posttoday

เผยกำหนดการปูเยือนเขมร

12 กรกฎาคม 2555

โฆษกรัฐบาล เผย กำหนดการนายกฯ เยือนกัมพูชา 13 ก.ค. นี้ ตามคำเชิญ "ฮิลลารี" เตรียมถกทวิภาคี "ฮุนเซน-เต็ง เส่ง" ร่วมมือในอาเซียน

โฆษกรัฐบาล เผย กำหนดการนายกฯ เยือนกัมพูชา 13 ก.ค. นี้ ตามคำเชิญ "ฮิลลารี" เตรียมถกทวิภาคี "ฮุนเซน-เต็ง เส่ง" ร่วมมือในอาเซียน

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำของการประชุมนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน Commitment to Connectivity (C2C) ตามคำเชิญของ นาง ฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมทั้งหารือทวิภาคีกับนาย ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

วันพรุ่งนี้(13 ก.ค.) นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางออกจากประเทศไทยในเวลา 14.00 น.ถึงเมืองเสียมราฐ ในเวลา 15.00 น. จากนั้นจะหารือทวิภาคีกับนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และประธานาธิบดี เต็ง เส็ง ของเมียนมาร์ เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมือในกรอบทวิภาคีและกรอบอาเซียน

เวลา 18.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองร่วมกับนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและบุคคลสำคัญ และเวลา 19.00 น. นายกรัฐมนตรีจะกล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน

สำหรับการประชุมนักธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ภายใต้หัวข้อ Commitment to Connectivity (C2C) จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจของสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและนักธุรกิจของอาเซียนได้พบปะแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือและการค้าการลงทุนกับภาครัฐบาลของประเทศในอาเซียน อันจะเป็นการส่งเสริมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยมีภาคเอกชนชั้นนำจากสหรัฐฯ และจากประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งผู้แทนจากภาครัฐบาลจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน ร่วมด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อนักธุรกิจสหรัฐฯ และผู้เข้าร่วมงาน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาความเชื่อมโยงในอาเซียน(ASEAN Connectivity) เพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งนอกเหนือจากการเพิ่มพูนศักยภาพตลาดเดียวของอาเซียน(ASEAN Single Market) ยังรวมถึงการร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ทั้งเอเชียใต้, เอเชียตะวันออก และเอเชียแปซิฟิก ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในปัจจุบัน พร้อมทั้งเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ประชาคมอาเซียนในด้านต่างๆ

นายกรัฐมนตรีจะย้ำให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยในประชาคมอาเซียน และการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเชื่อมโยงทั่วภูมิภาค เพื่อการคมนาคม ติดต่อ สื่อสาร และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การจัดการความมั่นคงตามแนวชายแดน การพัฒนาแนวเชื่อมโยงการขนส่งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) จากท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาร์สู่ท่าเรือแหลมชบังของไทย

รวมทั้งความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อโลกที่มีความพร้อมในการเป็นฐานการลงทุนของเอกชนทั่วโลก จากปัจจัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งพลังงานและอาหาร, แรงงานฝีมือ และเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งการได้รับความสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจาอย่างสหรัฐฯ ก็จะยิ่งเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในอนาคตต่อไป