posttoday

อ.นิติฯมธ.ยันร่างปรองดองทำลายกระบวนการศาล

08 มิถุนายน 2555

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ร่างพ.ร.บ. ปรองดองทำลายกระบวนการศาล ลั่นแก้รัฐธรรมนูญต้องทำความเห็นปชช.ฐานะเจ้าของอำนาจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ร่างพ.ร.บ. ปรองดองทำลายกระบวนการศาล ลั่นแก้รัฐธรรมนูญต้องทำความเห็นปชช.ฐานะเจ้าของอำนาจ

 

อ.นิติฯมธ.ยันร่างปรองดองทำลายกระบวนการศาล สุรพล นิติไกรพจน์

นายสุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงประเด็นปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ..... การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
               
โดยนายสุรพล กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ปรองดองนั้น เนื้อหาของร่างดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่ในตัว เรื่องการลบล้างผลของการกระทำทั้งหลายที่เกิดขึ้น และลบล้างความผิดที่มีคำพิพากษาตามกฎหมายของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               
อย่างไรก็ดี เป็นที่ชัดเจนซึ่งได้ปรากฏในประวัติศาสตร์ทางกฎหมายของบ้านเรา ตั้งแต่มีระบบศาลยุติธรรมและการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยยืมคำจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาที่บอกว่า เรื่องทำนองนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยหรือในโลก ที่มีกฎหมายของสภาตราขึ้นเพื่อลบล้างคำวินิจฉัยศาลสูงสุดที่ได้วินิจฉัยสิ้นสุดเด็ดขาดไปแล้ว
               
“ยกเว้นในอดีตที่มีการออกกฎหมายของประเทศเยอรมัน ล้มล้างผลคำวินิจฉัยของระบบศาลสมัยฮิตเลอร์ครองอำนาจ แต่ไม่ใช่เรื่องลบล้างผลคำพิพากษาเฉพาะกรณี โดยไม่ได้ไปแตะต้ององค์กรศาล เพราะฉะนั้น เรื่องนี้มีเป็นครั้งแรกในโลก”นายสุรพล กล่าว
               
นายสุพล กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้บัญญัติในมาตรา 198 วรรคสอง ระบุว่า ห้ามไม่ให้มีการจัดตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีเฉพาะ คือ คดีใดคดีหนึ่งที่มีอยู่นั้น ต้องพิจารณาไปโดยที่ศาลตั้งขึ้นก่อนหน้านั้น รวมถึงห้ามตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาเฉพาะคดี
               
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าว ประสงค์ไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติแทรกแซงอำนาจตุลาการ แต่การกระทำใดจะมีความผิดหรือไม่ ต้องให้ศาลที่มีอยู่แล้ว ที่ไม่ได้ตั้งมาเพื่อการนั้น เป็นผู้พิจารณาพิพากษาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทางกลับกันการตราพระราชบัญญัติเฉพาะ และยกเว้นคำพิพากษาเฉพาะกรณี ต้องดูความมุ่งหมายจากมาตราดังกล่าว
               
ดังนั้น  หมายความว่าการออกพระราชบัญญัติลบล้างผลคำพิพากษาเฉพาะกรณี โดยไม่ได้กำหนดศาลนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขัดต่อเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมทั้งเป็นการให้ฝ่ายนิติบัญญัติก้าวล่วงเข้ามาทำให้อำนาจตุลาการใช้บังคับไม่ได้กรณีที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ดังนั้น น่าจะขัดแย้งกับมาตราดังกล่าวที่ได้บัญญัติไว้
               
นอกจากนั้น ตัวร่างดังกล่าวยังได้กำหนดเนื้อหาให้ลบล้างของผลการกระทำขององค์กรต่างๆที่ตั้งขึ้น เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ปี 2549 และ 2550 เป็นการขัดหลักการสำคัญที่อยู่ในมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
                
อย่างไรก็ตาม การพิพากษาของศาลฎีกา ทั้ง 2 คดี ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เช่น ที่ดินรัชดา และการยึดทรัพย์สินนั้น ซึ่งการลบล้างผลดังกล่าวนี้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบภาระในการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะต้องให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินตั้งแต่ต้น แต่การประชุมคณะกรรมาธิการ 35 คณะ สรุปว่าไม่เป็นการเงิน
               
