posttoday

ป.ป.ช.-สุเทพ โต้เดือดแทรกแซงวธ.

07 กันยายน 2555

ป.ป.ช.-สุเทพ โต้เดือดข้อหาแทรกแซงกระทรวงวัฒนธรรม ‘กล้านรงค์’ ยันความผิดสำเร็จแล้วเข้า 4 องค์ประกอบความผิด ‘สุเทพ’ ค้านความผิดยังไม่สมบูรณ์ เพราะสส.ยังไม่ได้เข้าไปทำงานจริง

ป.ป.ช.-สุเทพ โต้เดือดข้อหาแทรกแซงกระทรวงวัฒนธรรม ‘กล้านรงค์’ ยันความผิดสำเร็จแล้วเข้า 4 องค์ประกอบความผิด  ‘สุเทพ’ ค้านความผิดยังไม่สมบูรณ์ เพราะสส.ยังไม่ได้เข้าไปทำงานจริง

การประชุมวุฒิสภา ได้เริ่มพิจารณาเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญจากกรณีนายสุเทพได้ส่งหนังสืองรมว.วัฒนธรรมเพื่อส่งสส. พรรคประชาธิปัตย์และบุคคลอื่นรวม 19 คนไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี2552
               
โดยนายกล้างนรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะตัวแทนของผู้กล่าวหาได้แถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของป.ป.ช. ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แถลงคัดค้านโต้แย้ง
               
นายกล้านรงค์ แถลงต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วว่าการที่นายสุเทพได้มีหนังสือที่นร.0405/(ลร.1/ว/600) ลงวันที่ 25 ก.พ.2552ถึงรมว.วัฒนธรรมเพื่อส่งสส. พรรคประชาธิปัตย์และบุคคลอื่นรวม 19 คนไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม ไม่เป็นการกระทำที่อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงวัฒนธรรม

ป.ป.ช.-สุเทพ โต้เดือดแทรกแซงวธ.

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้คำสั่งที่สำนักนายกรัฐมนตรีที่330/2551 ลงวันที่30ธ.ค.2551 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้นายสุเทพกำกับกระทรวงวัฒนธรรมนั้นกำหนดให้กำกับงานของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นการทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น นายสุเทพจึงไม่มีอำนาจในการบริหารราชการกระทรวงวัฒนธรรมโดยตรงและไม่ใช่เป็นผู้บังคับบัญชาของรมว.วัฒนธรรม ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำในกระทรวงวัฒนธรรม และไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของสส.เท่ากับไม่มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งหรือจัดส่งสส.และบุคคลอื่นไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรมแต่อย่างใด
              
 "การกระทำดังกล่าวไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจไว้และมิใช่เป็นการแต่งตั้งบุคคลหรือคณะกรรมกการในหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจตามความหมายในคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้น กรณีนี้ถือเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของรมว.วัฒนธรรม ไม่ได้เป็นการกระทำในกรอบอำนาจหน้าที่ในกระทรวงวัฒนธรรมที่นายสุเทพได้รับมอบหมายให้กำกับราชการแทนนายกฯ" นายกล้านรงค์ กล่าว
               
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ป.ป.ช.ได้พิจารณาในประเด็นที่นายสุเทพได้ขอถอนเรื่องการส่งสส.ไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรมคืนแล้วมีความเห็นว่าป.ป.ช.ถือว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดสำเร็จแล้วเข้าลักษณะองค์ประกอบ 4 ประการ คือ 1.คิด 2.ตัดสินใจ 3.ตระเตรียม และ 4.ลงมือ ซึ่งกรณีได้คิดที่จะส่งคนไปช่วยงาน ตัดสินใจส่งคนไปช่วยงาน ตระเตรียมร่างหนังสือส่งคนไปช่วยงาน และลงมือด้วยการส่งหนังสือไปถึงรัฐมนตรี
               
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ส่วนคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2555 ลงวันที่ 20 เม.ย.2555 ซึ่งยกคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยสมาชิกภาพของสส.พรรคเพื่อไทยที่เข้าไปช่วยงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) และนายสุเทพนำเอาขึ้นมาเป็นหลักฐานใหม่เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาในภายหลัง ป.ป.ช.ความเห็นว่าเป็นคนละส่วนกันเนื่องจากในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหน้าที่ 11 ระบุว่า "เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่ได้เกิดมหาอุทกภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยมีประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก ในสภาวะวิกฤตดังกล่าวไม่เพียงแต่ฝ่ายบริหารเท่านั้นที่ต้องแก้ไขปัญหาแต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกหมู่เหล่า สส.ไม่อาจหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมการแก้ไขวิกฤตดังกล่าวได้" แต่กรณีของนายสุเทพไม่ได้เข้าลักษณะเดียวกับคำสั่งศาลดังกล่าว
               
