posttoday

ครม.มอบวรวัจน์นำทีมแจงศาลแก้รธน.

03 กรกฎาคม 2555

ครม. ส่ง"วรวัจน์"แม่ทัพพร้อมกฤษฏีกา ทนาย แจงศาลกรณีแก้ไขรธน. - ล้มการปกครอง.

ครม. ส่ง"วรวัจน์"แม่ทัพพร้อมกฤษฏีกา ทนาย แจงศาลกรณีแก้ไขรธน. - ล้มการปกครอง

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. มีมติ มอบหมายให้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เป็นหัวหน้าทีมในการให้ปากคำกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ ครม. ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  นอกจากนี้ ครม.มอบหมายให้ นายอัชฌาพร  จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการรกฤษฏีกาและทนายความอีก 1 ราย  ร่วมสนับสนุนข้อมูลและชี้แจงกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ      ทั้งนี้ ครม.ได้จัดทำเอกสารประกอบเสนอศาลรัฐธรรมนูญในการไต่สวนครั้งนี้ด้วย 

ครม.มอบวรวัจน์นำทีมแจงศาลแก้รธน.

ทั้งนี้ นายวรวัจน์ เคยเปิดเผยโพสต์ทูเดย์ ถึงแนวทางชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญว่า  จะเน้นให้การตามปรากฎการณ์ข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ได้ไปต่อสู้ทางข้อกฎหมาย  ยืนยันว่าสิ่งที่จะไปให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญคือความจริงทั้งหมด  ไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

“ผมจะเอาข้อเท็จจริงไปพูดว่า เจตนารมย์แก้ไขรัฐธรรมนูญคืออะไร   เริ่มต้นจากนโยบายรัฐบาลบอกแล้วว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครม.จึงได้จัดทำร่างแก้ไขรธน.ขึ้นมา  โดยข้อเท็จจริงร่างแก้ไขรธน.ของครม.ทำเสร็จหลังส.ส.ยกร่างไว้ด้วย ครม.จึงตัดสินประกบร่าง เมื่อสภารับพิจารณา  ก็เป็นเรื่องสภาแล้ว ครม.ก็หมดหน้าที่  ครม.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเลย  ผมเข้าไปทำงานในฐานะส.ส.ไม่ใช่ตัวแทนที่ครม.ส่ง ขอเอาหัวเป็นประกัน ไม่มีการล้มล้างตามที่กล่าวหา ถ้ามีมาตัดคอทิ้งเลย “ นายวรวัจน์ กล่าว  

เมื่อถามว่าเพื่อไทยกำลังเผชิญหน้าตุลาการภิวัฒน์  วรวัจน กล่าวว่า  ทุกวันนี้ เราต้องค่อยชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ศาลมองว่า  ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบ ซึ่งข้อเท็จจริง ยืนยันเลยว่าไม่มี  จริงๆถ้าแก้กฎหมายเองก็ได้  แต่จะถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อตัวเอง  ก็บอกว่าให้ประชาชนเลือกเข้ามาแล้วแก้ โดยที่วางกติกาประชาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ไม่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“เพราะฉนั้นคุณคิดมาได้เลยทำอย่างไรให้บ้านเมืองไปได้ ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านประชามติอยู่ดี สุดท้ายประชาชนบอกเองว่าใช่หรือไม่ใช่  สื่อมวลชนก็จะสามารถวิจารณ์กฎหมายรัฐธรรมนูญได้อย่างถึงพริกถึงขิงเลย   เพราะทุกคนมีส่วนร่วม ถ้าสื่อมวลชนไม่เห็นด้วยสามารถโน้มนำกระแสสังคมได้อยู่แล้ว เพราะมีกระบอกเสียงในมือ”นายวรวัจน์  กล่าว