posttoday

"ปลอด"แจงใช้4เกณฑ์คัดเอกชนทำโครงการน้ำ

24 กรกฎาคม 2555

ปลอดแจงโครงการน้ำละเอียดยิบ ย้ำเวลา-ราคา-เทคนิค-ประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือกยันพ.ย.นี้ได้บริษัทแน่

"ปลอดประสพ" แจงโครงการน้ำละเอียดยิบ ย้ำเวลา-ราคา-เทคนิค-ประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญในการคัดเลือกยันพ.ย.นี้ได้บริษัทแน่ 

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เป็นประธานในการประชุมชี้แจงโครงการเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ

นายปลอดประสพเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้มีคณะกรรมการพิจารณาการคัดเลือกโครงการนี้ โดยมีตัวนายปลอดประสพ ในฐานะประธานกบอ. เป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง และมีคณะกรรมการ 16 คน โดยแบ่งออกเป็น หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง 6 คน และหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าปลัดกระทรวงอีก 5 คน โดยจะมี 2 คน ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยคนหนึ่งนึงคือประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ อีกคนคือ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นอกเหนือจากกรรมการโดยตำแหน่ง ยังมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน โดยทั้งหมด มีหน้าที่คือคัดเลือกข้อเสนอกรอบแนวคิดไปสู่การว่าจ้างในอนาคต และตรวจสอบในทางระเบียบราชการว่าด้วยการอนุมัติโครงการ

"ปลอด"แจงใช้4เกณฑ์คัดเอกชนทำโครงการน้ำ

“เนื่องจากโครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการชุดนี้ จึงมีหน้าที่นำข้อเสนอเรียนสู่รมว.วิทยาศาสตร์โดยตรง อย่างไรก็ตาม อย่ากังวลว่าอำนาจจะผูกขาดอยู่กับผมคนเดียว และจะทำอะไรเกินเลย เพราะมีคณะกรรมการตรวจสอบอีก 16 คน  และยังต้องตั้งอนุกรรมการอีกหลายชุดเพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายปลอดประสพกล่าว

ประธานกบอ.ชี้แจงอีกว่าวันนี้ ยังไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่มีสัญญาใด ๆ เกิดขึ้น และยังไม่มีการจ่ายเงินใด ๆ ให้ใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะมากล่าวหา ว่ามีคอรัปชั่น นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้เลือกใคร ไม่ได้จ่ายเงินใคร ทุกคนทำได้หมด และจะไม่มีการเลือกใครไว้ในใจ หรือปิดกั้นผู้ใด โดยในส่วนของบริษัทต่างประเทศ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายไทยทุกประการ จะไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะนำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาใช้อ้างก็ไม่ได้

“นับแต่วันนี้เป็นต้นไป จะมีเวลา 90 วันในการทำงาน 60 วันแรกจะเป็นการทำรีพอร์ท เพื่อให้เกิดกรอบแนวคิด อีก 30 วันจะเป็นการเรียกมาสัมภาษณ์เพิ่มเติม พร้อมส่งเอกสารประกอบภายหลัง จากนั้น จะเป็นการคัดเลือก ภายใน 30 วันจากนี้ จะต้องยืนยันว่าจะอยู่ในฐานะของผู้เสนอโครงการหรือไม่ หรือในฐานะของผู้เสนอแบบใด เช่น เป็นบริษัทเดียว เป็นกลุ่มที่ทำกิจการค้าร่วม (Consortium) หรือเป็นกลุ่มที่ทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) สำหรับบริษัทต่างชาติ ที่ไม่ใช่จดทะเบียนในไทย ต้องได้รับคำยืนยันจากสถานทูต ภายใน 30 วัน กรรมการจะตรวจสอบคุณสมบัติ และจะประกาศชื่อ โดยถ้าสามสิบวันนี้มั่นใจในตัวเอง ก็ทำโครงการไปก่อนเลย”  ประธานกบอ.กล่าว

ทั้งนี้ นายปลอดประสพกล่าวว่า โดรงการจะแยกออกเป็น 8 เรื่องตามกรอบแนวคิดที่เสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะตรงกับทีโออาร์ในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่ง 8 เรื่องนี้ จะไปคลุม 6 เรื่องของลุ่มน้ำรอง 11 ลุ่มน้ำด้วย นอกจาก 8 เรื่องแล้ว หากทำได้ ยังต้องเพิ่มอีก 2 เรื่อง ซึ่งไม่บังคับ แต่หากทำ จะได้พิจารณาเป็นพิเศษเรื่องความสามารถ คือเรื่องการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ (Trans basin Diversion) และแนวเขื่อนกั้นน้ำทะเล (Sea Barrier) ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในทีโออาร์แล้วเช่นกัน ซึ่งทั้งสองเรื่อง เป็นเรื่องที่ไม่ได้ครอบคลุมในวงเงินกู้ โดยบริษัทที่สนใจต้องแสดง รายละเอียดเรื่องงบประมาณมาด้วย หลังจากนั้น กรรมการจะทำลิสต์ ทั้ง 6 กลุ่มออกมา โดยแต่ละกลุ่มจะคัดเลือกไว้ 3 บริษัท หรือ 3 กลุ่มบริษัท แล้วจึงดำเนินการคัดเลือกต่อไป