"การปฏิบัติหน้าที่ของป.ป.ช.ได้ยึดมั่นและตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญในเรื่องของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและในขณะเดียวกันป.ป.ช.ได้วินิจฉัยเรื่องโดยไม่มีอคติไม่มีสี ไม่มีฝ่าย ผิดถูกว่ากันไปตามพยานหลักฐานและจะไม่ยอมอยู่ภายใต้การกดดันใดๆทั้งสิ้น" นายกล้านรงค์ กล่าว
               
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ป.ป.ช.ไม่ได้ดำเนินคดีอาญาเพราะพฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นความผิดในทางอาญาเป็นเพียงว่าส่อกระทำความผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีอาญาแต่ประการใด
               
ด้านนายสุเทพ แถลงคัดค้านข้อกล่าวทั้งหมดว่า การส่งหนังสือถึงรมว.วัฒนธรรมไม่ได้เป็นการส่งคนไปช่วยราชการแต่เป็นการแจ้งความประสงค์ของสส.พรรคประชาธิปัตย์ที่อาสาไปช่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรม ปรากฏว่าเมื่อมีผู้ทักท้วงว่าอาจขัดกฎหมายจึงได้ขอรับหนังสือคืนเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 โดยรมว.วัฒนธรรมยังไม่ได้เปิดอ่านหนังสือฉบับนั้นและสั่งการใดๆทั้งสิ้น ข้อเท็จจริง คือ ไม่มีสส.ตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปทำงานในกระทรวงวัฒนธรรมแต่เพียงคนเดียว
               
"ตอนส่งหนังสือไปตามความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยกันให้งานของกระทรวงวัฒนธรรมไปได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ" นายสุเทพ กล่าว
               
นายสุเทพ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ได้มีนายพิชา วิจิตรศิลป์ ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้วินิจฉัย แต่กกต.มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่30มิ.ย.2552ให้ยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าการที่ส่งหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งให้รัฐมนตรีรับทราบมีสส.และบุคคลอื่นๆรวม 19 คนประสงค์ไปช่วยงานที่กระทรวงวัฒนธรรมเท่านั้น ถ้อยคำในหนังสือไม่ได้มีลักษณะเป็นคำสั่งที่สั่งการให้ต้องปฏิบัติตามและรมว.วัฒนธรรมมีอำนาจใช้ดุลยพินิจด้วยตัวเองได้
               
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่7/2553 ในคดีที่มีผู้ร้องเรียนนายกษิต ภิรมย์ ในฐานะรมว.ต่างประเทศ ระบุว่า การก้าวก่ายแทรกแซงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานถูกกระทบจากอำนาจของฝ่ายการเมืองให้ต้องกระทำการที่ไม่เป็นกลางในอำนาจหน้าที่ของตน แต่ในกรณีของกระทรวงวัฒนธรรมคิดว่ายังไม่มีลักษณะกระทบต่อการตัดสินใจของข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม
               
นายสุเทพ กล่าวว่า การที่ป.ป.ช.วินิจฉัยว่ารู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญแต่ยังจงใจฝ่าฝืนเพราะมีเจตนาพิเศษ อยากเรียนต่อที่ประชุมว่าจนปัจจุบันส่วนตัวก็ยังเชื่ออยู่ว่าการที่สมาชิกรัฐสภาจะไปช่วยงานราชการโดยไม่มีตำแหน่งไม่รับเงินเดือนไม่ได้ผลตอบแทนใดเพียงแต่เป็นงานในลักษณะอาสาช่วยงานราชการเพื่อนำข้อมูลข่าวสารไปบอกกล่าวประชาชนหรือนำปัญหาของประชาชนมาบอกกับผู้บริหารไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
               
"ผมมีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจอย่างนี้จริงๆ ถ้าผมทราบตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็จะไม่ฝ่าฝืน มีผู้รู้ทางกฎหมายบอกผมว่าคนจะทำความผิดก็ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ ผมยืนยันว่ามีเจตนาที่สุจริตหวังประโยชน์ทางราชการไม่ได้มีเถยจิตเป็นโจรไม่ได้คิดร้ายในการทำหนังสือฉบับนี้ไม่มีเจตนาทุจริตทั้งสิ้น" นายสุเทพ กล่าว
               
ทั้งนี้ภายหลังทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นการแถลงเปิดคดีแล้วที่ประชุมวุฒิสภากำหนดให้มีการประชุมวันที 11 ก.ย.เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการซึ่งได้รับมอบหมายจากสว.ดำเนินการซักถาม จากนั้นในวันที่ 17 ก.ย.เป็นวันแถลงปิดคดีทั้งสองฝ่าย และ กำหนดลงมติว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่ในวันที่ 18 ก.ย.