posttoday

สมศักดิ์แจงยาวยันไม่คิดล้มล้างการปกครอง

06 กรกฎาคม 2555

สมศักดิ์ ร่ายยาว 2 ชม.แจงศาลรธน.ไม่คิดล้มล้างการปกครอง ย้ำส.ส.ร.ใหม่ห้ามแก้รธน.แตะพระราชอำนาจ เมินไม่ตอบปมคลิปเสียง อ้างศาลไม่ให้ถาม

สมศักดิ์ ร่ายยาว 2 ชม.แจงศาลรธน.ไม่คิดล้มล้างการปกครอง ย้ำส.ส.ร.ใหม่ห้ามแก้รธน.แตะพระราชอำนาจ เมินไม่ตอบปมคลิปเสียง อ้างศาลไม่ให้ถาม 

สมศักดิ์แจงยาวยันไม่คิดล้มล้างการปกครอง

เวลา 15.45 น.นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ขึ้นเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้ถูกร้องในคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยประธานรัฐสภาได้ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงเพื่อชี้แจงและตอบคำถาม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การบรรจุระเบียบวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาทุกขั้นตอนเมื่อมีการเสนอเข้าก็ต้องบรรจุภายใน 20 วัน ส่วน มาตรา 291/13 ที่ให้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ตนเองไม่ได้กำหนดให้อำนาจตัวเองเพราะรัฐสภากำหนดมาให้ แต่ยืนยันว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อใช้ดุลยพินิจแทน เช่น อาจใช้คณบดีคณะนิติศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยและบุคคลที่เป็นที่ยอมรับว่ามีความเป็นกลางโดยผ่านการกลั่นกรอง เมื่อได้คณะกรรมการแล้วตัดสินอย่างไรก็ว่าตามนั้น
               
“อาจมีการกล่าวหาว่าใช่สิผมเป็นสส.พรรคเพื่อไทยจะไว้วางใจอย่างไร แต่จะให้ทำอย่างไรเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดมาอย่างนั้น แต่ประธานรัฐสภามีเกียรติมีศักดิ์ศรีไม่ใช่อยู่พรรคไหนจะมาสั่งกันได้ ที่ผ่านมาถูกกล่าวหาเรื่องความไม่เป็นกลางส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญแต่เพียงเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่ได้ดั่งใจใคร แต่ไม่เคยบอกว่าตนเองไม่เป็นกลางอย่างไรบอกเพียงว่าผมรับใบสั่ง ผมจะเอาเกียรติของนิติบัญญัติเพื่อไปเอาเปรียบทางการเมืองในรัฐสภาเรื่องเล็กๆน้อยๆนั้นผมคงฉลาดที่จะไม่ทำเพราะไม่ได้อะไรเลย" นายสมศักดิ์ กล่าว
               
จากนั้นเป็นขั้นตอนของการซักถาม โดยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา ได้พยามซักถามเรื่องคลิปเสียงโดยได้อ้างต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความจำเป็นต้องถามเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเบื้อหลังอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าไม่อยู่ในประเด็นแต่ขอให้ส่งหลักฐานมาภายหลังแทน
               
นายสมศักดิ์ ชี้แจงกลับไปว่า คลิปเสียงเป็นเหตุการณ์ข้างนอกหลังจากวาระ 2 ผ่านไปแล้วไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ถ้าเอาเรื่องนี้มาสอบถามจะเสียเวลาของศาลรัฐธรรมนูญและก่อนที่จะเดินทางมายังศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตอบคำถามนักข่าวไปหมดแล้วในที่นี้จึงไม่ขอตอบเพราะนอกประเด็น
               
ด้าน นายสุวัฒน์ อภัยภักดิ์ ในฐานะตัวแทนนายวันธงชัย ชำนาญกิจ หนึ่งในผู้ถูกร้อง ได้ถามนายสมศักดิ์เพื่อต้องการทราบถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายสมศักดิ์และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตี เช่น การถามว่า "เคยพบพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่" "รับคำสั่งของพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่" จนทำให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องเตือนนายสุวัฒน์หลายครั้งไม่ให้ตั้งคำถามพาดพิงบุคคลอื่นอีก ซึ่งนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า “ได้เคยคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณจริง...แต่ถามเรื่องนี้มันไกลเกินไปขอให้ถามเข้าประเด็น”
               
ส่วนนายวิรัตน์ กัลยาศิริ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ถามในภาพรวมว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจากแรงบีบของพรรคเพื่อไทย และ หากในอนาคตการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้ส.ส.ร.ทำอะไรก็ได้ใช่หรือไม่
               
นายสมศักดิ์ ตอบว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับส.ส.ร.โดยต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดถ้ากฎหมายห้ามในส่วนไหนก็จะไปดำเนินการในส่วนนั้นไม่ได้
               
ขณะที่ นายวสันต์ใช้สิทธิถามนายสมศักดิ์เช่นกันว่า "ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอลงมติวาระ 3 ในมาตรา 291/11 วรรค 5 ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ อันนี้หมายความว่าหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะให้ลอกของปี 2550 ใช่หรือไม่"
               
นายสมศักดิ์ ตอบว่า "ควรเป็นอย่างนั้น" นายวสันต์ถามอีกว่า "ถ้าเขาร่างให้ผิดเพี้ยนไปจากกลุ่มนี้และอยู่ในอำนาจท่านคนเดียวท่านได้ตอบไปแล้วว่าจะมีทีมงานพิจารณา" นายสมศักดิ์ ตอบทันทีว่า "เอาสรุปง่ายๆดังนี้เลยครับว่าหมวด 2 ไปแตะไม่ได้เลย"
               
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถามขยายความเพิ่มเติมว่า "พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีอยู่ในหมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มีอยู่กระจายทั่วๆไป พระราชอำนาจในการที่จะทรงยั้บยั้งร่างกฎหมายชั่วครั้งชั่วคราว พระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งบุคคล สิ่งเหล่านั้นถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงท่านจะถือหรือไม่ว่านี่คือหมวดพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน"
               
ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบว่า "ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดครับ เพราะฉะนั้นทางออกควรให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางมาช่วยพิจารณาน่าจะเป็นประโยชน์...ความเห็นของผมหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ มีหลักสำคัญ 3 ประการ 3 สถาบัน นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งตรงนี้ไม่น่าไปแตะต้องเลย ส่วนประเด็นอื่นๆน่าจะพิจารณาตามความเหมาะสม"
               
นายวสันต์ ถามเพิ่มว่า "เช่นถ้ามีการแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ไปตัดพระราชอำนาจในการอภัยโทษ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายได้ชั่วครั้งชั่วคราว" นายสมศักดิ์ ตอบว่า "ถ้ากรณีอย่างนี้ถือว่าเข้าข่าย" นายวสันต์ ได้ย้ำว่า "ถือว่าเข้าข่ายเช่นเดียวกันนะครับถือเป็นการแตะต้องในหมวดพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน" นายสมศักดิ์ ตอบว่า "ครับ"
               
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกรายได้ถามว่า "ก่อนหน้านี้ได้มีพยานบางคนเบิกความว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้วส่งกลับมาให้ประธานรัฐสภา ประธานรัฐสภาต้องแจ้งให้กับสมาชิกรัฐสภาทราบ แล้วสมาชิกรัฐสภาสามารถยื่นญัตติเพื่อขออภิปรายได้ จึงอยากถามว่าทำอย่างนี้ได้ใช่หรือไม่" นายสมศักดิ์ ตอบว่า "ไม่แน่ใจครับ ในรายละเอียดไม่ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ รัฐธรรมนูญไม่ได้มีขั้นตอนที่ว่านี้เหลือขั้นตอนนี้คือลงมติวาระ 3 และส่งให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าภายใน 20 วัน ขั้นตอนมีเท่านี้"
               
นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า "แล้วอย่างนี้จะหาความชัดเจนได้อย่างไรว่าเมื่อพยานเบิกความว่าทำได้ตามข้อบังคับแต่ประธานสภาบอกว่าไม่แน่ใจ แต่ก็ไม่เป็นไร"