posttoday

นักวิชาการน้ำชี้มนุษย์ต้นเหตุทำน้ำท่วม

25 สิงหาคม 2555

ปราโมทย์ย้ำมนุษย์ตัวการทำน้ำท่วมอย่าโทษธรรมชาติ เหตุบุกรุกพื้นที่ไร้ขีดจำกัด แนะปรับตัวยอมรับพร้อมร่วมหาทางแก้ไขเพื่ออนาคต

ปราโมทย์ย้ำมนุษย์ตัวการทำน้ำท่วมอย่าโทษธรรมชาติ เหตุบุกรุกพื้นที่ไร้ขีดจำกัด แนะปรับตัวยอมรับพร้อมร่วมหาทางแก้ไขเพื่ออนาคต

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์  เมื่อเวลา 09.00 น. กรุงเทพมหานครร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาโครงการ “เสริมสร้างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำภาคประชาชน” โดยได้เชิญตัวแทนประชาชนจากเขตต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันออกกทม.มาร่วมงานดังกล่าว เช่น หนองจาก บางกะปิ บึ่งกุม คันนายาว ลาดกระบัง ประเวศ มีนบุรี คลองสามวา และสะพานสูง อย่างไรก็ดี ภายในงานยังได้มีการจัดนิทรรศการถึงการแก้ไขปัญหา รวมถึงอธิบายขั้นตอนการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

โดยนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายเรื่อง “เรียนรู้ธรรมชาติมวลน้ำขนาดใหญ่” ว่า อยากให้ประชาชนเรียนรู้ธรรมชาติในพื้นที่กทม.และปริมณฑล และอยากให้เรียนรู้อุทกภัยในอดีตเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต

ทั้งนี้ จากการศึกษาและวิเคาระห์จากอดีต ระบบนิเวศน์ของประเทศไทย มีความเสื่อมโทรมากโดยเฉพาะพื้นที่กทม. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงปัจจุบัน และเกิดผลกระทบรุนแรงมาก จนกระทั่ง พ.ศ. 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ จนถือเป็นมหาอุทกภัย ดังนั้น ในอนาคตการเกิดอุทกภัยจะเป็น 3 ปี เกิดทีและรุนแรง

อย่างไรก็ตาม พื้นที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพราะเสี่ยงต่ออุทกภัย ทั้งนี้ ในอนาคตจะเกิดความรุนแรง ความถี่เหมือนในอดีต แต่ยืนยันว่าปีนี้จะไม่มีปัญหาดังกล่าวอย่างแน่นอน แต่ในปี 2557-2558 ตนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะมีหรือไม่ รุนแรงมากน้อยแค่ไหน

นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากทม.ยังไม่มีระบบปกป้องตัวเองดีเท่าที่ควร ดังนั้น จำเป็นต้องมาทบทวน เพราะธรรมชาติเป็นเรื่องใหญ่เหนือการควบคุม ต้องมีการทำความเข้าใจ หากเกิดฝนตกหนักบริเวณ ปิง วัง ยม น่าน แน่นอนว่าการระบายน้ำต้องผ่านกทม.ลงสู่อ่าวไทย หากแก้ไม่ได้แน่นอนว่า กทม.ก็ต้องรับน้ำ

ส่วนการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างเป็นระบบ และของที่ใช้แก้ไขต้องชัดเจน เช่น การขุดลอกคูคลอง ซึ่งกทม.เป็นพื้นที่ตอนล่างอยู่ในอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงเดือน 11 และ 12 เมื่อน้ำปะทะกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดน้ำท่วม ดังนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีรับสั่งว่าต้องเรียนรู้ ปรับตัว

อย่างไรก็ดี มนุษย์ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะที่ผ่านมามีการใช้ที่ดินไร้การควบคุม เช่น นิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมากมายและตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งในอดีตใช้เป็นที่รับน้ำ อาทิ อยุธยา เมื่อน้ำท่วมมาหากใช้ที่ดินสอดรับธรรมชาติเป็น ก็ไม่เกิดความปั่นป่วน

นอกจากนี้ การขยายตัวของชุมชน ต้องเป็นระบบไม่ใช่สะเปะสะปะ ไปขวางจนน้ำไม่มีทางไหล เช่น รุกล้ำพื้นที่ตามริมคลอง จนทำให้ตื้นเขิน ซึ่งยอมรับว่าไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งหมดจึงเป็นปัญหาของมนุษย์ นอกจากนี้ สิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาแผ่นดินทรุด จากการวัดเมื่อปี 31 ในรอบ 30 ปี ทรุดสูงสุด 80 ซม. ถึง 1 เมตร อาทิ มีนบุรี หนองจอก เรื่อยไปด้านตะวันออกและตะวันตกของกทม. แผ่นดินทรุดก็เพราะมนุษย์ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการสูบน้ำบาดาลมาใช้

“ดังนั้น ฝนตกหนักไม่ต้องวัดเป็นตัวเลข เป็นธรรมชาติห้ามไม่ได้และต้องเข้าใจมัน และควรคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ไม่ใช่มีอะไรก็ไปโทษธรรมชาติ เมื่อมันเกิดก็ต้องเตรียมระบบ เพื่อดูว่าจัดการอย่างไร เมื่อปี 54 ต้องตระหนักรู้ว่า น้ำธรรมชาติล้นตลิ่ง ตั้งแต่ นครสวรรค์ ชัยนาท ลงมาก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย แต่มันไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน เพราะมีนิคมบางแห่งไปตั้งผิดที่ อีกทั้ง มีการใช้แม่น้ำสายเดียวเพื่อระบายน้ำ แม้จะทำให้เร็วภายในวเลา 3 เดือน แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล นอกจานกี้ ปัญหาน้ำทะเลหนุนก็มีส่วนสำคัญ แต่ไม่ผดปกติ”นายปราโมทย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากคิดย้อนไปในอดีตสภาพภูมิประเทศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ หากเป็นยังเช่นในอดีตปัญหาอุทกภัยก็คงไม่เกิด เช่น คลองรังสิตประยูรศักดิ์ จ.ปทุมธานี ในอดีตเป็นแม่น้ำกว้าง แต่ปัจจุบันมีถนน หมู่บ้านจัดสรรเข้ามา ทำให้คลองแคบลง ประกอบกับทุ่งรังสิตที่ใช้รับน้ำได้กลับหายไป ขณะที่ คลองพระพิมล จ.นนทบุรี จากที่เคยมีนาข้างเคียงรองรับ กลับมีหมู่บ้านจัดสรรเข้ามา

ส่วนการไม่มีระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ เช่น คลองที่มีมาตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันกลับไม่มีการขุดเพิ่ม ฟลัดเวย์ธรรมชาติในพื้นที่ตะวันออกของกทม. ตามที่ในหลางทรงมีพระราชดำรัสเพื่อใช้ในการรับน้ำ แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกด้วยหมู่บ้านจัดสรรจนไม่มีพื้นที่ใช้รับน้ำ ดังนั้น ประชาชนความมีสติ รู้ตัว เข้าใจธรรมชาติ และปรับตัว อีกทั้ง ต้องตระหนักรู้ พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เพราะรัฐบาลไม่สามารถสู้ได้ และชุมนุมต้องไปคิดกันว่าอะไรคืออะไร

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากนักเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วม ถ้าหากมีการเข้าเว็ปไซด์กรมชลประทาน สำนักงานระบายระบายของกทม. กรมอุตุนิมยมวิทยา และเว็ปไซด์แก้มลิง ก็จะสามารถบรรเทาสถานการณ์ไปได้ในระดับหนึ่ง   

นอกจากนี้ ที่สำคัญหากกทม.สามารถขยายข้อมูลไปยังประชาชนด้วยภาษาที่ง่าย เพื่อให้ประชาชนประเมินสถานการณ์ว่าตัวเองจะรอดหรือไม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมาก อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าเขื่อนที่มีผลกระทบต่อกทม.โดยตรง คือ ภูมิพลและสิริกิต์ ดังนั้น ประชาชนต้องติดตามระดับน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนอย่างใกล้ชิด

นายศศิน กล่าวยอมว่า กทม.เป็นลักษณะพื้นที่ราบต่ำ ซึ่งเกิดจากดินตะกอนของแม่น้ำเจ้าพระยา จนกลาบเป็นแผ่นดิน ดังนั้น หากจะหลบจากภัยน้ำท่วม จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่น้ำท่วมในปีที่ผ่านมามีปัจจัยไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เป็นโรควิศกร ในการกั้นและระบายน้ำ

“สิ่งที่พบหลังน้ำท่วม 70-80% ไม่มีใครพูดถึงความทุกข์จากปัญหาน้ำท่วม มีแต่พูดถึงความสุขและแบ่งปันประสบการณ์ช่วงน้ำท่วม แต่ที่วิกฤติต่อประเทศ คือ เศรษฐกิจ แต่เรายังสามารถทำมาหากินกันได้ ดังนั้น ประชาชนควรติดตามข้อมูลในเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำอย่างใกล้ชิด ส่วนกทม.ต้องเผยแพร่ข้อมูลให้ทั่วถึงและเข้าใจ”นายศศิน กล่าว