posttoday

ศาลรธน.เผยคำวินิจฉัยกลาง

26 กรกฎาคม 2555

ศาลรธน.เผยคำวินิจฉัยกลาง ย้ำแก้ยกฉบับต้องทำประชามติ เหตุต้องถามปชช.ในฐานะผู้สถาปนารธน.50 ยกเว้นแก้รายมาตราให้เป็นอำนาจของรัฐสภา

ศาลรธน.เผยคำวินิจฉัยกลาง ย้ำแก้ยกฉบับต้องทำประชามติ เหตุต้องถามปชช.ในฐานะผู้สถาปนารธน.50 ยกเว้นแก้รายมาตราให้เป็นอำนาจของรัฐสภา

เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ(http://www.constitutionalcourt.or.th)ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยที่18-22/2555 จำนวน 29 หน้าเรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งเป็นคดีที่มีการร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
               
สำหรับเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้มีความแตกต่างไปจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญมีเนื้อหา 4 ประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้
             
ประเด็นที่ 1ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่าในมาตรา68 วรรค 2 เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรค 1 ที่จะใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ 1.เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้เพราะอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรค 2 เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุดเพียงแต่มีหน้าที่ตรวจสอบ
         
อีกทั้งสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 นี้ มีหลักการสำคัญมุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ และการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพจึงเป็นมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้มีโอกาสตรวจสอบวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อระบบการปกครอง และเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญมิให้เกิดขึ้นได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2
         
ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าอำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมือง หรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจก่อตั้งองค์กรทั้งหลาย และถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมาย และก่อตั้งองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจการเมืองการปกครองเป็นอำนาจสูงสุด อันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ
         
เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญนั่นเองกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการแก้ไขกฎหมายธรรมดา สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายทั่วไป
         
การตรารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยคือ ประชาชนโดยตรง ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291
         
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 291
         
ประเด็นที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่
               
พิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตราเพื่อปฏิรูปการเมืองและปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญ2550 ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หรือปัญหาจากข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องต่อเนื่องในคราวเดียวกัน
               
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่... พ.ศ. ... จึงเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 อันถือได้ว่ามีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้มาจากการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มาทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 และกำลังเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 3 จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
               
อีกทั้งขั้นตอนการจัดตั้ง ส.ส.ร.ก็ยังไม่ได้เป็นรูปธรรม การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1)วรรค 2 ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติชัดแจ้งในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอมิได้
               
ประกอบกับบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พ.ศ. ... ให้เหตุผลว่าจะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป และบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวตามมาตรา 291/11 วรรค 5 ก็ยังได้บัญญัติคุ้มกันเพื่อรับรองการร่างรัฐธรรมนูญที่จะไม่กระทบถึงสาระสำคัญแห่งรัฐว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ และหากร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 291 (11) วรรค 6
               
อย่างไรก็ตาม หาก ส.ส.ร.ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปได้ รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ
               
ตามรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำการดังกล่าวในทุกช่วงเหตุการณ์ที่บุคคลนั้นทราบ ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยังมีผลบังคับใช้
               
ประการสำคัญ เมื่อพิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญจากฝ่ายถูกร้อง อาทินายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายอัชพร จารุจินดา ผู้แทนคณะรัฐมนตรี นายยงยุทธวิชัยดิษฐ ผู้แทนพรรคเพื่อไทยนายชุมพล ศิลปอาชา ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา และนายภราดรปริศนานันทกุล ล้วนต่างเบิกความถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ และผู้ถูกร้องทั้งหมดยังแสดงถึงเจตคติอันตั้งมั่นว่า จะดำรงคงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เช่นเดิม
         
พิจารณาแล้วจึงเห็นว่าข้ออ้างของผู้ร้องทั้ง 5 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 6 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ ข้ออ้างทั้งหมดจึงยังเป็นเพียงการคาดการณ์ หรือเป็นความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯและยังห่างไกลต่อการที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นตามที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอฟังได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้แต่อย่างใด
         
ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกร้องฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรค 1 ศาลจึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้
         
ประเด็นที่ 4 หากกรณีเข้าเงื่อนไขตามประเด็นที่ 3 ดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยต่อไป จะมีผลให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคได้หรือไม่
        
 เมื่อได้วินิจฉัยยกคำร้องกรณีดังกล่าวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ 4 อีก อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง