posttoday

ศาลปค.ยกฟ้อง13นักโทษค้านอภัยโทษ

07 สิงหาคม 2555

ครม.รับทราบศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง13นักโทษร้องครม.ยุคสมัครออกพรฎ.อภัยโทษไม่เป็นธรรม

ครม.รับทราบศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง13นักโทษร้องครม.ยุคสมัครออกพรฎ.อภัยโทษไม่เป็นธรรม

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เปิดเผยว่า  ครม.รับทราบผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีที่กลุ่มนักโทษเด็ดขาด 13 คน ได้ยื่นฟ้องครม.ชุดนายสมัคร  ที่ออกพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 อย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดี 13 ราย เป็นนักโทษเด็ดขาดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตในความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) คณะรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม ต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ นายกฯและครม.ได้ออกพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวโรกาสสำคัญ โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ไต่สวนเป็นกรณีฉุกเฉิน และขอคุ้มครองชั่วคราวระงับโทษประหารชีวิตของผู้ฟ้องคดีไว้ก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิตามพรฎ. อภัยโทษ โดยให้ได้รับการอภัยโทษประหารชีวิต ให้เหลือเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
           
แหล่งข่าว เปิดเผยว่า กลุ่มนักโทษ 13 ราย อ้างว่า ตามที่นายกฯและครม.ได้ออกพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ พศ.2553 โดยมาตรา 10 ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับนักโทษเด็ดขาดในคดีความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยคดียาเสพติดให้โทษ ซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ต้องก่อนหรือในวันที่พระราชทานกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ ใช้บังคับ จึงจะมีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษ ส่วนมาตรา 12 (1) ได้จำกัดสิทธินักโทษเด็ดขาดดังกล่าวที่คดีถึงที่สุดภายหลังวันที่พระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษพ.ศ.2550  ใช้บังคับ มิให้อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้
         
“กลุ่มนักโทษ 13 ระบุว่า จากมาตรา 10 และมาตรา 12(1)แห่งพรฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ทำให้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพราะถูกจำกัดสิทธิ  ซึ่งมาตราดังกล่าวไม่มีความเสมอภาคและไม่เป็นธรรมระหว่างนักโทษเด็ดขาดในคดียาเสพติดกับความผิดกับความผิดต่อชีวิตหรือคดีอื่นๆ การออกพรฎ.พระราชทานอภัยโทษของนายกฯและครม.ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษอันพึงมีพึงได้จากโทษประหารชีวิตเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต   บทบัญญัติสองมาตราจึงมีลักษณะเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการใช้ดุลพินิจมิชอบขัดต่อหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญปี 40  มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 30 การจำกัดสิทธิดังกล่าวจึงเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในการที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ กลับมิให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
         
ทั้งนี้ศาลปกครองเห็นว่า ผู้ถูกฟ้อง (นายกฯ  ครม. รมว.ยุติธรรม ) จะใช้ดุลพินิจถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฏีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ดังนั้นจะใช้ดุลพินิจดังกล่าวโดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ มิฉะนั้น จะเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายของศาลปกครอง ศาลจึงยกคำฟ้อง.