posttoday

อัดจำนำข้าวเปิดเสรีทุจริต

15 สิงหาคม 2555

หมอวรงค์ซัดจำนำข้าวเปิดเสรีทุจริต โรงสีโกยอื้อร้อยล้าน เกิดระบบเวียนเทียนข้าว-เก็บหัวคิว ร้องรื้อใบประทวนคืนเงินชาวนา

หมอวรงค์ซัดจำนำข้าวเปิดเสรีทุจริต โรงสีโกยอื้อร้อยล้าน เกิดระบบเวียนเทียนข้าว-เก็บหัวคิว ร้องรื้อใบประทวนคืนเงินชาวนา

อัดจำนำข้าวเปิดเสรีทุจริต

การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ในวาระ 2-3 ฝ่ายค้านยังคงลุกขึ้นอภิปรายโจมตีโครงการจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง  โดย นายเกียรติ สิทธิอมร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  ลุกขึ้นอภิปรายว่า ที่รัฐบาลระบุว่าการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดจะทำให้ราคาตลาดโลกขยับสูงขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง เพราะราคาข้าวขึ้นอยู่กับระบบอุปสงค์และอุปทานโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ปลูกข้าวเพียง 6 % ของโลกแล้วจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นได้

“ขณะนี้เราถูกประจานจากทั่วโลก นิตยสาร economist  ระบุว่านโยบายสร้างปัญหาให้เกษตรกรและรัฐบาลเสี่ยงขาดทุนสูงในการขายข้าว ด้านรอยเตอร์บอกว่านโยบายจำนำข้าวต้องใช้เงินสูงถึง 6 แสนล้านบาทและจะขายข้าวได้ยาก เพราะมีคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โจมตีว่าล้มเหลว คอร์รัปชั่นสูง และส่งผลให้จีดีพีโตเพียง 1% ขณะที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐยังชี้อีกว่าการจำนำข้าวอาจนำไปสู่หายนะของการส่งออกข้าวไทย”นายเกียรติกล่าว

ทั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลคือ 1.5 -2 หมื่นบาท แต่ตัวเลขของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.55 ระบุว่า ค่าข้าวเปลือกเจ้าชาวนาได้ราคาตั้งแต่ 9,600 บาท –10,467 บาท ดังนั้นอยากถามว่า 5 พันบาทไปอยู่ในกระเป๋าใคร

นายเกียรติ กล่าวต่อว่าโครงการดังกล่าวยังเสี่ยงต่อการขัดกติกาขององค์การค้าโลก (WTO)  เพราะนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พูดเองว่าไทยมีสิทธิใช้งบประมาณจำนำไม่เกิน 1.9 หมื่นล้านบาทจากการลงนามตั้งแต่ปี 2537 กับ WTO ถ้าคำนวณจากค่าผลผลิตข้าวเปลือกของประเทศไทยทั้งประเทศ 33 ล้านตัน ขาดทุนตันละ 5 พันบาท เท่ากับขาดทุน 1.5 แสนล้านบาทต่อปี เกิน 1.9 หมื่นล้านไปเยอะ เมื่อกลับมาดูคำอธิบายของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลังที่ยืนยันว่าไม่ขาดทุนหากยังไม่ขายข้าว อยากบอกนายกิตติรัตน์ว่าข้าวไม่ใช่หุ้น หากเก็บไว้นานจะยิ่งเสื่อม ทั้งยังเสียค่าเก็บรักษาข้าว จ่ายค่าดอกเบี้ย โกดัง ไซโล เสียเป็นเงิน 4.1 หมื่นกว่าล้านบาท