ดังนั้น เรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และไม่ต้องขอให้นายกรัฐมนตรีรับรอง แม้คำวินิจฉัยวิปลาศ ฝั่นเฟือน อย่างไรก็ตาม แต่มันก็ต้องจบ เพราะเป็นการวินิจฉัยในองค์กรของสภา และรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้กำหนดข้อบังคับว่าต้องให้กรรมาธิการพิจารณา
“เมื่อผลอย่างนั้นจึงต้องผูกพันกับการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในคำวินิจฉัย เมื่อประธานสภาให้เหตุต่างไปจากข้อเท็จจริง ก็ต้องรับผิดชอบ ด้วยการนำไปสู่กระบวนการถอดถอน กระบวนการชี้แจงต่อการตรวจสอบและการปฏิบัติหน้าที่”นายสุรพล กล่าว

ลั่นแก้รัฐธรรมนูญต้องทำความเห็นปชช.ฐานะเจ้าของอำนาจ

ส่วนประเด็นเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/1 นั้น อยากเรียนว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถือเป็นฉบับเดียวที่ผ่านกระบวนการการลงประชามติ ตั้งแต่มีระบอบนี้ใช้ปกครองประเทศเป็นต้นมา ดังนั้น รัฐธรรมนูญปัจจุบันจึงเป็นฉบับเดียวที่มาจากอำนาจอธิปไตยโดยตรงของเจ้าของอำนาจ คือ ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐธรรมนูญลักษณะดังกล่าวมาก่อน และไม่เคยมีกฎหมายใดในประเทศนี้ผ่านการลงประชามติมาก่อน เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็นฉบับที่แปลกประหลาดที่สุดในแง่การสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากอธิปไตย
ทั้งนี้ หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ 2550 มีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 แต่หลักการทั่วไปและเป็นที่ยอมรับในวงนักกฎหมายและนักการเมือง หลักการพื้นฐาน 4 ประการ คือ 1.ราชอาณาจักรอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกไม่ได้ 2.ประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 3.สิทธิเสรีภาพประชาชนและการมีส่วนร่วมทางการเมือง และ4.การควบคุมตรวจสอบอำนาจและองค์กรผู้ใช้อำนาจ

อย่างไรก็ดี หากมาดูในหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาพิจารณา มีปัญหาความชอบธรรม ซึ่งสามารถตั้งเป็นคำถามได้ว่า 1.สส.-สว.ซึ่งถืว่าเป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นสัญลักษณ์ระบบประชาธิปไตย เพราะประชาชนมาโหวตไม่ได้ว่าจะเอากฎหมายฉบับนั้น ฉบับนี้

ดังนั้น หน้าที่ผู้แทนมี 2 อย่าง คือ ตรากฎหมายและควบคุมตรวจสอบรัฐบาลเท่านั้น จะมีอำนาจล้มล้างอธิปไตยโดยตรง ที่ประชาชนแสดงออกผ่านการลงประชามติ แน่นอนรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ตามสภาความเป็นจริงทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่รัฐธรรมนูญที่มาจากเจ้าของอธิปไตยโดยตรง หากจะแก้ไขจะต้องแก้ด้วยกระบวนการอะไร

อย่างไรก็ตาม คิดว่า คำตอบที่ตรงไปตรงมาและถูกต้อง คือ ใครที่มีอำนาจสถาปนา ผู้นั้นย่อมมีอำนาจล้มล้างซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายมหาชน เพราะฉะนั้น กระบวนการดังกล่าวกลับหัวกลับหางกัน เพราะบอกว่าผู้แทนประชาชนแสดงเจตนาขัดต่อเจตนาของเข้าของอำนาจอธิปไตย ที่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และบอกจะไปทำกระบวนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มีการแก้ไขโดยผ่านการลงประชามติมาแล้ว พอทำอะไรเสร็จจะกลับไปถามใหม่

นายสุรพล กล่าวว่า แทนที่จะเป็นกระบวนการร่างให้เสร็จ และเอาร่างทั้งฉบับไปถามกับประชาชนใหม่ว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งกลับปรากฏว่าข้ามขั้นตอนดังกล่าวไป ดังนั้น แนวทางความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความจะเป็นเชิงทฤษฎีของระบอบการปกครองแบบนี้ คือ จะต้องไปลงประชามติก่อนว่าจะแก้หรือไม่ แล้วนำไปสู่กระบวนการแก้ไข
นอกจากนี้ ฐานเดิมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาประชุมร่วมกันเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ โดยอ้างความเป็นตัวแทนประชาชน แต่คราวนี้ไปไกลถึงว่า ทั้ง 2 สภาจะมีมติให้แก้ โดยให้สภาที่ 3 คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเลือกมาเป็นตัวแทนจากประชาชน ให้สภาที่ 3 ไปแก้ โดยไม่มีกรอบความคิดและไม่มีเงื่อนไขใด แล้วแต่ส.ส.ร.จะมีมติ ดังนั้น คิดว่าแนวทางดังกล่าวจึงมีปัญหาอยู่มาก เมื่อเทียบกับหลักการพื้นฐาน

