posttoday

รัฐบาลเร่งงานปราบโกงโชว์

24 สิงหาคม 2555

กพร. เร่งงานปราบโกงภาครัฐเน้นป้องกันสินบนงานทะเบียน ออกโฉนดไม่ชอบ งบเยียวยา จำนำข้าว การันตีประเมินผลงาน1กรม1กันโกงทุก3เดือน วางเป้าลดดัชนีคอร์รัปชั่นไทยให้ดีขึ้นในระดับสากล

กพร. เร่งงานปราบโกงภาครัฐเน้นป้องกันสินบนงานทะเบียน ออกโฉนดไม่ชอบ งบเยียวยา จำนำข้าว การันตีประเมินผลงาน1กรม1กันโกงทุก3เดือน วางเป้าลดดัชนีคอร์รัปชั่นไทยให้ดีขึ้นในระดับสากล

 
​​ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึง การดำเนินการตามโครงการสร้างความโปร่งใส ในการปฏิบัติราชการ (1 กรม 1 ป้องกันโกง ) ว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินโครงการฯ โดยให้ส่วนราชการและจังหวัดจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ เพื่อมุ่งพัฒนาระบบราชการให้มีความโปร่งใสอย่างยั่งยืน โดยเน้นการแก้ที่สาเหตุของปัญหา คือ ขั้นตอนและระบบการทำงาน ที่ต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาที่หน่วยงานของตนเองก่อน

​ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา นับแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 พร้อมทั้ง มอบหมายให้ส่วนราชการและจังหวัดดำเนินการตามโครงการฯ ดังกล่าว และจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ได้มีข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว จำนวน 128 กรม 71 จังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติด้านงบประมาณ และคาดว่าจะสามารถมอบทุนดำเนินการสำหรับหน่วยงานที่ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ ผ่านแล้วได้ ภายในต้นเดือนกันยายน 2555 นี้

รัฐบาลเร่งงานปราบโกงโชว์ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร.

 

​นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้วางแนวทางในการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการ และวัดผลสำเร็จของโครงการ โดยมีแนวทางใน 2 ประเด็น ประกอบด้วย   (1) การติดตามประเมินความก้าวหน้าการดำเนินการ วัดด้านประสิทธิภาพ ผลผลิต และผลลัพธ์และ     (2) การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน โดยแบ่งกลุ่มย่อยตามประเภทกระบวนงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และร่วมกำหนดรูปแบบ(Model) ที่จะนำไปขยายผลต่อยังหน่วยงานที่มีภารกิจหรือประเภทกระบวนงานใกล้เคียงกัน ซึ่งการแบ่งกลุ่มกระบวนงาน เพื่อจัดกลุ่มย่อยของส่วนราชการ อาจแบ่งได้ตามประเภทกระบวนงาน เช่น กระบวนงานที่ต้องใช้ดุลยพินิจ การจัดซื้อจัดจ้าง การให้บริการ การออกใบอนุญาต การสรรหาคัดเลือก จัดจ้างที่ปรึกษา และกระบวนงานการพัฒนาภายในองค์การ เป็นต้น หรือตามแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม หรือการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน เป็นต้น สำหรับจังหวัด แบ่งตามประเภทกระบวนงานหลักๆ ที่เสนอมา ได้ 5 ประเภท ได้แก่

1. กระบวนงานเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน
2. กระบวนงานเกี่ยวกับที่ดิน (การออกหนังสือแสดงสิทธิ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การรังวัด ออกโฉนด รวมถึงการจัดที่ทำกิน)
3. กระบวนงานเกี่ยวกับการรับจำนำข้าว และสินค้าเกษตรกรรม
4. กระบวนงานเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ
5. กระบวนงานเกี่ยวกับการให้บริการ ช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชน
แนวทางการติดตามประเมินผล รอบ 3, 6 และ 9 เดือน มีกรอบดำเนินการ ดังนี้o
ส่วนราชการและจังหวัดรายงานความก้าวหน้า รอบ 3, 6 และ 9 เดือน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (อยู่ระหว่างออกแบบระบบ)
o
คณะกรรมการฯ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการในพื้นที่ปฏิบัติจริง รอบ 9เดือน โดยสุ่มตัวอย่างหน่วยงานหรือคัดเลือกข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ ที่น่าสนใจในแต่ละประเภทของกระบวนงานเพื่อสอบทาน ให้คำปรึกษา และแนะนำในการดำเนินการตามข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
o
จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing Knowledge) ทุก 3, 6 และ 9 เดือน

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ กล่าวสรุปถึงผลการดำเนินการตามข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงฯ ของส่วนราชการและจังหวัดในภาพรวมว่าจะได้ทำการวิเคราะห์สรุปผล รูปแบบและแนวทางปฏิบัติจากการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้างต้น   นอกจากนี้แล้วในขั้นตอนต่อไป จะขยายกลุ่มเป้าหมายการดำเนินงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจะให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของภาคราชการให้มากยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย จากผลสำรวจสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก และสหรัฐฯ รวม 16 ประเทศ โดยสถาบันวิจัย PERC (Political and Economic Risk Consultancy) พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากปี 2554 คะแนนอยู่ที่ประมาณ 7.55 ณ วันนี้อยู่ที่ 6.57 ในปี 2555 ถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันผลักดันสร้างความโปร่งใสให้ประเทศไทยปราศจากคอร์รัปชั่น และคาดหวังว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นจนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว จะส่งผลให้อันดับการคอร์รัปชั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติดีขึ้นด้วย