posttoday

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 4)

30 มิถุนายน 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************

แปดเดือนหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อประเด็นปัญหาเรื่องรูปแบบการปกครองของสยาม โดยวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาในภาษาอังกฤษเรื่อง “ปัญหาบางประการของสยาม” (Problems of Siam) ไปถึงที่ปรึกษากฎหมายชาวอเมริกัน ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis B. Sayre/พระยากัลยาณไมตรี) โดยมีคำถามสำคัญที่ทรงขอคำปรึกษาจากฟรานซิส บี. แซร์

คำถามบางประการที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขา “ปัญหาบางประการของสยาม” ได้แก่

หนึ่ง พระมหากษัตริย์ควรมีสิทธิ์ในการเลือกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นองค์รัชทายาทหรือไม่ ?

สอง ควรจะยอมรับหลักในการเลือกของพระมหากษัตริย์ หรือให้การสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นอยู่กับสถานะกำเนิดเท่านั้น และจะต้องมีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลที่มีอยู่ขณะนั้นหรือไม่ ? (กฎมณเฑียรบาลขณะนั้นถูกตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ และทรงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๖๘)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงอธิบายที่มาของคำถามทั้งสองนี้ไว้ในพระราชหัตถเลขาด้วย โดยพระองค์ได้ทรงกล่าวว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เปลี่ยนกติกาการสืบราชสันตติวงศ์จากเดิมที่ให้ที่ประชุมที่มีพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีผู้ใหญ่และพระมหาเถระเห็นชอบมาเป็นการสืบราชสันตติวงศ์โดยผู้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร (Crown Prince) ซึ่งการสืบราชสันตติวงศ์โดยตำแหน่งนี้ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบ แต่ผู้ดำรงตำแหน่งจะสืบราชสมบัติทันทีต่อจากพระมหากษัตริย์ที่สวรรคต และผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมกุฎราชุกุมารคือ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่มีพระราชโอรส เสนาบดีสภา (Cabinet Council) เห็นว่า หากพระองค์ทรงเป็นอะไรไป ผู้สืบราชสันตติวงศ์คือ พระราชอนุชาร่วมอุทรที่มีลำดับพระพรรษารองลงมา แต่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2467 (ก่อนสวรรคตหนึ่งปี)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงชี้ว่า กฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 มีหลักการสำคัญสองประการในการสืบราชสันตติวงศ์ นั่นคือ หลักในการเลือก และ หลักในการสืบสายโลหิต ขณะเดียวกัน กฎมณเฑียรบาลวางเงื่อนไขเบื้องต้นไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชสิทธิ์อันสมบูรณ์ในการแต่งตั้งสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นผู้สืบราชสมบัติ หากพระมหากษัตริย์สวรรคตโดยไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดไว้ ผู้สืบราชสันตติวงศ์คือบรรดาพระราชโอรสของพระองค์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวว่า เงื่อนไขที่กล่าวไปข้างต้นดูจะตรงไปตรงมา ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะเกิดปัญหาความสลับซับซ้อนจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมเหสีหลายพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงใช้คำว่า polygamy) อย่างไรก็ตาม กฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ได้กำหนดไว้ว่า พระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีจะทรงมีสิทธิ์ก่อนพระราชโอรสพระองค์อื่นๆ ต่อจากนั้น สิทธิ์ในการสืบฯจะไปอยู่ที่บรรดาพระราชโอรสของพระมเหสีลำดับถัดจากสมเด็จพระราชินี สิทธิ์จะถัดไปเรื่อยๆตามลำดับ โดยภรรยาของพระเจ้าแผ่นดิน มีสี่ลำดับ คือ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี และพระอรรคชายา)

จากข้างต้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวอีกเช่นกันว่า กฎมณเฑียรบาลก็กำหนดเป็นหลักการไว้ชัดเจนถึงลำดับสิทธิ์ในการสืบฯของพระราชโอรสไว้แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหายุ่งยากอย่างยิ่งยวดกว่าที่กล่าวไปแล้ว เพราะจะพบว่า มีการเลื่อนขึ้นลงของสถานะของผู้เป็นภรรยาของพระเจ้าแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ว่า สิทธิ์ในการสืบฯของพระราชโอรสควรขึ้นอยู่กับสถานะกำเนิดของพระมารดา เช่น พระราชโอรสที่มีพระมารดาที่เป็น “ลูก” ของพระมหากษัตริย์จะมีสิทธิ์ก่อนพระราชโอรสที่มีพระมารดาเป็น “หลาน” และถ้าหากมีพระมารดาไม่ว่าจะเป็น “ลูก” หรือ “หลาน” มีพระราชโอรสมากกว่าหนึ่งพระองค์ ก็ให้สิทธิ์ในการสืบฯแก่พระราชโอรสที่อาวุโสที่สุด และหากไม่มีพระราชโอรส สิทธิ์ในการสืบฯก็จะไปอยู่ที่พระอนุชาของพระมหากษัตริย์

แต่ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 สิทธิ์ในการสืบฯยังคงเป็นไปตามสถานะที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้น(created) ของพระมารดา ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า มีการเลื่อนขึ้นลง ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงมีพระราชดำริให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามสถานะกำเนิด (by birth) ไม่ใช่จากสถานะที่แต่งตั้งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวถึงปัญหาประการต่อไปที่เกิดจากความไม่ชัดเจนในกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 นั่นคือ ในกรณีที่ไม่มีพระอนุชา หรือในกรณีที่พระอนุชาที่อยู่ในลำดับที่จะสืบฯเกิดสิ้นพระชนม์ คำถามคือ พระโอรสทุกพระองค์ของพระอนุชาพระองค์ดังกล่าวคือผู้มีสิทธิ์สืบฯ หรือเฉพาะพระโอรสของพระมเหสีพระองค์ใหญ่เท่านั้นที่มีสิทธิ์สืบฯ ?