“มองได้ว่าสภากำลังให้เช็คเปล่ากับส.ส.ร.โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ซึ่งมันไปไกลยิ่งกว่าการใช้อำนาจอธิปไตย โดยผู้แทนที่อ้างเป็นฐานมาตั้งแต่ต้นเท่านั้น”นายสุรพล กล่าว

ดังนั้น คำถามสำคัญ คือ หลักการพื้นฐาน 4 ประการ ยังคงมีอยู่หรือไม่ในรัฐธรรมนูญที่กำลังจะถูกร่างขึ้นมาใหม่ คำตอบคือ แล้วแต่ส.ส.ร. แม้แต่ตัวแทนของประชาชนซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ ก็ไม่สามารถตอบได้ รวมทั้งฐานอำนาจส.ส.ร.มาจากที่ใด อีกทั้ง การดำเนินการดังกล่าวอาจละเมิดอำนาจสูงสุดซึ่งมาจากการลงประชามติจากเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือไม่ และมันจะเป็นการทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นปรปักษ์ต่อระบอบรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่


ชี้ศาลรธน.เดินถูกทางแนะคนทางไกลเลือกให้ดี

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นปัญหาคำวินิจจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีผู้มาใช้สิทธิร้องตามมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญส่งสัยว่า คำร้องนี้มีนัยยะหรือนำไปสู่การดำเนินการที่เป็นปฏิปักษ์กับกติกาที่รัฐธรรมนูญวางเอาไว้ ก็ให้มีการตัดสิน ทั้งนี้ บทบัญญัติ มาตรา 68 ถือว่าสมัยใหม่ และเกิดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งอยู่ในมาตรา 63 โดยมีเนื้อหาและข้อความทำนองเดียวกัน ถามว่าเจตนาคืออะไร คือตั้งใจให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุด

“หลักการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 40 และตั้งใจให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และบอกว่ามีใครไปใช้สิทธิไปทำหน้าที่อะไร ไปใช้เสรีภาพอะไร ในทางที่กระทบ หรือทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งห้ามได้ ซึ่งผ่านกระบวนการมาตรา 68 ที่ได้เขียนไว้ว่า ให้ไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ให้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มอำนาจนี้เอง และชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมา ให้อสส.ยื่นคำร้องต่ออัยการกลั่นกรองตรวจสอบก่อน”นายสุพล กล่าวว่า

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ารับคำร้องตามมาตร 68 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยไม่ผ่านอสส. ด้วยเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ คือ อสส.พิจารณาเรื่องนี้ล่าช้า อาจมีผลกระทบทางการเมืองหากศาลไม่รับไว้ จะมีปัญหาตามมา คำถามคือ เจตนารมณ์ในขณะร่างรัฐธรรมนูญกับถ้อยคำในรัฐธรรมนูญว่าจะตีความอย่างไร ทางกฎหมายมีคำถามว่า ตอนร่างกฎหมายคิดอะไรอย่างไร ตอนตีความกฎหมายในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องถือข้อยุติตามที่ผู้ร่างประสงค์หรือไม่

ซึ่งในทางกฎหมายชัดเจน ว่ากฎหมายหลายฉบับที่บังคับใมช้มา 50 ปี 100 ปี หรือใช้บังคับมาหลายปีแล้ว ก็ต้องกลับไปถามเจตนารมณ์ผู้ร่างเสมอ หากสถานการณ์เปลี่ยนไป และผู้ร่างยืนยันว่าอย่างนั้น จะต้องแข็งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามที่ยกร่างหรือไม่ ทางกฎหมายชัดเจนว่าเจตนารมณ์ผู้ร่างกฎหมายเป็นอย่างไร แต่เจตนารมณ์ผู้ตีความวินิจฉัยตีความกฎหมายก็ไปได้เท่าที่บทบัญญัติกฎหมายจะให้อนุญาตให้ตีความ

