posttoday

สุเทพแจงไม่มีเจตนาแทรงแซงขรก.

11 กันยายน 2555

"สุเทพ"อ้างความเห็น "บวรศักดิ์" ส.ส.เข้าช่วยงานราชการได้ วุฒิสภา นัดแถลงปิดคดี 17 ก.ย.ก่อนลงมติชี้ชะตา 18 ก.ย.

"สุเทพ"อ้างความเห็น "บวรศักดิ์" ส.ส.เข้าช่วยงานราชการได้ วุฒิสภา นัดแถลงปิดคดี 17 ก.ย.ก่อนลงมติชี้ชะตา 18 ก.ย.

การประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาสำนวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญจากกรณีนายสุเทพได้ส่งหนังสืองรมว.วัฒนธรรมเพื่อส่งสส. พรรคประชาธิปัตย์และบุคคลอื่นรวม 19 คนไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี2552 โดยวันนี้เป็นการซักถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา 12 คำถาม และนายสุเทพผู้ถูกกล่าวหา 11 คำถาม ของผ่านคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้นจำนวน 8 คน

ทั้งนี้กมธ.ได้เริ่มซักถามนายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหา 12 ประเด็น เช่น มีการนำผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ให้ยกคำร้องกรณีดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาประกอบด้วยหรือไม่ รวมถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยกคำร้องกรณีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.)ที่มีคำสั่งแต่งตั้งสส.พรรคเพื่อไทยมาช่วยงานศปภ.จะมีผลผูกพันต่อป.ป.ช.หรือไม่ และในเมื่อชี้มูลความผิดแล้วทำไมไม่ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลเพื่อดำเนินคดีอาญาด้วย

นายกล้านรงค์ชี้แจงว่า แม้กกต.จะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าป.ป.ช.ต้องวินิจฉัยในแนวทางเดียวกับกกต. โดยป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยอิสระ และเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนการหยิบยกคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาต่อสู้ภายหลังป.ป.ช.มีมติชี้มูลไปแล้วนั้น ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำตัดสินได้ เพราะเป็นคนละกรณีกัน  แต่กรณีนายสุเทพเป็นคนละกรณีกัน เพราะเป็นการเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของข้าราชการ ทั้งที่สส.สามารถช่วยงานด้วยวิธีอื่นได้ อาทิ การตั้งญัตติหรือกระทู้ถามในสภา

นายกล้านรงค์ย้ำว่า สำหรับเหตุผลที่ไม่ดำเนินคดีอาญาเพราะเห็นว่ากรณีนี้เป็นการส่อกระทำผิดเท่านั้นยังไม่มีองค์ประกอบความผิดทางอาญา

ขณะที่ กมธ.ได้ซักนายสุเทพ11ประเด็น อาทิ มูลเหตุจูงใจในการส่งสส.ไปช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม มีการสั่งการ หรือบังคับให้รัฐมนตรีต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ และในฐานะรองนายกฯมีอำนาจหน้าที่ใดเกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม  และนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 17/2555  ของ พล.ต.อ.ประชา มาประกอบการต่อสู้คดีหรือไม่

นายสุเทพชี้แจงว่า ไม่มีเจตนาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เพราะทำด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และภายหลังเมื่อมีคนท้วงติงว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายก็ได้ส่งคนไปรับหนังสือคืน และจนถึงขณะนี้สส.ทั้ง 19 คน ไม่เคยเข้าไปทำงานในกระทรวงฯแต่อย่างใด ทั้งนี้ป.ป.ช.เคยเชิญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าไปชี้แจงโดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นการก้าวก่าย แทรกแซง

"ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญ 17/2555 เคยวินิจฉัยมาตรา 266(1) ว่าสส.สามารถช่วยเหลือความเดือดร้อนแก่ประชาชนได้หรือนำความเดือดร้อนให้รัฐบาลรับทราบ  ดังนั้นกรณีที่ป.ป.ช. ระบุว่า สส.มีหน้าที่เสนอญัตติ หรือ ตั้งกระทู้ถาม เท่านั้นไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันทุกองค์กร" นายสุเทพ กล่าว

หลังจากกมธ.ซักถามเป็นที่เรียบร้อย นายสุรชัย ได้แจ้งว่า ป.ป.ช.  และนายสุเทพ ได้ยืนยันแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาในวันที่ 17 ก.ย.ดังนั้นจะมีการนัดประนัดประชุมวุฒิฯในวันดังกล่าว ก่อนลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 18 ก.ย. นี้