทศที่ต้องจับตาว่าเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการฟอกเงิน โดยขอให้ไอเอ็มเอฟช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการชี้แจงต่อแฟทเอฟให้เข้าใจว่าปปง.ของไทยมีความพร้อมในการบริหารจัดการและขอให้ถอนรายชื่อประเทศออกจากแบล็คลิสต์

“ขณะนี้การทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศเริ่มปรากฏปัญหาแล้ว โดยล่าสุด ป.ป.ง.ได้รับรายงานจากสถานฑูตไทยประจำกรุงวอชิงตันดีซี แจ้งมาว่า การทำธุรกรรมการเงินเริ่มมีปัญหา หลังจากเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ได้นำเชคเงินสดไปขึ้นบัญชีแต่ได้รับการปฎิเสธจากธนาคาร ไม่ยอมให้ถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนเข้าไป จึงถือเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดี  ดังนั้นจึงต้องเร่งให้มีการปลดชื่อไทยออกจากกบัญชีรายชื่อประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เร็วที่สุด”พล.ต.อ ประชา กล่าว

ส่วนความขัดแย้งในกรรมาธิการฯอาจส่งผลให้กฎหมายไม่สามารถมีผลบังคับใช้ไม่ทันภายในเดือนกพ.56 หรือไม่นั้น พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ในคณะกรรมาธิการฯมีความเห็นแตกต่างบ้างในบางประเด็น แต่เป็นเพียงประเด็นเล็กๆน้อยๆทและจำเป็นต้องมีการแก้ไขถ้อยคำและการให้คำนิยาม เช่น คำว่าผู้ก่อการร้ายและช่องทางในการดำเนินการที่จะกำหนดรายชื่อผู้ก่อการร้ายว่าจะกำหนดให้ศาลเพ่งหรือศาลอาญาเป็นผู้พิจารณา ซึ่งประเด็นดังกล่าวทางคณะกรรมาธิการฯจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ตค.นี้  อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงไม่มีกรรมาธิการคนใดที่จะขัดขวาง เนื่องจากทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันและถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความคิดเห็นหลากหลาย แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศจะต้องฝ่าผ่านไปให้ได้