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าแนวทางขณะที่ร่างที่บอกว่าส่งเรื่องให้อสส.ก่อนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เห็นได้ 2 ทาง คือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยตีความ และอาจรับเรื่องโดยตรงได้ แน่นอนว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการยกร่าง แต่ถามว่าถ้อยคำตามกฎหมายที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ กับเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้มันทำให้ตีความเช่นนั้นได้
และเป็นอย่างนั้นโดยปกติในทางกฎหมาย เพราะศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดตีความกฎหมาย เพราะฉะนั้น ศาลย่อมมีอำนาจควบคุม และเรื่องดังกล่าวถือว่าใหญ่มาก เพราะไม่ใช่การตีความกฎหมายปกติ ว่าการกระทำละเมิดหรือไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี เป็นการประชุมสภาหรือไม่ กฎหมายนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ทั้งนี้ ศาลมองว่ารัฐสภากำลังจะลงมติในวาระ 3 และหากลงมติไปแล้วอาจเกิดปัญหาตามมา การวินิจฉัยของอสส. ที่วินิจฉัยหลังจากวันที่สภานัดลงมติ จะไม่มีผลการควบคุมตรวจสอบการดำเนินการในเรื่องนี้ นี่คือตรรกะที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ ในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ หลักการที่บอกว่าศาลมีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ และชี้ว่าอะไรเป็นกฎหมาย หรือตีความอย่างไรนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ของระบบกฎหมาย แต่ที่ไม่มีการพูดกัน ซึ่งนักกฎหมายทุกคนศึกษาเรื่องนี้มา หลักการทำนองนี้ที่ว่าศาลมีอำนาจตีความกฎหมาย และที่มีเรื่องละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นละเมิดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่มีมายาวนานในวงการกฎหมาย

ทั้งนี้ ยกคำพิพากษาหลัก 2 คดี ซึ่งนักกฎหมายทุกคนที่ได้เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญมา คือ คดี Marbury V. Madison 1803 และคำวินิจฉัยในคดีอาชญากรสงคราม ที่ 1 / 2489 ของศาลฎีกาประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกย่องจากวงการนักกฎหมายทั้งโลก และกลายเป็นหลักพื้นฐานกฎหมายเวลานี้   คดี Marbury V. Madison สหรัฐฯตีความเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว และกลายเป็นหลักบรรทัดฐานมาจนถึงปัจจุบัน ว่ากฎมายที่รัฐสภาอเมริกันออกนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญสหรัฐไม่เคยเขียนให้อำนาจศาลในการตีความกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าแต่ละฝ่ายต่างเป็นตัวแทนจากเจ้าของอำนาจอธิไตย เมื่อสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ต่างก็มีอำนาจของตัว และศาลก็เป็นองค์กรหนึ่งที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และยังระบุว่าศาลมีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ

“เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าองค์กรนิติบัญญัติร่างกฎหมายออกมา และมีเนื้อความละเมิดรัฐธรรมนูญ ศาลก็เป็นผู้มีอำนาจที่จะประกาศว่ากฎหมายฉบับนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้องค์กรใดมีอำนาจ ศาลต้องเป็นผู้มีอำนาจ”นายสุรพล

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนให้อำนาจอะไรเลย ทำนองเดียวกันคำวินิจฉัยศาลฎีกาของประเทศไทย ในคดีอาชญากรสงคราม ที่ 1 / 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสภาไทยออกกฎหมายดำเนินคดีอาชญากรสงคราม กับจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม และบุคคลทั้งหลายที่ดำเนินการให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้สงครามยุติไปแล้ว แต่ฝ่านยสัมพันธมิตรบอกว่าไทยต้องส่งผู้นำประเทศไทยขึ้นศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ประเด็นหลักในเวลานั้นรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอำนาจควบคุมกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้ามรัฐธรรมนูญเวลานั้นกำหนดให้อำนาจวินิจฉัยต่างๆเป็นอำนาจของสภา ไม่ใช่ศาล ขบวนการการควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ไม่เคยถูกใช้บังคับ และไม่เคยถูกใช้ในประเทศไทย ถ้ามีปัญหาขัดข้องตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัยให้ถือเป็นอำนาจสภา แต่ศาลฎีกาลุกขึ้นมาประกาศว่าศาลเป็นผู้ตัดสิน จึงต้องดูว่ากฎหมายที่มาใช้ตัดสินเป็นกฎหมายหรือไม่ และถ้าไม่มีใครมีอำนาจถือว่าศาลเป็นผู้มีอำนาจ จึงกลายเป็นบรรทัดฐานในประเทศไทยเช่นกัน
              
