posttoday

ประชากร้าวยิ่งปิดถนนยิ่งไม่จ่าย

19 กรกฎาคม 2555

ประชากร้าวยิ่งปิดถนนยิ่งไม่จ่าย ยุแม่ค้าฟ้องแพ่งพวกปิดถนน โยนผู้เดือดร้อนฟ้องกทม.ผ่านศาลปกครอง

ประชากร้าวยิ่งปิดถนนยิ่งไม่จ่าย  ยุแม่ค้าฟ้องแพ่งพวกปิดถนน  โยนผู้เดือดร้อนฟ้องกทม.ผ่านศาลปกครอง 

นายประชา  เตรัตน์  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย   เปิดเผยว่า  กระทรวงมหาดไทย ไม่สามารถที่จะพิจารณาจ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ให้เท่ากันหมด 20,000 บาท ตามที่ร้องเรียน    อีกทั้งการปิดถนนก็เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง  ใครบังอาจปิดถนนก็ต้องดำเนินคดีย้อนหลัง และตอนนี้ได้มีการดำเนินคดีย้อนหลังแกนนำที่ปลุกระดมปิดถนนไปหลายกรณีแล้ว

ประชากร้าวยิ่งปิดถนนยิ่งไม่จ่าย นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ กทม. อันตราย พ่อค้าแม่ค้าขายผักโดนปิดถนนส่งไม่ทันผักเน่าเสีย เขาก็เดือดร้อน อย่างนี้บอกผ่านสื่อถึงผู้ที่เดือดร้อน สามารถฟ้องแพ่งผู้ชุมนุมได้เลย”  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายประชา กล่าวว่า ส่วนชาวบ้านที่เดือดร้อนเห็นว่า ได้รับเงินชดเชยน้ำท่วมไม่เป็นธรรม ท่านมีสิทธิ์ชุมนุมได้ ร้องเรียนได้ โดยกระทรวงมหาดไทยสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว  เชิญผู้เดือดร้อนมาชุมนุมในพื้นที่สาธารณะไม่ใช่ไปปิดถนน

“ยิ่งปิดถนนยิ่งไม่จ่ายเลย เป็นการสร้างวัฒนธรรมไม่ถูกต้อง   ต้องเข้าใจด้วยว่าความต้องการเงินชดเชยให้เท่ากันหมด 20,000 บาท มันทำไม่ได้ เพราะมีระเบียบกำหนดอยู่ ที่ผ่านมาจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบที่กำหนดไปแล้ว  58 จังหวัด ไม่มีปัญหา อีกทั้งบางครอบครัวก็ได้ไม่ถึง 2หมื่นบาทด้วยซ้ำ  แล้วนี่จะมาขอรับ 2 หมื่นบาททุกหลังเท่ากันหมด  ระเบียบไม่ได้ให้  อีกทั้งผู้ที่ได้รับค่าเยียวยาไปแล้ว  58 จังหวัดจะทำอย่างไร  ถ้ายอมรายนี้รายอื่นก็มาอีก”นายประชา กล่าว

นายประชา กล่าวว่า อย่างในต่างจังหวัด ตามท้องถิ่นที่บางครัวเรือนได้เงินเยียวยาจำนวนมากขณะที่บ้านใกล้เคียงได้น้อย ซึ่งยอมรับว่ามีการเมืองท้องถิ่น พวกหัวคะแนนเข้ามาเกี่ยวข้อง  แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมก็สามารถฟ้องศาลปกครองได้ 

“สำหรับปัญหาของพี่น้องกทม. มีชาวบ้าน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือไม่ทันตามระยะเวลาที่ราชการกำหนด   กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ยื่นรับเงินค่าชดเชยไปแล้วแต่ไม่พอใจ ซึ่งกลุ่มที่สองก็สามารถอุทธรณ์ได้  ทั้งนี้มีการยืดระยะเวลารับเรื่องมาถึง 5 ครั้งตั้งแต่ พ.ย. ปีที่แล้วถึงมี.ค.   แต่ปรากฎว่า มีมาร้องเรียนอีก 2 แสนราย จะขยายเวลาอย่างไร  ถามว่าความชอบธรรมอยู่ไหน”นายประชากล่าว

นายประชา กล่าวว่า กรณีที่กทม.จะของบจากมหาดไทย 400 ล้านบาทเพื่อไปจ่ายชดเชยให้ผู้เดือดร้อน 2 หมื่นบาททุกครัวเรือน  เห็นว่า แม้จะจ่ายให้แต่เรื่องก็จะไม่จบ ตนเองก็เป็นคนเสียภาษี และ 58 จังหวัดก่อนหน้านี้ทำไมถึงไม่ปัญหา  ความจริงการจ่ายที่มีปัญหา ชาวบ้านควรฟ้องกทม.ผ่านศาลปกครอง

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย  กล่าวว่า  ต่อไปในอนาคตควรแก้ระเบียบการจ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย   เพราะถ้ากำหนดหลักเกณฑ์ เสียหายบางส่วน หรือ ท่วมทั้งหลังจะได้เงินเท่านั้นเท่านี้  ก็มีปัญหาจากการพิจารณาในส่วนท้องถิ่น  ต่อไปควรให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม  กำหนดผู้แทนชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันพิจารณาความเสียหายก่อนจ่ายค่าชดเชย  ความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนในการพัฒนาครั้งต่อไป