ด้าน น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม  สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า พบว่าการโกงมี 3 รูปแบบ คือ โกงความชื้น ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการกำกับติดตามโครงการจำนำข้าวที่มีบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน มีมติชัดเจนเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ปี 54 กำหนดว่าถ้าความชื้นสูงเกินไป ให้คิดความชื้นสูงสุดเพียง 30%  แต่ชาวนาหลายรายถูกโกงความชื้นที่ตัวเลข 34-37%  และยังพบว่ามีการโกงตาชั่ง เมื่อชั่งน้ำหนักได้ 10 ตัน แต่เมื่อลงข้อมูลน้ำหนักเบื้องต้นในใบประทวน กลับเขียนตาชั่งเริ่มต้นที่ 8 ตัน นอกจากนี้ยังมีการโกงสิ่งเจือปนที่พบในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนมาก

“ดังนั้นผู้ที่ถูกโกงใน 3 กรณีนี้ทางการต้องรื้อใบประทวนให้หมด คืนความเป็นธรรมให้ชาวนา” น.พ.วรงค์กล่าว

น.พ.วรงค์ กล่าวต่อว่า ที่หนักข้อที่สุด คือ พบว่าโครงการนี้มีการเปิดเสรีทุจริตจำนวนมากจากการสวมสิทธิครั้งมโหฬาร เห็นได้จากการที่นักวิชาการได้ชี้ว่าข้าวนอกระบบโผล่เพิ่มถึง 3 ล้านตัน  จ.ร้อยเอ็ดมีข้าวที่มาจำนำเกินกว่าที่ผลิตได้ถึง176% จ.มหาสารคาม 112% จ.กำแพงเพชร 223%  จ.เชียงใหม่ 185% จ.พิษณุโลก 144% จ.พิจิตร 142% จ.เชียงราย 135%

น.พ.วรงค์ กล่าวอีกว่า หากตรวจสอบก็ไม่ยากโดยสามารถจับภาพจากกล้องวงจรปิดได้ว่าผู้ที่นำข้าวมาจำนำนั้นเป็นชาวนาหรือเกษตรกรหรือไม่ แต่พบว่ากล้องวงจรปิดไม่สามารถใช้การได้ ประกอบกับรัฐมนตรีกลับไม่ให้ความสำคัญ โรงสีแต่แห่งจึงโกยรายได้หลายร้อยล้านถึงพันล้านการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีส่งตำรวจ 3-4 นายไปเฝ้าโรงสีนั้นไม่ได้ช่วยอะไร  เพราะไปจับชาวนาที่ขายสิทธิตนเองได้เพียงเกวียนละ 1 พันบาท ทางที่ดีต้องจับปลาใหญ่ที่เป็นโรงสีให้ได้

“ผมกับเพื่อน สส.ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าทุกโรงสีโกงได้อย่างเสรี เพราะวงจรปิดเจ๊งหมด จอดำ ตรวจสอบไม่ได้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ตั้งเจ้าหน้าที่ 1 คนคุม 8 โรงสี แต่เวลาไปเซ็นชื่อโรงสีนั้น อีก 7 โรงสีเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ เขาให้เซ็นอะไรก็เซ็น มันจึงเกิดการโกงเสรีภายใต้โครงการจำนำข้าว ถามว่าคณะกรรมาธิการทราบเรื่องนี้หรือไม่” น.พ.วรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีการนำเอาข้าวมาเวียนเทียน คือ เอาข้าวที่ไปประมูลมาเปลี่ยนกระสอบใหม่ และเวียนไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าโกดังของรัฐบาลจึงมีแต่ข้าวเสีย เพราะข้าวดีถูกเอาไปขายหมด และยังพบอีกว่าอำนาจในการตรวจสอบคุณภาพข้าวของรัฐทั้งหมดตกอยู่กับบริษัท surveyer ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพข้าว ซึ่งชาวบ้านแจ้งมาว่ามีกระบวนการเก็บหัวคิวจากบริษัท surveyer จากรถที่เอาข้าวมาเก็บในโกดังของรัฐบาล ถ้าข้าวดีตรงมาตรฐานเก็บ 7 บาท ซึ่งจะมีการเก็บหัวคิวจาก 7 บาท – 100 บาทเป็นอย่างน้อย ถ้าข้าวเสื่อมสภาพก็เก็บแพงขึ้น ถ้าเป็นหอมมะลิจะสูงถึง 200 บาท