posttoday

ผอ.ศปภ.ย้ายผู้อพยพดอนเมืองไปชลบุรี

25 ตุลาคม 2554

ประชาสั่งย้ายผู้อพยพดอนเมือง 3-4 พันคน ไปชลบุรี หลังระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น พร้อมให้ขนสิ่งของบริจาคจากชั้นจี ขึ้นบนชั้น1

ประชาสั่งย้ายผู้อพยพดอนเมือง 3-4 พันคน ไปชลบุรี หลังระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น พร้อมให้ขนสิ่งของบริจาคจากชั้นจี ขึ้นบนชั้น1 

ผอ.ศปภ.ย้ายผู้อพยพดอนเมืองไปชลบุรี พล.ต.อ.ประชา

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม(ศปภ.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยที่อพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงในสนามบินดอนเมือง ไปยังวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีจำนวนราว 3-4 พันคน หลังสถานการณ์น้ำบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตที่อยู่ด้านหน้าสนามบินเริ่มเอ่อสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ประสานให้บริษัท ขนส่ง(บขส.) นำรถโดยสารราว 100 คันมาเคลื่อนย้ายให้แล้วเสร็จภายจใน 3-4 ชั่วโมง

ส่วนที่ทำการของ ศปภ.นั้นขณะนี้ยังคงปักหลักอยู่ที่เดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจจะประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการหาสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประชา ยังกล่าวกับอาสาสมัครว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าไว้วางใจ   ศปภ.กำลังสร้างพนังกั้นน้ำป้องกันน้ำที่มาจากประตูน้ำพระอินทร์และประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จึงขอให้อาสาสมัครทุกคนช่วยกันขนสิ่งของบริจาคต่างๆที่อยู่ที่ชั้นจี มาที่ชั้นหนึ่งฝั่งตะวันออก โดยขณะนี้ยังมีเวลาอีก 3-4 ชั่วโมง นอกจากนี้ รถยนต์ของใครที่จอดอยู่บริเวณชั้นล่างให้รีบขยับหาที่จอดใหม่ให้พ้นน้ำ ขณะที่สิ่งของล็อตใหม่ที่จะนำมาบริจาคก็ให้ขนส่งไปที่เทอร์มินอล 2

ผอ.ศปภ.ย้ายผู้อพยพดอนเมืองไปชลบุรี

 

สำหรับบรรยากาศหลังประกาศเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยของศูนย์ศปภ. ที่บริเวณอาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเปิดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว ประชาชน ที่อพยพมายังศูนย์พักพิงได้เดินทะยอยขึ้นรถที่ทางขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดเตรียมไว้เพื่อเดินทางไปยังสถาบันการพลศึกษา จ.ชลบุรี  โดยถึงเวลา16.00 น. ได้มีผู้สมัครใจลงทะเบียนแล้วจำนวน 520 คน จากทั้งหมด 4,131 คนที่ลงทะเบียนเข้าพักที่ศูนย์ฯ นี้

ทั้งนี้ ทาง จ.ชลบุรียังมีได้เตรียมสถานที่รองรับผู้อพยพเพิ่มอีก 7 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชน จ.ชลบุรี ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2 มณฑลทหารบกที่ 14 ค่ายลูกเสือวชิราวุธ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และเทศบาลตำบลหนองไม้แดง รวมทั้งหมดสามารถรองรับผู้อพยพได้ 8,300 คน ทั้งนี้ ศปภ.ยังได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อย้ายไปยังแฟลตเคหะเศรษฐกิจ จ.สมุทรสาคร ที่รองรับได้ 2,500 คน และบ้านเอื้ออาทร อ.พระประโทน จ.นครปฐม ที่รองรับได้ 1,100 คน รวมทั้งยังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อกลับภูมิลำเนาในจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

นายนเรศ บุญเปี่ยม รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ ขสมก. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง ขสมก.ได้จัดรถเข้ามาเพื่อขนย้ายผู้ประสบภัยไปยังสถาบันพลศึกษา และศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชน ที่ จ.ชลบุรี ในเบื้องต้นมีผู้แจ้งความจำนงค์จำนวน 600 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก สตรี และคนชรา ต้องใช้รถเมล์ทั้งหมด 21 คัน สามารถโดยสารได้คันละประมาณ 31 คน พร้อมสัมภาระ โดยใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ในการเดินทาง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชม.ในการเดินทาง นอกจากนี้ ขสมก.ยังได้เตรียมรถเมล์ไว้อีกจำนวนมากเพื่อสำรองในการขนย้ายผู้ประสบภัยที่เหลือ

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนยี กล่าวระหว่างไปตรวจเยี่ยมการย้ายประชาชนออกจากศูนย์ ว่า การเคลื่อนย้ายครั้งนี้เป็นไปตามความสมัครใจของผุ้ประสบภัย ไม่ใช่การบังคับ ซึ่งศูนย์พักพิงที่ดอนเมืองสามารถรองรับประมาณ 4,000 คน จะพยายามย้ายออกไปยังจุดต่างๆให้เหลือ 1,500 คน ตามขีดความสามารถที่รองรับได้ และจะไม่รับเพิ่มเติม อีก โดยวันนี้จะนำคนออกได้ประมาณ 950  คนและได้ประสานขอรถเพิ่มเติมเพื่อขนย้ายผู้พักพิง