posttoday

นักวิชาการชี้ต้องรักษา “เมืองเอก” ให้ได้

13 ตุลาคม 2554

นักวิชาการระบุน้ำไม่เข้ากทม.มากอย่างอยุธยา-นครสวรรค์ เหตุไหลออกทุ่งรอบนอกหมด เผยจุดยุทธศาสตร์สุดท้ายอยู่ที่เมืองเอก หากสู้ไม่ได้น้ำเข้ากทม.แน่

นักวิชาการระบุน้ำไม่เข้ากทม.มากอย่างอยุธยา-นครสวรรค์ เหตุไหลออกทุ่งรอบนอกหมด เผยจุดยุทธศาสตร์สุดท้ายอยู่ที่เมืองเอก หากสู้ไม่ได้น้ำเข้ากทม.แน่

ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สนามบินดอนเมือง นายสมบัติ อยู่เมือง หัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ยังคงรวมตัวอยู่มากที่จ.นครสวรรค์ และจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากภูมิประเทศบริเวณดังกล่าวมีลักษณะคอขวด ขนาบด้วยภูเขาทั้งสองข้าง เมื่อเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ปล่อยมวลน้ำจำนวนมหาศาลเข้ามา จึงไม่สามารถระบายน้ำต่อไปยังจังหวัดที่อยู่ด้านล่างได้ทัน  ส่วนที่จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องเผชิญกับน้ำท่วมสูงนั้นมาจากจุดภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์รวมแม่น้ำ 3 สายคือ แม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก จนทำให้ความเสียหายทั้งหมดเกินกว่าจะควบคุมถึงขณะนี้ ซึ่งทั้งจ.พระนครศรีอยุธยา และจ.นครสวรรค์นั้น อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังต่อไปอีกประมาณ 30-45 วัน

หัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทยกล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไม่ไหลลงมายังกรุงเทพมากนัก เนื่องจากระหว่างจ.นครสวรรค์ ถึงจ.พระนครศรีอยุธยา และลงมายังจ.ปทุมธานีนั้นปริมาณน้ำได้ไหลผ่านทุ่งรับน้ำ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนแก้มลิงธรรมชาติออกไปเป็นจำนวนมากแล้ว รวมถึงรัฐบาลยังได้เร่งระบายน้ำผ่านไปยังแม่น้ำท่าจีนซึ่งอยู่ด้านตะวันตก พร้อมกับขุดลอกคลองขนาดเล็กให้น้ำผ่านไปเร็วขึ้น และผ่านไปทางคลองระพีพัฒน์เพื่อลงสู่แม่น้ำบางปะกง เพื่อไหลลงอ่าวไทย ผ่านทางด้านตะวันออกของกรุงเทพ ปริมาณน้ำที่คาดว่าจะทะลักเข้ากรุงเทพฯในตอนแรก ก็จะเหลือไม่มากนัก

“จุดที่น่ากังวลคือการเคลื่อนตัวของน้ำจาก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ผ่านหลักหก หมู่บ้านเมืองเอก ซึ่งรัฐบาลและศปภ.ต้องระดมกำลังเพื่อควบคุมตรงจุดนี้ ด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ หรือควบคุมประตูระบายน้ำ พร้อมกับส่งกำลังเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการทำลายคันกั้นน้ำเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว เพื่อควบคุมให้ปริมาณน้ำอยู่กับที่ให้ไหลไปในเส้นทางน้ำปกติ และไม่ให้ไหลทะลักออกมาจนควบคุมไม่ได้ มิเช่นนั้นน้ำจะผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าเข้าใจกลางกทม. และผ่านเข้าคูคลองอีกหลายสาย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้กับมวลน้ำดังกล่าวอยู่ระหว่าง 1-2 สัปดาห์นี้ แต่หากมีฝนตกหนักลงมาอีกก็คงต้องประเมินกันต่อไป ซึ่งระหว่างนี้กทม.คงต้องเร่งพร่องน้ำในแต่ละคลองเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนให้มากที่สุด” นายสมบัติกล่าว

สำหรับพื้นที่คลองรังสิตที่หลายฝ่ายกังวลกันว่าจะเกิดน้ำท่วมหนักนั้น นายสมบัติกล่าวว่าหากประเมินระดับน้ำ และการปล่อยน้ำมาจากด้านเหนือขณะนี้ยังถือว่าพอรับได้ อาจมีน้ำล้นเอ่อมาบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะมากเท่าที่ควร ส่วนพืนที่รับน้ำสำคัญอย่างเขตคลองสามวา มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบังนั้น ก็อาจจะมีน้ำท่วมเพิ่มเติมอยู่ในระดับ 40-50 ซม. แต่จะไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน เพราะพื้นที่ดังกล่างถือเป็นพื้นที่ที่ให้น้ำผ่านลงไปเพื่อออกสู่แม่น้ำบางปะกงเท่านั้น