posttoday

ปูแจงแผนจัดการน้ำมั่นใจรับมือได้

07 กรกฎาคม 2555

นายกฯแจงแผนจัดการน้ำท่วม มั่นใจรับมือได้ เตือนเอกชนอย่าตระหนกวิกฤติยุโรป ลั่นพร้อมรับมือ โวส่งออกไปอียูโต 6.8% เชื่อศาลตัดสินปมแก้รธน.เป็นธรรม

นายกฯแจงแผนจัดการน้ำท่วม มั่นใจรับมือได้ เตือนเอกชนอย่าตระหนกวิกฤติยุโรป  ลั่นพร้อมรับมือ โวส่งออกไปอียูโต 6.8% เชื่อศาลตัดสินปมแก้รธน.เป็นธรรม

ปูแจงแผนจัดการน้ำมั่นใจรับมือได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2555 เป็นการสัมภาษณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี ดำเนินรายการ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมว่า รัฐบาลมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจากการตรวจเยี่ยมตามต่างจังหวัดต่าง ๆ เร่งรัดอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยส่วนต้นน้ำ ที่ต้องทำเร่งด่วนคือ จะทำฝายชะลอน้ำทั้งแบบกึ่งถาวร และถาวร รวม 3,000 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก จะแล้วเสร็จภายใน 15 ก.ค.นี้ และจะมีการปลูกหญ้าแพรกเพื่อช่วยการชะลอน้ำในพื้นที่ ทั้งนี้ได้รวม กองทัพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมที่ดิน บูรณาการทำงานร่วมกัน คาดว่าปลูกแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ อาจจะยังทำไม่ได้ทั้งหมด รัฐบาลจะลำดับในแต่ละพื้นที่ที่มีความสำคัญก่อน ต้องทำก่อน แต่ระยะยาวก็จะทำทั้งหมดแน่นอน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนระดับน้ำในเขื่อนที่ประชาชนกังวลนั้น เมื่อปีที่แล้วระดับน้ำในเขื่อนมีถึง 60% และปีนี้ลดลงเหลือ 40% ซึ่งมีปริมาณที่เพียงพอในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง และยังสามารถกักเก็บน้ำได้ปริมาณที่มากขึ้น เขื่อนจึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ทั้งนี้ยังให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมถึงคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ เฝ้าติดตามระดับน้ำ ดึงข้อมูลจริงทั้งหมดในการประมวลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาวิเคราะห์ ซึ่งตรงนี้จะต้องรวมหน่วยงานหลากหลายกระทรวงเข้าบูรณาการและวิเคราะห์เพื่อรับมือร่วมกัน  ส่วนพื้นที่รับน้ำนอง ประมาณ 2.1 ล้านไร่ และอีก 1.3 ล้านไร่เป็นพื้นที่ทางธรรมชาติ ทางกรมชลดูแลเรื่องนี้ และนำมาประมวลเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนมากนัก

เมื่อถามว่า ส่วนการขุดลอกคลอง คืบหน้าไปอย่างไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เกือบเสร็จแล้ว แต่ยังคเหลือที่ปลายน้ำซึ่งต้องเร่งทำในขณะนี้ และได้มีการสำรวจเพิ่มเติม เนื่องจากปลายน้ำเป็นส่วนที่สำคัญในการระบายน้ำ โดยรัฐบาลได้หารือกับทาง กทม. ว่าจะทำอย่างไรให้น้ำไหลลงโดยไม่ติดขัด และตรวจตรา ซ่อมแซมประตูระบายน้ำ พร้อมเสริมพนังกั้นน้ำเตรียมรับมือเมื่อเวลาน้ำมา

เมื่อถามว่า มีการดูแลนิคมอุตวสาหกรรมหรือทำความเข้าใจ ให้ความเชื่อมั่นอย่างไรในการบริหารจัดการน้ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนของนิคมอุตสาหกรรม รัฐบาลได้ดูแล และสนับสนุนงบประมาณให้กู้ยืมในการยกระดับพื้นผิวถนน และพนังกั้นน้ำ ตรงนี้ให้ทางกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแล และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในเรื่องนี้ อีกทั้ง มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องแผนป้องกันการซักซ้อมเพื่อนำมาบูรณาการในชุมชนแต่ล่ะพื้นที่เพื่อรองรับเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที่ ซึ่งแผนป้องกันตรงนี้ไม่ได้ทำเพื่อรองรับวิกฤติน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์เพื่อรับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวว่า วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในยุโรป ตนเองไม่อยากให้เอกชน ประชาชนตื่นตระหนก จนต้องหยุดการลงทุน เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้เศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เกาะติด ติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบจุดพลิกผันไม่ตรงตามเป้าที่ตั้งไว้ รัฐบาลพร้อมออกมาตรการ โดยขั้นตอนปฎิบัติงานนี้ ได้เชิญ 9 กระทรวง และบางหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) หารืออย่างต่อเนื่อง

"สถานะประเทศตอนนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจ ยังแข็งแกร่งอยู่ ยกตัวอย่าง ตัวเลขวันนี้ ตัวเลขอัตราส่งออก แต่ยังไม่น่าพอใจ โดยส่งออกไปอียูโต 6.8% ผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้น ท่องเที่ยวดีขึ้น ภาคการเกษตร ดีขึ้น ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในสถานการณ์เติบโต แต่ไม่สูงมานัก เพราะพึ่งฟื้นจากน้ำท่วม" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว 

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปมแก้รัฐธรรมนูญว่า มุมมองในข้อวิจารณ์ก็ต้องฟัง แต่รัฐบาลต้องมีสมาธิ และมุ่งทำงานให้เต็มที่ เรื่องกรณีการตัดสินต้องให้ทั้งฝ่ายแต่ล่ะพรรคการเมืองชี้แจ้ง รวมถึงรัฐบาล และเชื่อว่าผู้ที่ตัดสินให้ความเป็นธรรม

"ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหน รัฐบาลยังไม่ได้เตรียมการอะไรจึงต้องรอฟังคำตัดสินก่อน วันนี้ทุกอย่างได้ผ่านขั้นตอนไปแล้ว ซึ่งต้องรอรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินอีกที ซึ่งตนก็ขอมุ่งมั่น มีสมาธิ มีความเชื่อมั่นและตั้งใจทำงานเพื่อประเทศต่อไป" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว