posttoday

23คณาจารย์ค้านกลุ่มนิติราษฎร์

02 ตุลาคม 2554

23คณาจารย์นิติศาสตร์ยก3หลักการสำคัญ"อุดมการณ์-ตรรกะ"ค้านแนวคิดล้างผลรัฐประหารกลุ่มนิติราษฎร์

23คณาจารย์นิติศาสตร์ยก3หลักการสำคัญ"อุดมการณ์-ตรรกะ"ค้านแนวคิดล้างผลรัฐประหารกลุ่มนิติราษฎร์

กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ หลายมหาวิทยาลัย ในนาม "คณาจารย์นิติศาสตร์" จำนวน 23 คน ออกแถลงการณ์ตอบโต้อาจารณ์คณะนิติราษฎร์ โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญว่า หากมีการประกาศให้มีการลบล้างผลของการรัฐประหาร การบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างหรือหลังการรัฐประหาร ต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงของความเลวร้ายทั้งสิ้นและต้องถูกลบล้าง ให้สิ้นผลไปเสมือนเป็น “ผลไม้จากต้นไม้มีพิษ” หรือนิติกรรมที่เป็นโมฆะ

แต่ด้วยเหตุผลใด“กลุ่มนิติราษฎร์”จึงมีตรรกวิธีคิด ว่าเฉพาะการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นความเลวร้ายที่ต้องถูกลบล้าง แต่กลับไม่ได้ถือเอาผลพวงของการรัฐประหารทุกครั้ง ทุกประการเป็นพิษหรือเสียเปล่าไปด้วย เช่น การเลือกตั้งสส. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 หรือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

ข้อน่าสงสัยและน่าพิจารณาเชิงวิชาการในเบื้องต้นจึงมีว่า ข้อเสนอที่ประกอบขึ้นจากตรรกวิธีคิดที่ก่อให้เกิดผลประหลาดนี้ เป็นไปเพื่อให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่

คณาจารย์นิติศาสตร์ดังกล่าว ยังได้ขอเสนอข้อสังเกต และความเห็นที่แตกต่างกับความเห็นของกลุ่มนิติราษฎร์ดังนี้
         
1.หลักการทางจริยธรรมของนักวิชาการ คือ ต้องมีคุณธรรมและมีสำนึกในทางจรรยา (วิถีการครองตนที่ดีงาม) ของการนำเสนองานทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของงานวิชาการหรือวิชาชีพด้านกฎหมาย ต้องเน้นถึงความสุจริต ความถูกต้อง มีความสมเหตุสมผล ความเป็นธรรม และมุ่งต่อผลประโยชน์สังคม และประชาชนโดยรวม อันเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เป็นต้น นักวิชาการที่ละเลยหรือบิดเบือนหลักการทางวิชาการ ถือว่าเป็นผู้ขาดไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณอันงดงามในวิชาการและวิชาชีพที่ดี
         
2.หลักนิติธรรม เป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน กำหนดวิถีการใช้อำนาจของรัฐให้กระทำโดยชอบ ด้วยกฎหมายที่ชอบธรรมและสมเหตุสมผล หลักนิติธรรมถูกใช้เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบ ไม่สุจริตในการใช้อำนาจ ต่อต้านการทุจริตฉ้อฉลในการใช้อำนาจ และการแสวงประโยชน์ด้วยการกระทำที่ไม่ชอบของผู้มีอำนาจรัฐในทุกรูปแบบ

3.หลักประชาธิปไตย รูปแบบในการปกครองในโลกนี้มีหลากหลายรูป เช่น รูปแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยม ฯลฯ ตลอดจนเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยผู้มีอำนาจหรือโดยกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมือง การที่ประเทศใดควรที่จะยึดถือรูปแบบการปกครองใด ย่อมขึ้นอยู่กับค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมืองของคนในชาตินั้นๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์ บทเรียน และบริบททางสังคมที่เป็นจริงในประเทศนั้นเป็นสำคัญ
         
การกล่าวว่า รูปแบบการปกครองใดดีกว่ารูปแบบใดนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่มีการโต้เถียงทางวิชาการไม่จบสิ้น เพียงแต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเสรีนิยม การทำลายหลักกฎหมาย และความชอบธรรม การกระทำทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ชอบธรรม เพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือพวกพ้อง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในเนื้อหาที่แท้จริง

ดังนั้น เหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์มีข้อสงสัยในตรรกวิธีคิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำถามอย่างมากมายว่า ปัญหาเหตุปัจจัยดังกล่าวที่หาได้ถูกกล่าวขึ้น ยังคงอยู่ในอุดมการณ์หรือในตรรกวิธีคิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์” หรือไม่ 

คณาจารย์นิติศาสตร์ทั้ง 23 คน ได้แก่ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส, ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ, ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต, รศ.นพนิธิ สุริยะ, รศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร รศ.นเรศร์ เกษะประกร, รศ.ดร.วิจิตรา (วิเชียรชม)ฟุ้งลัดดา, รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ, ผศ.ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิกุล,ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ, ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์, อาจารย์เกศราภรณ์ ปานงาน, อาจารย์คมสัน โพธิ์คง, อาจารย์ จันทร์เพ็ญ หงษ์มาลัย, อาจารย์ฉัตรพร ภาระบุตร, อาจารย์จุมพล ชื่นจิตศิริ, อาจารย์นฤมล เสกธีระ, อาจารย์นิดาวรรณ เพราะสุนทร, อาจารย์รัฐศักดิ์ บำรุงสุข, อาจารย์วศิน สุวรรณรัตน์, อาจารย์ศักดิ์ณรงค์ มงคล, อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน, อาจารย์อัจฉรา จันทน์เสนะ