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวว่า กรณีดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้ว และปรากฏว่า ในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเห็นว่า พระโอรสทุกพระองค์ของพระอนุชาสามารถสืบฯได้ และสิทธิ์ดังกล่าวก็ปรากฎในกรณีของพระองค์เอง (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ) นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงข้ามสิทธิ์ในการสืบฯของพระโอรสของเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชยและให้สิทธิ์ในการสืบฯตกอยู่แก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

กรมขุนเพ็ชรบูรณ์ฯเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่แปด ตามลำดับดังต่อไปนี้ คือ

เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2430)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2468)

เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2430)

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ทิวงคต พ.ศ. 2463 พระโอรสคือ พระองค์

เจ้าจุลจักรพงษ์ มีพระมารดาเป็นชาวรัสเซีย)

เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2430)

เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (ทิวงคต ต้นปี พ.ศ. 2468 ไม่มีพระโอรส)

กรมขุนเพ็ชรบูรณ์ฯ (ประสูติ พ.ศ. 2435 สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2466 มีพระโอรสหนึ่งพระองค์ คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช )

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประสูติ พ.ศ. 2436)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงสวรรคตในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และมีแต่พระธิดาที่ประสูติหนึ่งวันก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจะสวรรคต ดังนั้น ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 กำหนดไว้ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้ และไม่ทรงมีพระโอรส ให้หากไม่มีพระราชโอรส ให้สิทธิ์ในการสืบฯแก่พระอนุชาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในขณะที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต พระองค์ยังไม่ได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นองค์รัชทายาท (Crown Prince) ขณะเดียวกัน กฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ยังกำหนดไว้ว่า ให้สิทธิ์ในการสืบของพระอนุชาที่ลำดับถัดไปจากพระองค์ตกไปยังพระโอรสของพระอนุชาพระองค์นั้น

จากรายพระนามและข้อมูลข้างต้น จะพบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงมีพระอนุชาลำดับถัดจากพระองค์ แต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่มีพระองค์ใดมีพระโอรสนอกจากกรมขุนเพ็ชรบูรณ์ฯที่มีพระโอรสคือ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 เป็นผู้มีสิทธิ์สืบฯ อันเป็นสิทธิ์ที่ตกทอดมาจากกรมขุนเพ็ชรบูรณ์ฯ ผู้เป็นพระอนุชาพระองค์ลำดับถัดไปจากพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคต

แต่ในช่วงสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงใช้พระราชสิทธิ์ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ที่วางเงื่อนไขเบื้องต้นไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชสิทธิ์อันสมบูรณ์ในการแต่งตั้งสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นผู้สืบราชสมบัติ พระองค์ทรงข้ามพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชและทรงให้เจ้าฟ้าประชาธิปก พระอนุชาร่วมอุทร เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์

มีเรื่องเล่าว่า สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงข้ามพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช เป็นเพราะ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช มีหม่อมมารดาเป็นนางละคร

ด้วยเหตุนี้พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชจึงมิได้สืบราชสมบัติ เช่นเดียวกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ที่มีหม่อมมารดาเป็นชาวรัสเซีย

ต่อประเด็นดังกล่าวนี้เอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงมีพระราชดำริให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะกำเนิดของพระมารดาของพระโอรสที่มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ โดยพระองค์ได้ทรงกล่าวในพระราชหัตถเลขา “ปัญหาบางประการของสยาม” ที่ทรงมีขึ้นในปี พ.ศ. 2469 ว่า ปัจจุบันนี้ ราษฎรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้พระราชโอรสทุกพระองค์มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติ เพราะพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์บางพระองค์มี “หม่อม” ที่ไม่เป็นที่เคารพอย่างยิ่ง ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ ราษฎรไทยส่วนใหญ่ยังเห็นว่า สยามควรจะตามจารีตประเพณีอินเดีย และต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงประสูติแต่พระมารดาที่สมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ อันจะทำให้พระราชโอรสทรงประสูติแต่ “ครรภ์อันบริสุทธิ์” (being born in a pure womb) และเป็น “เจ้าฟ้า”

และจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชหัตถเลขาอธิบายความมานี้ พระองค์จึงทรงอยากได้คำแนะนำจากฟรานซิส บี. แซร์ ว่า พระมหากษัตริย์ควรมีสิทธิ์ในการเลือกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นองค์รัชทายาทหรือไม่ ? และควรจะยอมรับหลักในการเลือกของพระมหากษัตริย์ หรือให้การสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นอยู่กับสถานะกำเนิดเท่านั้น และจะต้องมีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 หรือไม่ ?

ฟรานซิส บี. แซร์ได้ถวายความเห็นกลับมาว่า ต่อประเด็นการสืบราชบัลลังก์ เงื่อนไขของสยามแตกต่างอย่างยิ่งจากเงื่อนไขที่ดำรงอยู่ในอังกฤษและระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (limited monarchy) ในที่อื่นๆที่คล้ายกันกับของอังกฤษ อะไรที่ใช้ได้ดีในอังกฤษอาจจะนำไปสู่ความหายนะอย่างยิ่งสำหรับสยาม