 “ส่วนตัวคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ล็อกเรื่องนี้ไว้พิจารณา เพราะเกรงว่าอาจเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญ เป็นคำวินิจฉัยที่จะมีผลมหาศาล รวมทั้เป็นการวางหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่สำคัญเทียบเท่ากับคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดของอเมริกาเมื่อปี 1803 และศาลฎีกาไทยเมื่อปี 2489 ”นายสุรพล กล่าว
               
ส่วนประเด็นการถกเถียกกันอยู่ของนักกฎหมายว่าศาลมีอำนาจหรือไม่ เป็นการจงใจลืมไป ว่าทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับในทางกฎหมายอยู่แล้ว และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้รับเรื่องไว้พิจารณานั้น จึงอยากตั้งคำถามกับการรับเรื่องผ่านหรือไม่ผ่านอสส. แต่กฎหมายชัดเจนว่า คนที่มีอำนาจวินิจฉัย คือ ศาล และศาลมีอำนาจตีความ เพราะพื้นฐานรองรับการตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 68 อีกทั้ง คำวินิจฉัย คือ พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
               
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยขั้นตอนต้นเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบการดำเนินการละเมิดหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในการเป็นปรปักษ์กับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลยังไม่คำพิพากษา และถามว่าศาลใช้อำนาจผิดพลาดหรือเกินขอบเขตนำไปสู่อะไร คือ เราจะต้องเคารพคำพิพากษาของศาล และต้องปฏิบัติตาม
               
ส่วนคำวินิจฉัยจะผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องขัดกฎหมายตามความเห็นใครก็ตาม ก็จะมีกระบวนตรวจสอบ เช่น ศาลปกติ จะมีศาลสูงคอยตรวจสอบ หากเป็นคำวินิจฉัยสูงสุด มันก็ระบบควบคุมการตรวจสอบ ถ้ามีใครเห็นว่าศาลใช้อำนาจวิปริต วิปลาส ฟั่นเฟือน มันก็นำไปสุ่การรับผิดชอบของศาล ด้วยการไปยื่นคำร้องถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ
                   
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อสส.ออกมามีคำวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่าย ก็ไม่มีผลอะไรเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วว่าการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญทำได้ 2 ช่องทาง ส่วนคำสั่งจะมีผลผูกพันต่องค์กรอธิปไตยอื่นหรือไม่นั้น รัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ศาล คณะรัฐมนตรี รวมถึงองค์กรอิสระทั้งหลาย เพราะต่างมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้
               
การที่ศาลบอกว่าให้รอการพิจารณา การดำเนินการในชั้นต่อไปเป็นดุลยพินิจของรัฐสภา จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เมื่อศาลไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดของคดี ขอบเขตการผูกพันรับผิดชอบมีน้อย กว่าการที่ศาลได้วินิจฉัยเด็ดขาด เพราะรัฐธรรมนูญรองรับไว้แล้วว่าผูกพันทุกองค์กร 
               
“ถ้าสภาลงมติในวาระที่สาม ไปในทางเห็นชอบ กระบวนการต่อไปที่กำหนดในมาตรา 291 วรรคท้าย สภาก็ต้องเสนอให้พระมหากษัติรย์ลงพระปรมาภิไท นื่คือขั้นตอนต่อไป  โดยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้วว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญก็ได้ จึงให้มีการไต่สวน เพราะฉะนั้น ถ้าสภาลงมติรับวาระที่สามของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายใน 20 วัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาข้างหน้าหากสภาลงมติเรื่องนี้ มันก็คือเสนอเรื่องไปให้พระมหากษัตริย์ต้องตัดสินใจเลือก ว่าพระมหากษัตริย์จะทำตามศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าต้องรอการพิจารณาไต่สวน หรือ จะลงพระปรมาภิไทตามที่รัฐสภามีมติ ซึ่งเป็นการสร้างความลำบากใจต่อประมุขของรัฐ”นายสุรพล กล่าว
               
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่การหลีกเลี่ยงสถานการณ์จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงในบ้านเมือง จึงเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ความเป็นจริงนั้น คืออำนาจของคน 3 คน คือ ประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา กับผู้มีอำนาจเหนือรัฐสภาที่อยู่ต่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประธานสภา และประธานวุฒิสภา ในฐานประธานสภาใช้ดุลยพินิจเรื่องนี้ ในทางที่เหมาะสม จะกำหนดให้สภาลงมติทางหนึ่งทางใด หรือเลือกเสนอปัญหาความขัดแย้งให้ประมุขของประเทศตัดสินใจ  ดังนั้น จึงเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของคน 3 คน