นายปลอดประสพกล่าวเพิ่มเติมว่า 6 เรื่องจาก 8 เรื่อง 2 เรื่องที่ไม่ได้พูดถึงคือปลูกป่า และรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ ซึ่ง ไม่ว่าจะทำข้อใด ต้องพูดถึงทั้งสองเรื่องนี้ทุกครั้ง โดยเรื่องการปลูกป่านั้น รัฐบาลมีเงิน1หมื่นล้านบาทไว้ สำหรับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นคนทำ หากมีแนวคิด ก็สามารถเสนอได้ ส่วนการบริหารจัดการ เช่น การจัดตั้งกระทรวงน้ำ หรือการออกกฎหมายเกี่ยวกับน้ำ โดยการให้คะแนน ตามเกณฑ์ที่จะประกาศมี 8 ข้อได้แก่ 1.ความถูกต้อง และความครบถ้วน ของกรอบแนวคิด 2.ความสอดคล้องกับแผนแม่บท 3.ความเป็นไปได้และความเหมาะสมทางเทคนิค 4.ความเชื่อมโยงของระบบทั้งหมด 5.ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ 6.กรอบเวลา (ต้องการให้สั้นที่สุด) 7.ประมาณการค่าใช้จ่าย หรืองบประมาณ และ 8.ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยจากลิสต์กลุ่มละ 3 บริษัท กรรมการจะคัดเลือกให้เหลือ บริษัทเดียวเท่านั้น เพื่อทำสัญญาในอนาคต โดยบริษัทที่จะเริ่มการเจรจา จะเริ่มจากบริษัทที่ได้รับคะแนนสูงสุด โดยผู้ที่ได้สัญญาในอนาคต อาจมีหลายลักษณะ โดยใน 6 เรื่อง เรื่องอาจจะเป็น 6 บริษัทก็ได้ หรืออาจมีบริษัทที่ได้มากกว่า 1 หัวข้อก็ได้

“เนื่องจากเวลามีจำกัดมาก เพราะเป็นเรื่องของเงินกู้ และประเทศไทยมีเวลาน้อยในการต่อสู้กับภัยน้ำท่วม จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะใช้ระบบออกแบบและก่อสร้าง คณะกรรมการจึงจะให้มีกรรมการอีกสองชุด เข้ามาช่วยเหลือ บริษัทแรกคือ กลุ่มบริษัทด้านที่ปรึกษาการบริหารจัดการโครงการ และอีกกลุ่มคือ กลุ่มบริษัทด้านที่ปรึกษาด้านโครงสร้างวิศวกรรม โดยสองกลุ่มนี้จะเข้ามาช่วยประเมินการออกแบบและการก่อสร้าง บริษัทที่จะได้สัญญาในอนาคต จะต้องส่งการดีไซน์ให้สองบริษัทนี้ดูก่อนการก่อสร้างจริง 1 เดือน เพราะฉะนั้น งบประมาณ ค่าออกแบบรายละเอียด และค่าก่อสร้าง ก็จะพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ ขอย้ำว่า เรื่องเวลา เรื่องราคา เรื่องเทคนิค เรื่องประสบการณ์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจ” นายปลอดประสพกล่าว 

ส่วนเรื่องที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ติงว่า ทำไมจึงข้ามขั้นตอนของการศึกษาแล้วออกเป็นกรอบแนวคิดนั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า 80% นั้น เป็นข้อเสนอเดิมของหน่วยงานที่ทำเรื่องน้ำมาก่อน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า เป็นต้น ดังนั้น ก่อนที่ออกมาเป็นโครงการ ต้องผ่านการศึกษาล่วงหน้ามา แล้วทั้งสิ้น ถึงขั้นระบุพื้นที่ก่อสร้างไว้แล้วด้วยซ้ำไป โดยเหตุที่ต้องการกรอบแนวคิดอีกครั้ง เนื่องจาก ต้องการรู้ว่า แผนที่เขียนไว้เดิม ผู้ที่มาใหม่คิดอะไร ต้องการทำใหม่หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ แม่วงก์ แก่งเสือเต้น ถูกต้องหรือไม่ หรือมีการพูดเรื่องฟลัดเวย์ ฟลัดไดเวอร์ชั่น ซึ่งเป็นความคิดของคนไทยมานานแล้ว จำเป็นหรือไม่ และฐานใหม่ที่คิดมาควรเป็นอย่างไร

ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวว่ากำหนดการแรกที่ต้องทำคือการยื่นคุณสมบัติทีโออาร์ ซึ่งมีกำหนดการ 1 เดือน ให้ดำเนินการ กำหนดวันส่งคือ 24 ส.ค. โดยหลังจากนั้น กรรมการจะตรวจสอบการคัดเลือกและแจ้งผลการคัดเลือก ตามที่เสนอมา โดยใช้เวลาพิจารณา 1 เดือนเช่นกัน และจะแจ้งผลวันที่ 24 ก.ย. เมื่อได้รับการคัดเลือก บริษัทได้รับการคัดเลือกจะมีเวลา 3 เดือน ในการพิจารณากรอบแนวคิด ช่วงที่หนึ่งคือการส่งแบบร่าง ใช้เวลา 2 เดือน กำหนดส่ง 23 พ.ย. ช่วงที่สองคือการเข้ามาสัมภาษณ์ ใช้เวลา 1 เดือน กำหนดส่งคือ 28 ธ.ค. หลังจากนั้น คกก.จะพิจารณาคัดเลือกและประกาศผลการพิจารณาคัดเลือก โดยใช้เวลา ประมาณ 1 เดือน กำหนดเวลาประกาศผลการคัดเลือกเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2556