posttoday

กมธ.มึนคำชี้แจงกทม.ต่อสัญญาบีทีเอส

24 พฤษภาคม 2555

กมธ.ป.ป.ช. มึนข้ออ้าง กทม.ระบุจ้างบีทีเอสประหยัดภาษี 6,000 ล้าน เตรียมเชิญศศินทร์และกฤษฎีกาเข้าชี้แจงเพิ่ม

กมธ.ป.ป.ช. มึนข้ออ้าง กทม.ระบุจ้างบีทีเอสประหยัดภาษี 6,000 ล้าน เตรียมเชิญศศินทร์และกฤษฎีกาเข้าชี้แจงเพิ่ม

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร สั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมเข้าชี้แจงอีกครั้ง โดยขอให้นำข้อมูลการว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) ในการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส 30 ปี ว่าจะช่วยให้ประหยัดภาษีของประชาชนกว่า 6,000 ล้านบาทได้อย่างไร พร้อมทั้งจะเชิญสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะกรรมการกฤษฎีกา มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การที่ กทม.บอกว่าประหยัดเงิน 6,000 ล้านบาทนั้น คำนวณจากอะไร หากนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. ไม่สามารถตอบได้ ในทางการเมืองอาจตายได้ นอกจากนี้เห็นว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) เป็นเพียงตัวกลางระหว่าง กทม.กับบีทีเอสซี เหตุใดต้องเสียเงินจ้างเคทีถึงปีละ 60 ล้านบาท และหากต้องจ้างเคที 30 ปี ต้องเสียเงินถึง 1,800 ล้านบาท

ด้านนายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการ กล่าวว่า เคทีมีฐานะเป็นหน่วยงานวิสาหกิจของ กทม. ทำหน้าที่ดูแลงานสาธารณูปโภคและให้คำปรึกษาโครงการต่างๆ ตามหลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด การที่บอกว่าเคทีไม่ทำอะไร ถือเป็นการกล่าวหา ส่วนรายละเอียดผลการศึกษาว่าประหยัดภาษี 6,000 ล้านบาท จะส่งเอกสารมาให้อีกครั้ง

นายธีระชน กล่าวว่า การว่าจ้างบีทีเอสซีระยะยาวจะช่วยประหยัดภาษีได้กว่า 6,000 ล้านบาท และสามารถนำเงินมาพัฒนาเมืองโดยไม่รบกวนภาษีประชาชน ส่วนการจ้างเคทีก็ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีการวินิจฉัยแล้วว่าสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. มาตรา 89 ซึ่ง กทม.ได้ออกข้อบัญญัติรองรับเช่นเดียวกับที่รัฐออกกฎหมายรองรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

"การจ้างเคทีจะช่วยให้ กทม.ประหยัดงบประมาณรายจ่าย ไม่เช่นนั้น กทม.ต้องตั้งสำนักขึ้นใหม่ ซึ่งจะใช้งบประมาณมากกว่านี้ และเคทีก็ไม่ได้ดูแลเพียงระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้าและบีอาร์ที แต่ยังดูแลสาธารณูปโภคอื่นด้วย เช่น การกำจัดขยะติดเชื้อ และยังเป็นที่ปรึกษาด้านผังเมืองและการขนส่งให้ กทม.อีกด้วย"นายธีระชนกล่าว

ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเร่งรีบต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าอีก 13 ปี ทั้งที่เหลือสัญญาอีก 17 ปี อาจเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน และเหตุใดจึงต้องว่าจ้างเคที ทั้งๆ ที่สามารถจ้างบีทีเอสซีได้โดยตรง ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่

"หลังจากนี้จะยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ชี้มูลความผิดของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. นายธีระชน และนายอมร ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157" นายจิรายุ กล่าว