posttoday

ผบ.ทบ.สั่งตรึงเข้มนิคมฯนวนคร

15 ตุลาคม 2554

ผบ.ทบ. ตรวจน้ำท่วม นิคมนวนคร รับเป็นห่วงโดนท่วมเป็นนิคมที่ 4 สั่ง พล.1 รอ. -ราบ11 ตรึงเข้ม วอนประชาชนอย่าทะเลาะกัน

ผบ.ทบ. ตรวจน้ำท่วม นิคมนวนคร  รับเป็นห่วงโดนท่วมเป็นนิคมที่ 4 สั่ง พล.1 รอ. -ราบ11 ตรึงเข้ม วอนประชาชนอย่าทะเลาะกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก และพล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมด้วย นายเลอเกียรติ แก้วศรีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และเจ้าหน้าที่บริษัท นวนคร จำกัด พร้อมตัวแทนจากหลายบริษัทฯในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ได้ลงพื้นที่ตรวจการเสริมแนวคันกั้นน้ำ ภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญในการรับน้ำจากเส้นทางน้ำจากพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งมีจำนวนโรงงานผู้ผลิต 227 โรงงาน พื้นที่กว่า 8,000 ไร่ พนักงานกว่า 180,000 คน เงินลงทุนภายในนิคมฯ กว่า 1 แสนล้านบาท มีประชากรอาศัยอยู่ในหมู่บ้านภายในนิคมฯ กว่า 30,000 หลังคาเรือน หรือ กว่า 1 แสนคน โดยเน้นย้ำ จุดที่ 1 คือ บริเวณทิศเหนือของโรงงานที่อยู่ติดกับคลองเชียงราก ซึ่งระดับน้ำขณะนี้อยู่ต่ำกว่าแนวคันเพียง 30 ซม. เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเสริมแนวคันเพิ่มและเสริมเสาเข็มรับอีกชั้น และจุดที่ 2 คือ จุดที่อยู่ด้านหลังโรงงานฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งน้ำไหลเข้าร่องด้านข้างทางรถไฟ ระดับน้ำอยู่ห่างจากแนวคันเดิมประมาณ 1 เมตร เจ้าหน้าที่ก็ได้ใช้เครื่องจักรรถแบ๊คโฮตักดินทำแนวคันดินกั้นเสริมเพิ่มอีกกว่า 1 เมตร และจุดที่ 3 คือบริเวณด้านข้างโรงงานฝั่งทิศใต้ น้ำเพิ่มระดับจากแนวคันที่บ่อขยะของโรงงาน ขณะนี้ก็ได้เร่งเสริมแนวคันกั้นเช่นกัน ซึ่งพบว่าระดับน้ำยังสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง โดยทางผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ร่วมกับกำลังทหารเตรียมกรอกกระสอบทรายกว่า 1 แสนกระสอบ เตรียมรับมือหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยมีพล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) สรุปสถานการณ์น้ำท่วมให้ผบ.ทบ.รับฟัง

จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์  เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ว่า ทางศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.)สั่งการยังมายังกองทัพบกให้ช่วยดูแลนิคมอุตสาหรรมต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งใน 3 นิคม ที่ผ่านมาทั้งนิคมโรจนะ ไฮเทค และนิคมสหรัฐ ที่บางปะอิน กองทัพพยายามกู้อยู่ แต่เป็นที่น่าหนักใจเพราะกระแสน้ำมามากเหลือเกิน ไม่ใช่เป็นความบกพร่องหรือล้มเหลวของใคร เป็นแต่เพียงว่า ปริมาณน้ำสาหัส ส่วนนิคมฯนวนคร เป็นแห่งที่ 4 ซึ่งเป็นทางน้ำจากทางเหนือลงมาทางใต้ แต่เท่าที่สำรวจดูสบายใจนิดหนึ่งเพราะมีการเตรียมการที่ดีมาก และมีความเข้มแข็งในการดูแล หากสามารถต้านทานกระแสน้ำครั้งนี้ได้ อาจเป็นแบบอย่างเรื่องการทำกำแพงกั้นน้ำในอนาคต

“รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนิคมฯอย่างมาก ไม่เฉพาะเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่ประชาชนที่ทำงานอยู่ในนิคมฯเป็นแสนๆ คน ต้องหยุดงาน หากหยุดงานนาน 6-7 เดือน จะมีผลกระทบต่อครอบครัวเราจึงพยายามป้องกันน้ำ เพื่อให้นิคมฯสามารถดำเนินงานต่อไปได้ ประชาชนต้องเข้าใจว่า จะต้องป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาภายในโรงงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรอบของโรงงาน โดยให้พล.1รอ.เป็นผู้รับผิดชอบ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) กองทัพภาคที่ 1 หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) มาร่วมด้วย ผมได้ให้แม่ทัพภาคที่ 1 นำบทเรียนจากนิคมฯ 2-3 แห่งที่เกิดขึ้นมาแนะนำกับนิคมฯนวนคร โดยลึกๆ ยังเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำในปัจจุบันไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่จากที่ได้ฟังรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา การระบายน้ำที่ออกจากเขื่อนต่างๆ ลดลงซึ่งนิคมฯแห่งนี้จะอยู่ทางทิศใต้ ที่ลงมาจากบางปะอิน ดังนั้นจะต้องขุดลอกคูคลอง เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” ผบ.ทบ.กล่าว

 ผบ.ทบ. กล่าวว่า ส่วนการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่เป็นเรื่องของรัฐบาล ทหารไม่มีความขัดแย้ง และไม่เคยเสนออะไร ทหารทำหน้าที่ในกรอบของทหาร และทำตามนโยบายที่ศปภ.สั่งการลงมา การจะมีพ.ร.ก.หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญเราต้องร่วมมือกัน และไม่กล่าวให้ร้ายกัน แน่นอนว่า งานใหญ่ และคนเยอะ ความเดือดร้อนมาก ผลกระทบจึงเกิดขึ้นเยอะ อย่าโทษกันไปมาทุกคนจะต้องช่วยกัน ขณะนี้ต้องเชื่อมั่นรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ประเทศชาติต้องมีรัฐบาล ใครจะเป็นรัฐบาลก็คือรัฐบาล ถ้าไม่เชื่อมั่นรัฐบาล ระบบราชการจะต้องล้มเหลวหมด ประเด็นสำคัญ คือ ประชาชนที่เดือดร้อนมาก ๆ ก็ร้อนใจ แต่เราอย่าโกรธเคืองกัน ต้องเห็นใจกัน และเราจะไม่ตอบโต้หรือโต้เถียงใด ๆ ทั้งสิ้น เราไม่อยากบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนในตอนนี้เพราะเดือดร้อน สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจกันมากกกว่า ส่วนพื้นที่กทม.เตรียมการเป็นอย่างดี แต่ประชาชนที่อยู่บริเวณคันกั้นน้ำ และติดกับลำน้ำ ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งคนต่างจังหวัดและคนกรุงเทพต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อต่อกัน พื้นที่ตรงไหนกันได้ก็ต้องกัน หากท่วมทั้งหมด แล้วมานั่งมองตากันปริบ ๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะไม่รู้จะไปตรงไหน เป็นคนไทยต้องเห็นใจกัน

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 16.00 น. ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ได้ประชุมด่วนเพื่อหาทางรับมือ เนื่องจาก เป็นทิศทางที่น้ำจากนิคมฯบางปะอินจะไหลมา  

ผบ.ทบ.สั่งตรึงเข้มนิคมฯนวนคร น้ำได้เอ่อล้นข้ามประตูน้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ทหารบกพยายามปิดประตูน้ำตลอดแนวคลอง