posttoday

ปูหนุนใช้สันติวิธีแก้ไขข้อพิพาทภูมิภาคต่างๆ

27 กันยายน 2555

นายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศ พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคต่างๆด้วยสันติวิธี

นายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศ  พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคต่างๆด้วยสันติวิธี

ปูหนุนใช้สันติวิธีแก้ไขข้อพิพาทภูมิภาคต่างๆ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานเลี้ยง พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ที่สำนักงานใหญ่ของ เอเชีย โซไซตี้  ในหัวข้อ " Moving Forward in the Asia-Pacific Century" โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ วิชาการ สื่อมวลชนและประชาสังคม และมีนาย Eric E. John อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินรายการ

นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พบกับแขกผู้มีเกียรติทุกคน ที่ เอเชีย โซไซตี้ ซึ่งมีส่วนร่วมกันสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอเมริกาและเอเชีย และภูมิใจที่ไทยและสหรัฐฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดและเป็นพันธมิตรในโลกเสรีแห่งนี้

ประเทศไทยในช่วงเวลาแห่งเสถียรภาพและความพร้อมในการทำงานร่วมกันกับสหรัฐฯ ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมาหลายปี ประเทศไทยได้กลับสู่ช่วงเวลาแห่งเสถียรภาพ รัฐบาลซึ่งยึดมั่นในประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม ได้ปูพื้นฐานที่เข้มแข็ง เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ พื้นฐานเศรษฐกิจไทย และการเงินการคลังมีพัฒนาการที่สำคัญในปีนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการแผนเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ยังมุ่งหวังการสร้างงาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ซึ่งมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตระหว่างร้อยละ 5.5 ถึง 6 ในปี 2012 แม้ว่าจะประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว และด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองนี้ ประเทศไทยจึงพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในฐานะพันธมิตรกับสหรัฐฯเพื่อช่วยวางแผนอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เอเชีย-แปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคสำคัญของเศรษฐกิจโลก ธนาคารพัฒนาเอเชียได้รายงานว่าในปี 2011 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้มีส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คิดเป็นร้อยละ 36 ของโลก ซึ่งนับเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจในเอเชียจะเติบโตประมาณร้อยละ 7 ในปี 2012 สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญ ด้วย GDP กว่า 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสหรัฐฯ ยังเป็นคู่ค้าและนักลงทุนชั้นนำของภูมิภาค โดยไทยและสหรัฐฯ มีการค้าระหว่างกันประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหรัฐฯ ได้มีการลงทุนกับไทยประมาณ 12,700 ล้านดอลลาร์ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าไทยและสหรัฐฯ สามารถเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างกันได้มากขึ้น

ทิศทางบวกของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ถูกสะท้อนให้เห็นเมื่อครั้งการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคซึ่งจัดขึ้นที่รัสเซียเมื่อต้นเดือนนี้ โดยเหล่าผู้นำต่างเห็นพ้องกันที่จะต่อต้านนโยบายการกีดกันทางการค้า และให้มีการค้าการลงทุนอย่างเสรี การเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงานในช่วงที่โลกประสบภาวะวิกฤต

การสร้างแรงผลักดันสู่ศตวรรษแห่งเอเชีย-แปซิฟิกมีกลยุทธ์และวิธีการสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญอันดับแรกของภูมิภาคคือการสร้างกลยุทธ์ในการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าจะมีอุปสงค์ต่ำและมีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ ก็ตาม

ก้าวแรกคือต้องต่อต้านนโยบายการกีดกันทางการค้า และรักษาตลาดเปิดเสรี โดยยุโรป สหรัฐฯ และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นประเทศคู่ค้าต่อกัน การค้าจึงต้องสนับสนุนการป้องกันการกีดกันเพื่อก่อให้เกิดการสร้างงานและการเติบโตแก่ทุกฝ่าย
         
และทักษะความรู้ของทั้งสองภูมิภาคต่อเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อก่อให้เกิดการเติบโตในระยะยาว ในขณะเดียวกันต้องสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของยุโรปและสหรัฐฯ

ยิ่งไปกว่านั้นในการปกป้องจากแรงกดดันภายนอก ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะต้องมีแหล่งที่มาของการเติบโตที่หลากหลาย และพึ่งพิงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกให้น้อยลง แต่จะต้องให้มีการพึ่งพิงอุปสงค์ในประเทศให้มากขึ้นและสร้างการเติบโตในภูมิภาค ซึ่งภูมิภาคที่เข้มแข็งนี้จะเติบโตเป็นตลาดสินค้าและบริการที่สำคัญของโลกและช่วยสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลก

สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่การสร้างประชาคมอาเซียน ในปี 2015 โดยเฉพาะในกรอบเศรษฐกิจจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ตลาดเดี่ยวบนพื้นฐานการผลิตของประชากรกว่า 600 ล้านคน ความสะดวกด้านศุลกากรว่าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนการพัฒนาความเชื่อมโยง และเขตการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ จะช่วยนำไปสู่การเติบโตของอาเซียนและดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ

ในการนี้ไทยมีความยินดีที่จะสนับสนุนพม่าในการสร้างการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศ ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า เมื่อเสร็จสิ้นจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก ผ่านสะพานขนาดใหญ่ของไทย และเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ทดแทนช่องแคบมะละกา

การสะพานเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนและรวมไปถึงรัสเซียตะวันออก ด้วยรถไฟความเร็วสูงเริ่มต้นที่ประเทศไทย เครือข่ายโลจิสติกส์ใหม่นี้จะช่วยให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็วและสนับสนุนการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งไทยได้มีการลงทุนกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และขอเชื้อเชิญสหรัฐฯ ร่วมในการลงทุนโครงการนี้ผ่านการประกวดราคาแบบนานาชาติ (international bidding)

ความมั่นคงในระดับภูมิภาค เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (ทะเลจีนใต้) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากภายในภูมิภาคมีปัญหาความขัดแย้งในการอ้างอธิปไตยและแย่งชิงทรัพยากรในน่านน้ำ ซึ่งทุกฝ่ายต่างมีความในการพยายามหาทางแก้ไขอย่างสงบ เช่นในบริเวณดินแดนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าทุกประเทศในภูมิภาคควรร่วมมือกันในการใช้ดินแดนดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุด ด้วยการใช้เป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่ปลอดจากความขัดแย้ง และปลอดภัยจากปัญหาโจรสลัด

ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นไปอย่างสันติ ทั้งอาเซียนและจีนควรมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในบริเวณดินแดนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ โดยผลประโยชน์ร่วมกันเหล่านี้ จะเกิดขึ่นได้ ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยทางทรัพยากรและการบรรเทาภัยพิบัติ ภายใต้ปฏิญญาจรรยาบรรณของรั ฐภาคี ในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Code of Conduct of Parties in the South China Sea: DoC) ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจระหว่างกันได้และยังจะให้อาเซียนและจีนสามาถก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ภายใต้ Code of Conduct: CoC ในระดับภูมิภาค โดยไทยมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการสร้างความร่วมมือ ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างกันอย่างเต็มที่ เครือข่ายทางความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นสำคัญต่างๆ

การพัฒนากรอบความร่วมมือ การเสริมสร้างความไว้วางใจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในภูมิภาค จะทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สามารถเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยมีความยินดีอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นไปด้วยดี โดยไทยถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาตร์ของจีน และยังเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ด้วยความร่วมมือที่มีความสร้างสรรค์ เช่น เทคโนโลยี การศึกษา และนวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในระดับทวิภาคีย่อมไม่เพียงพอ เราจึงควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคเช่นกัน โดยการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ก็เป็นอีกกรอบความร่วมมือหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจโลก การจัดการภัยพิบัติ และความร่วมมือทางทะเล

ในขณะเดียวกัน ทุกประเทศในภูมิภาคควรสนับสนุนการดำเนินการที่จะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันนสูงสุด เช่น ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหาร ไทยสามารถทำงานร่วมกับ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารยิ่งขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งในด้านการขนส่ง และการเก็บรักษา

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความมั่นใจว่า เอเชีย-แปซิฟิค จะเป็นแสงสว่างแห่งความหวัง โดยการรักษาไว้ทั้งกิจการภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ตามที่ปฏิบัติมาและจะดำเนินต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนขอไทย นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่า ไทยมีความมั่นคงและสงบภายในประเทศ ยืนยันที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรสหรัฐฯ และหุ้นส่วนสำคัญเช่น จีน และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อให้ความร่วมมือสาขาต่างๆให้มากที่สุด และลดการพิพาทให้น้อยลงให้มากที่สุด รวมทั้ง เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรระหว่างประเทศ พื่อความสงบเรียบร้อยของโลกเพื่อการอยู่ร่วมกัน และทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น ความพยายามของประเทศในภูมิภาค และความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังว่า เอเชีย โซไซตี้  จะช่วยทำให้ไทยและสหรัฐฯใกล้ชิดกันมากขึ้นต่อไป