posttoday

เร่งแผนผันน้ำยมสกัดทัพน้ำบุกกรุง

13 กันยายน 2555

รัฐบาล การันตีแก้มลิงที่ระหว่างทางรองรับได้ ห่วงน้ำฝนเหนือหนักส่งผล เฝ้าระวัง เสนา - บางปะอิน - บางบาล - บางไทร กรมชลฯ เตือนน้ำสูง 25-50 ซม.

รัฐบาล การันตีแก้มลิงที่ระหว่างทางรองรับได้ ห่วงน้ำฝนเหนือหนักส่งผล เฝ้าระวัง เสนา - บางปะอิน - บางบาล - บางไทร  กรมชลฯ เตือนน้ำสูง 25-50 ซม.

นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่กลางน้ำทางรัฐบาลได้ดำเนินการผันน้ำจากลุ่มน้ำยมให้ไปสู่ลุ่มน้ำน่าน เพราะขณะนี้มีปริมาณน้ำในลุ่นน้ำยมจำนวนมาก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องทางตอนบน และไม่มีอ่างเก็บน้ำรองรับ แตกต่างจากลุ่มน้ำวังและปิง มีเขื่อนภูมิพลรับน้ำ ส่วนลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติติ์ และเขื่อนนเรศวรรองรับ และควบคุมปริมาณน้ำได้ ดังนั้นการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำจะช่วยลดปริมาณมวลน้ำก้อนแรกที่จะไหลลงพื้นที่ตอนล่างได้ด้วย 

ทั้งนี้การผันน้ำโดยโครงข่ายน้ำลุ่มน้ำยม-ลุ่มน้ำน่าน ผ่านคลองหกบาทเพื่อเข้าแม่น้ำน่านโดยจะเข้าไปยังจังหวัดพิจิตร ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าวและนาบัวนับเป็นวิถีชีวิตที่ประชาชนอยู่กับน้ำ โดยน้ำจะไหลตามพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะพื้นที่ที่่ท่วมซ้ำซากทุกปี พร้อมกับไหลไปยังบึงที่เป็นเสมือนแก้มลิงที่ทางรัฐบาลดำเนินการไว้ตามงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เช่น บึงบางระกำ บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และบึงขี้แร้ง ซึ่งมีลักษณะพื้นที่สาธารณะจังหวัดพิษณุโลก

นายวิม กล่าวว่าต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำเหนือเขื่อนด้วย เพราะขณะนี้สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดประตูระบายน้ำอยู่ที่ 1,820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะหากปริมาณน้ำเหนือเพิ่มสูงขึ้นและจำเป็นต้องเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อต่อปริมาณน้ำโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำ เช่น บางบาล เสนา บางปะอิน และบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น  

ขณะที่วันที่ 13 ก.ย.ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เตรียมพร้อมแผนรับมือน้ำเหนือ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการบริหารจัดการน้ำ เร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็ว พร้อมแจ้งเตือนจังหวัดต่างๆในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าในช่วงวันที่ 13 – 17 กันยายนนี้ ร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น จะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำสาขาต่างๆ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือล่วงหน้ากับสถานการณ์น้ำเหนือที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่มาจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเหนือ ด้วยการพร่องน้ำทางตอนบนให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,800 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นต้นไป เพื่อผลักดันน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยโดยเร็ว ลักษณะดังกล่าวนี้ จะทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และ พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำสูงขึ้นในระยะต่อจากนี้ไป ประมาณ 25 – 50 เซนติเมตร

ในการนี้ กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนจังหวัดต่างๆในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี  ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูง และป้องกันพื้นที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป