posttoday

สุเทพแถลงปิดคดีปัดแทรกแซงวธ.

17 กันยายน 2555

สุเทพปิดคดีด้วยวาจาคดีแทรกแซงวธ. กล้าณรงค์ย้ำชัดอดีตรองนายกฯก้าวก่าย วุฒิสภานัดลงมติถอดถอน18ก.ย.

สุเทพปิดคดีด้วยวาจาคดีแทรกแซงวธ. กล้าณรงค์ย้ำชัดอดีตรองนายกฯก้าวก่าย วุฒิสภานัดลงมติถอดถอน18ก.ย.

สุเทพแถลงปิดคดีปัดแทรกแซงวธ.

การประชุมวุฒิสภามีวาระรับฟังการแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาของนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา จากกรณีที่นายสุเทพเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีส่งหนังสือไปยังรมว.วัฒนธรรมเพื่อส่งสส.พรรคประชาธิปัตย์ และบุคคลอื่นรวม 19 คนไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี2552 อันเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ 266

ทั้งนี้ นายกล้านรงค์ ได้แถลงปิดสำนวนเป็นคนแรกมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า การอ้างว่าการกระทำดังกล่าวของนายสุเทพเป็นเพียงการหารือไม่ใช่การบังคับนั้นป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่การหารือแต่เป็นการเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม รมว.วัฒนธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลข้าราชการในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรี  ดังนั้น การส่งสส.เข้าไปช่วยงานของกระทรวงจึงเป็นการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรี ซึ่งเกี่ยวพันกับข้าราชการประจำ

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า คำชี้แจงของนายสุเทพต่อวุฒิสภาในประเด็นเกี่ยวกับการยืนยันว่ารมว.วัฒนธรรมยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวและได้ไปขอถอนหนังสือออกมาในภายหลัง ถือว่ามีความขัดแย้งกับบันทึกของนายสุเทพที่ทำถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 พ.ย.2552 ในหน้า 4 ระบุว่า "หลังจากข้าพเจ้ามีหนังสือถึงรมว.วัฒนธรรมแล้วรมว.วัฒนธรรมได้แจ้งต่อข้าพเจ้าว่าไม่ประสงค์จะรับสส.เหล่านั้นไว้ช่วยงานเพราะเกรงจะมีปัญหา ข้าพเจ้าจึงได้ขอรับหนังสือฉบับดังกล่าวคืนจากกระทรวงวัฒนธรรม จึงไม่มีสส.คนใดไปช่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรมดังกล่าว" ในข้อเท็จจริงนี้มีเพียงนายสุเทพและรมว.วัฒนธรรมเพียงสองคนเท่านั้นที่รู้ว่านายสุเทพได้ไปรับหนังสือคืนก่อนที่รมว.วัฒนธรรมจะอ่านหรือไม่ แต่การพิจารณาของป.ป.ช.ได้พิจารณาตามหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีดังกล่าวซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าได้ส่งไปแล้วจากนั้นรมว.วัฒนธรรมได้ส่งคืน

"การระบุว่าสส.ในพรรคมีความประสงค์ไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้ถูกล่าวหามีความประสงค์ แต่ในการไต่สวนสส.ของป.ป.ช.พบว่าไม่ได้ยินยอมและไม่ทราบว่ามีรายชื่อปรากฏได้อย่างไร ไม่ได้แสดงความจำนงไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม ไม่ใช่นโยบายหรือในนามของพรรคแต่ประการใดทั้งสิ้น" นายกล้านรงค์ กล่าว

สำหรับข้อต่อสู้ของนายสุเทพที่ได้อ้างความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าว่าเป็นการกระทำที่ไม่ขัดกับมาตรา 266(1) นายกล้านรงค์ แถลงคัดค้านว่า ได้ตรวจสอบถ้อยคำของนายบวรศักดิ์ที่ให้ไว้กับป.ป.ช.พบเป็นการใช้คำว่า "ไม่น่าจะขัด" ถ้อยคำนี้หมายความว่านายบวรศักดิ์ไม่ได้ความเห็นยืนยันว่าขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประกอบกับเรื่องนี้เป็นความเห็นเชิงวิชาการ ซึ่งป.ป.ช.มีสิทธิ์ที่จะรับฟังหรือไม่ก็ได้เช่นเดียวกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เบิกความในชั้นศาลก็ไม่ได้หมายความว่าศาลจะต้องพิจารณาเป็นไปตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญใดๆทั้งสิ้น

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า การนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 17/2555 ซึ่งยกคำร้องกรณีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) แต่งตั้งสส.พรรคเพื่อไทยเข้าไปช่วยงานศปภ.มาเปรียบเทียบกับความเห็นของป.ป.ช.ในกรณีของนายสุเทพไม่สามารถกระทำได้ แม้ว่าในคำวินิจฉัจระบุว่าบทบาทสส.มิได้ถูกจำกัดเฉพาะการตรากฎหมายและการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงของทั้งสองกรณีมีความแตกต่างกันโดยครั้งนั้นศาลมีความเห็นบนข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ตรงกันจะมาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าต้องผูกพันไม่ได้

"รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กรจริง แต่การจะมีผลผูกพันกับทุกองค์กรนั้นต้องผูกพันโดยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน ถ้าข้อเท็จจริงเป็นคนละอย่างแล้วข้อกฎหมายก็ไม่สามารถผูกพันได้ เช่น การที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความการตราพระราชกำหนดของรัฐบาลแตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการตราพระราชกำหนดฉบับหนึ่งฉบับใดชอบด้วยกฎหมายแล้วจะผูกพันว่ารัฐบาลจะออกพระราชกำหนดอย่างไรก็ได้ เป็นต้น" นายกล้านรงค์ กล่าว 

ขณะที่ นายสุเทพ แถลงว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการตีความในมาตรา 266 (1) ไว้ว่า "มีวัตถุประสงค์ที่จะให้หลักประกันแก่ผู้ปฎิบัติหน้าที่ของฝ่ายราชการประจำให้สามารถทำหน้าที่ประจำของตนไปได้อย่างเป็นกลางทางการเมืองไม่หวั่นเกรงว่าจะถูกแทรกแซงหรือก้าวก่ายจากฝ่ายการเมือง" จากคำวินิจฉัยดังล่าวจะเห็นได้ว่าการก้าวก่ายหรือแทรกแซงจะเกิดขึ้นได้เมื่อการตัดสินใจของข้าราชการประจำถูกกระทบจากอำนาจฝ่ายการเมือง แต่กรณีนี้รมว.วัฒนธรรมยังไม่ได้เปิดอ่านหนังสือและสั่งการ ไม่มีอะไรไปกระทบต่อการตัดสินใจแต่ประการใด

"ความเห็นของป.ป.ช.น่าจะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่17/2555 โดยศาลวางหลักเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสส.เอาไว้ชัดเจนและมีผลผูกพันทุกองค์กรตามมาตรา216วรรคห้าตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2555 ก่อนที่ป.ป.ช.จะมีความเห็นในกรณีนี้เมื่อวันที่17 ก.ค.2555 ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องใช้และตีความกฎหมายมาตรา 266(1) ให้สอดคล้องกับแนววินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ"นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ แถลงคัดค้านป.ป.ช.ว่า เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรแล้วแต่กรณีนี้ป.ป.ช.กลับตีความมาตรา 266 (1) ไม่ตรงกับศาลรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามาตรา266(1)มีเจตนารมณ์ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แต่ในกรณีนี้รัฐยังไม่ได้เสียหายจากการกระทำของผมแม้แต่น้อย ซึ่งป.ป.ช.ก็ทราบดีเพราะป.ป.ช.ไม่ได้ระบุไว้ในรายงานการสอบสวนไต่สวนว่าการกระทำดังกล่าวให้เกิดความเสียหายอย่างไร เช่นกันกับศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่ามาตรา 266(1) มีเจตนารมณ์ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งป.ป.ช.เองก็ระบุในรายงานและสำนวนว่าการกระทำนี้ไม่มีมูลทุจริตต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ในการพิจารณาคดีนี้ของป.ป.ช.ได้เชิญบุคคลผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญมาให้ความเห็นแต่ป.ป.ช.ก็ไม่รับฟัง ได้แก่ นายบวรศักดิ์ ซึ่งระบุว่าถ้อยคำในหนังสือเพียงแค่สส.ในพรรคมีความประสงค์ไปช่วยราชการกระทรวงวัฒนธรรมไม่ถือเป็นการเป็นการเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะการช่วยงานนั้นอาจเป็นการช่วยกระทรวงวัฒนธรรมในกรณีที่กระทรวงจำเป็นต้องติดต่อกับคนในพื้นที่ก็ให้สส.ช่วยประสานงาน และในส่วนของคำว่าประโยชน์ตอบแทนน่าจะหมายถึงค่าตอบแทนเป็นเงินหรือที่สามารถคำนวณเป็นราคาเงินได้ เช่นเดียวกับ นายนครรินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ266(1) เนื่องจากเป็นกรณีการไปช่วยงานการเมืองของรัฐบาลไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของราชการประจำ หรือได้ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐที่ไปช่วยราชกการ แต่ป.ป.ช.ก็สรุปว่ารับฟังไม่ได้  

ภายหลังจากทั้งสองฝ่ายได้แถลงปิดสำนวนด้วยวาจาเสร็จสิ้นแล้ว นายสุรชัย เลี้ยงบึญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานควบคุมการประชุมได้แจ้งที่ประชุมทราบว่า ให้มีการลงมติเพื่อถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุเทพ ในวันที่ 18 ก.ย. เวลา 11.00 น.