posttoday

สับรัฐโยน3แสนล้านให้ต่างชาติแก้น้ำ

05 กรกฎาคม 2555

นักวิชาการ-เอ็นจีโอจี้ "ปลอดประสพ" แจงรายละเอียดทีโออาร์3แสนล้านแก้น้ำ ถามตัดสินใจใต้กรอบคิดอะไร

นักวิชาการ-เอ็นจีโอจี้ "ปลอดประสพ" แจงรายละเอียดทีโออาร์3แสนล้านแก้น้ำ ถามตัดสินใจใต้กรอบคิดอะไร

สับรัฐโยน3แสนล้านให้ต่างชาติแก้น้ำ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า โครงการทีโออาร์ 3 แสนล้านเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยอย่างครบวงจรนั้น ถือว่าเป็นการตั้งโจทย์ใหญ่ที่ค่อนข้างเสี่ยง เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และให้อำนาจบริษัทที่จะประมูลงานได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเมกะโปรเจกต์ขนาดนี้นี้ต้องมีกรอบชัดว่ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหาอะไรบ้าง เพื่อสื่อสารว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบเห็นด้วยหรือไม่กับกรอบดังกล่าว ไม่ใช่โยนคำถามไปแล้วให้ติดตามเอง มิเช่นนั้นประชาชนอาจตั้งคำถามได้ว่า เพราะเหตุใดจึงเอาเงิน 3แสนล้านบาทในการจัดการโครงการขนาดใหญ่ ไปให้บริษัทที่ปรึกษาหรือบริษัทต่างชาติจัดทำโดยประชาชนในประเทศไม่รู้เรื่องและไม่มีเกณฑ์ตัดสินใจ ซึ่งจะยิ่งเกิดคำถามมากขึ้นอีกเมื่อเอกชนข้ามชาติรายใดรายหนึ่งประมูลงาน แล้วนำไปจัดทำ

“รัฐบาลเคยประกาศงบประมาณในการจัดการน้ำผ่านรัฐสภา ด้วยการขอกู้เงินมูลค่า3.5แสนล้าน โดยตั้งใจจะให้ภาครัฐและเอกชนนำไปบริหารจัดการภายใต้กรอบของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) จึงอยากตั้งคำถามว่า ตั้งแต่น้ำท่วมปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ รัฐบาลได้คิดอะไร และได้เริ่มทำอะไรไปแล้วบ้าง ทั้งนี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย หรือแม้กระทั่งกองทัพ ต่างก็มีความสามารถในการจัดการเรื่องโครงการก่อสร้าง หรือเรื่องการบริหารจัดการน้ำอยู่แล้ว ซึ่งอาจใช้กลไกเหล่านี้ระดมสมองก่อนที่จะเริ่มทำโครงการก็ได้ แต่ที่ผ่านมา กลับไม่เห็นความคืบหน้าอะไร พอมาถึงวันนี้ กลับโยนให้บริษัทที่ปรึกษา และอาจเป็นบริษัทต่างชาติเข้ามากำหนดกรอบ และลงมือปฏิบัติแทน” นายสมชัยกล่าว

ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่านายปลอดประสพตัดสินใจจากกรอบแนวคิดอะไรในการให้เอกชนเข้ามาประมูลโครงการใหญ่ขนาดนี้ เพราะกลไกที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำ หรือคนที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือ ปิง วัง ยม น่าน กลับไม่เคยได้รับการสอบถามความคิดเห็น แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็จะให้ต่างชาติเข้ามาบริหารจัดการแทน ทั้งนี้ คาดว่าแนวคิดลักษณะนี้ อาจเป็นเหมือนในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทีให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำโครงการ แล้วหวังจะได้แหล่งเงินกู้ใหม่มากกว่า เช่น หากบริษัทญี่ปุ่นได้โครงการ ก็ขอเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) หรือหากบริษัทจากสหรัฐอเมริกาได้โครงการ ก็หวังจะได้เงินทุนสนับสนุนจากเวิล์ดแบงก์

“สิ่งที่คุณปลอดประสพพูด ไม่มีอะไรมากไปกว่า จะพัฒนาลุ่มน้ำนั้น ลุ่มน้ำนี้ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย แต่กลับไม่มีรายละเอียดว่าจะให้ต่างชาติเข้ามาทำอะไร ถ้าหากจะให้เขามาเจาะภูเขา หรือทำอุโมงค์น้ำ แล้วใช้เทคโนโลยีจากต่างชาติ ก็ปล่อยให้เขาทำไป แต่ถ้าจะให้มาวางระบบ ดูเส้นทางการไหลของน้ำ หรือสำรวจวิจัย ผมไม่เชื่อว่าบริษัทที่ได้รับงานไปแล้วเข้ามาสำรวจ 2-3 เดือน จะเข้าใจระบบลุ่มน้ำเท่ากับคนไทยที่อยู่มา 50-60 ปี จึงอยากให้คุณปลอดประสพหาข้อมูลให้มากพอก่อน เพื่อให้โครงการทั้งหมดนี้ตอบโจทย์คนไทยจริง ๆ”นายหาญณรงค์กล่าว