posttoday

เปิดคำชี้แจงชทพ.หนีเผือกร้อนศาลรธน.

04 กรกฎาคม 2555

เปิดคำชี้แจงชทพ.หนีเผือกร้อนศาลรธน. อ้างจำยอมร่วมลงชื่อเสอนญัตติ ไม่คิดล้มล้างการปกครอง หวั่นซ้ำรอยยุบพรรค ยกพ.ร.บ.พรรคการเมืองสู้

เปิดคำชี้แจงชทพ.หนีเผือกร้อนศาลรธน. อ้างจำยอมร่วมลงชื่อเสนอญัตติ ไม่คิดล้มล้างการปกครอง หวั่นซ้ำรอยยุบพรรค ยกพ.ร.บ.พรรคการเมืองสู้

เปิดคำชี้แจงชทพ.หนีเผือกร้อนศาลรธน. ชุมพล ศิลปอาชา

นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้ทำคำชี้แจงถึงศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยระบุว่า พรรคชาติไทยพัฒนาขอกราบเรียนว่าพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้กระทำการในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 68 ด้วยเหตุผลดังนี้

1.พรรคชาติไทยพัฒนาขอปฎิเสธข้อกล่าวหาทั้งสิ้น เนื่องจากพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เคยมีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคหรือเรียกประชุมใดๆตามข้อบังคับพรรคเพื่อมีมติในการดำเนินการ

2.การที่สส.ของพรรคได้เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการร่วมกันกับสส.ของพรรคการเมืองอื่นๆ อันเป็นการปฎิบัติหน้าที่ในฐานะสส.ตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญโดยแท้ ประกอบกับจำนวนสส.ของพรรคชาติไทยพัฒนาที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคชาติไทยพัฒนาจะมีมติให้ดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการกระทำของสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาดังกล่าวทางพรรคชาติไทยพัฒนามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

3.พรรคชาติไทยพัฒนาได้ปฎิบัติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2550 อย่างเคร่งครัดและด้วยดีตลอดมา แม้ว่าพรรคจะมีนโยบายมในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสส.โดยมีประเด็นหนึ่งคือการปฎิรูปการเมือง แต่พรรคชาติไทยพัฒนาได้แสดงให้ปรากฎต่อสาธารณชนตลอดมาว่า แนวทางที่พรรคสนับสนุนนั้นเป็นแนวทางในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเคารพตามกรอบที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550กำหนด ทั้งในรูปแบบของรัฐรูปแบบการปกครองและรูปแบบการใช้อำนาจอธิปไตย ตามที่ปรากฎในมาตรา1 มาตรา 2 และ มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญรวมทั้งบทบัญญัติในมาตราอื่น

4.การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้เคยมีทางปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญอันอาจถือได้ว่าเป็นประเพณีหนึ่งในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพรรคชาติไทยเคยปฎิบัติมาก่อนในปีพ.ศ.2538 ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและได้จัดทำรัฐธรรมนูญมาแล้วเสร็จและประกาศบังคับใช้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2540 ดังนั้น การที่สมาชิกของพรรคได้ร่วมเสนอรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาจึงเห็นว่ามิได้เป็นการปฎิบัติที่แตกต่างไปจากแนวทางปฎิบัติอันเคยมีมาก่อนในระบอบการปกครองในระบบประชาธิปไตยนี้อย่างใด

5.ในประเด็นเกี่ยวกับคำร้องว่าการดำเนินการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้มีความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งได้พิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว และเห็นว่าการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และไม่มีเนื้อหาใดที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาฝ่าฝืนมาตรา 68 ตามญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สส.พรรคชาติไทยพัฒนาได้ร่วมเสนอนั้นมีเนื้อหาสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากมาตรา 291/11 บัญญัติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญอาจนำรัฐธรรมนูญฉบับใดที่เห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างก็ได้และต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคด้วย โดยร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐจะกระทำมิได้

6.การที่รัฐสภาได้มีมติรับหลักการแห่งญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนประการหนึ่งว่าร่างญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ได้ผ่านการพิจารณาแล้วอย่างรอบคอบถี่ถ้วยจากสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสส.และสว. อันน่าจะเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้มีเนื้อหาอันเป็นปฎิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 68ของรัฐธรรมนูญ

7.พรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่าการที่ผู้ร้องใช้สิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคชาติไทยพัฒนากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องตามที่หมวด 3 ของรัฐธรรมนูญรับรองไว้แต่อย่างใด อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้กำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้กลั่นกรองข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันมิให้มีการนำความเท็จมากลั่นแกล้งหรือหน่วงเหนี่ยวกระบวนการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนด