posttoday

รัฐเบรกนาซากระทบความเชื่อมั่นเวทีโลก

01 กรกฎาคม 2555

ชี้รัฐเบรกนาซากระทบหนักกว่าถอยปรองดอง-แก้ รธน.เหตุเสียความเชื่อมั่นในเวทีโลก หวั่นกองทัพเสียโอกาส

ชี้รัฐเบรกนาซากระทบหนักกว่าถอยปรองดอง-แก้ รธน.เหตุเสียความเชื่อมั่นในเวทีโลก หวั่นกองทัพเสียโอกาส

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.เวลา 10.00 น.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดงานเสวนา “เบรกนาซา ไทยได้หรือเสีย?” มีนายสมเจตน์   ทิณพงษ์   ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายสุรชาติ  บำรุงสุข  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกษิต  ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเสวนา

นายสุรชาติ กล่าวว่า ในบริบททางการเมืองมองว่าการตัดสินใจส่งโครงการตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เข้าที่ประชุมสภาครั้งนี้เป็นการถอยครั้งที่ 3 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังจากการถอยเรื่อง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลถอยเกินความจำเป็น เพราะเสียงจากนักวิทยาศาสตร์ไทยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับขั้วการเมืองนั้นสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ แต่รัฐบาลกลับตัดสินใจถอย

อย่างไรก็ตามมองว่าการถอยครั้งนี้ส่งผลกระทบมากกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า เพราะเป็นการส่งสัญญาณไปยังประชาคมโลกว่าฝ่ายบริหารประเทศเสียอำนาจในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างชัดเจน  

“ถ้ารัฐบาลยังมีลักษณะกลัวการตัดสินใจต่อไปแบบนี้จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังเวทีต่างประเทศว่ารัฐบาลไทยที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้นไม่สามารถตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนเองได้ ทุกเรื่องต้องถูกนำไปแขวนไว้กับสภาและมาตรา 190 และยิ่งสะท้อนว่าอำนาจของฝ่ายบริหารในด้านการต่างประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นกำลังจะหมดลง ดังนั้นต้องคำนึงว่าในเมื่อรัฐบาลดำเนินการด้านการต่างประเทศไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะต่อไปจะมีกรณีเขาพระวิหารซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่ยิ่งกว่านาซา”นายสุรชาติกล่าว

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเป็นบทพิสูจน์ถึงความสามารถของทีมโฆษกรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำหน้าที่น้อยเกินไป ไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้สังคมทราบได้ ทางที่ดีรัฐบาลควรมีการชี้แจงใน 3 ระดับอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ชี้แจงต่อคนไทย ชี้แจงต่อแจงรัฐบาลในอาเซียน และชี้แจงต่อประชาคมโลก

นายสุรชาติ ยังกล่าวถึงโครงการตั้งศูนย์บรรเทาภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมว่า ไม่เชื่อว่าจะถูกแปลงเป็นภารกิจด้านทหาร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทย แต่รัฐบาลของประเทศอาเซียนคงจะไม่ยินยอม ทั้งนี้มองว่าหากโครงการตั้งศูนย์บรรเทาภัยพิบัติฯ ได้รับผลกระทบอีกเหมือนโครงการสำรวจเมฆ จะเป็นการเสียโอกาสของกองทัพไทยอย่างมาก เพราะศูนย์นี้จะแปลงเป็นศูนย์บรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนทั้งภูมิภาค จะสูญเสียโอกาสหากสุดท้ายไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย

นายกษิต กล่าวว่า สถานทูตสหรัฐอเมริกาได้ทำหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 8 มี.ค. 2554 โดยขออนุญาตให้ผู้แทนของนาซาและสถานทูตสหรัฐฯ มาพบกับเจ้าหน้าที่หน่วยราชการของไทยเพื่อร่วมมือกันศึกษาโครงการ ต่อมามีการพบปะวันที่ 27 มิ.ย.2554 และกระทรวงต่างประเทศมีหนังสือถึงสถานทูตลงวันที่ 1 ก.ค.2554 ขอความกระจ่าง 4-5 ประการว่ามีนัยยะด้านความมั่นคงหรือไม่ และในวันที่ 25 พ.ค. 2555 ที่ผ่านมาสถานทูตสหรัฐฯ เสนอทำหนังสือแลกเปลี่ยนการร่วมมือระหว่างไทยและนาซาที่ใช้สนามบินอู่ตะเภา  โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 มิ.ย

อย่างไรก็ไรก็ตามเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยได้หารือกับองค์การนาซาโดยตลอด แต่กลับไม่มีการชี้แจงให้ประชาชนทราบกระทั่งพล.อ.มาร์ติน อี.เดมพ์ซี่ย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกาเดินทางมายังไทยเมื่อต้นเดือน มิ.ย.จึงเกิดความวุ่นวายขึ้นมา ฝ่ายค้านเพียงแต่ตั้งคำถามที่คาดว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงเท่านั้น ไม่ได้มีปัญหากับรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ของโครงการ เพราะเห็นว่าได้ประโยชน์ต่อประเทศ  

ด้านนายสมเจตน์  ยืนยันว่า โครงการนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ายกเลิกอย่างถาวร ยังถูกแขวนอยู่เพราะยังไม่สิ้นปีการจัดทำงบประมาณของนาซาประกอบกับยังไม่เห็นเอกสารยืนยันจาก นายชาร์ลส์ เอฟ.โบลเดน ผู้อำนวยการบริหารองค์การนาซาว่าถอนโครงการแล้ว ทั้งนี้มองว่าโครงการนี้สามารถพิสูจน์และชี้แจงได้โดยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วยว่าจะสามารถชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อคลายความกังวลให้กับประชาชนได้หรือไม่

นายสมเจตน์  กล่าวอีกว่า ส่วนตัวแล้วยังอยากให้รัฐบาลมีการหารือให้เรียบร้อยแล้วเลื่อนโครงการสำรวจเมฆออกไปประมาณ   1 สัปดาห์ถึง 10 วัน จากวันที่  26 มิ.ย.ที่ทางนาซากำหนด ซึ่งระยะเวลาสิ้นสุดโครงการอาจคาบเกี่ยวกับช่วงเดือน ต.ค.คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก