posttoday

ตำนานสุนทราภรณ์ (22)

29 มิถุนายน 2565

โดย...นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

*********************

บทสรุปผลงานของครูเอื้อ และวงดนตรีสุนทราภรณ์นั้น อาจารย์ไพบูลย์ได้นำมาเขียนไว้ในตอนที่ว่าด้วย อนุสรณ์สถานครูเอื้อ สุนทรสนาน และ โครงการคอนเสริต์การกุศลวงดนตรีสุนทราภรณ์ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. (เล่ม 8 น. 249-259)

โดยหลักการและเหตุผลในการจัดคอนเสิร์ตการกุศลดังกล่าว ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า

“... ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นนักดนตรี นักร้อง ผู้ประพันธ์ทำนอง และผู้ก่อตั้ง วงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นวงดนตรีที่มีอายุยืนยาวมานานกว่า 60 ปี มีผลงานเพลงมากกว่า 2,000 เพลง เมื่อผสมผสานกับคำร้องจากบรมครูชั้นนำ เช่น ครูแก้ว อัจฉริยกุล, ครูเวส สุนทรจามร, ครูสุรัฐ พุกกะเวส, ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ, ครูธาตรี, ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้บทเพลงแต่ละบทมีความสอดคล้องกลมกลืน ไพเราะน่าฟัง เป็นที่ชื่นชอบของพี่น้องประชาชนชาวไทยมานานกว่า 60 ปี เป็นผลงานที่เป็นอมตะและเชิดหน้าชูตา ในความเป็นอัจฉริยะ ด้านคีตศิลป์ และ วรรณศิลป์ ของคีตกวีไทยเจ้าของผลงานเพลงดังกล่าว

“ผลงานเพลงที่เป็นอมตะของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ นั้น มีความหลากหลายมากมายหลายแนว เช่น เพลงชื่นชมธรรมชาติ, เพลงรัก, เพลงปลุกใจ, เพลงสนุกสนานรื่นเริง, เพลงรำวง, เพลงเต้นรำ ในจังหวะบอลรูมหรือลาติน และจังหวะแปลกๆ ใหม่ๆ รวมทั้งเพลงที่เทิดทูน เชิดชู สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ เพลงประจำสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแต่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดตลอดมา

“ยิ่งไปกว่านั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน ยังได้นำเอาทำนองเพลงไทยเดิมที่มีอยู่ มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากล ที่เรียกว่า สังคีตสัมพันธ์ อันมีความไพเราะยิ่งนัก และเป็นการอนุรักษ์บทเพลงไทยเดิมไว้ได้อย่างน่าชมเชย และยังสร้างเสริมให้ผู้ฟังได้คุ้นเคยกับท่วงทำนองเพลงไทยเดิมเหล่านั้น อันเป็นอัจฉริยะที่ปรากฏเห็นได้อย่างชัดเจน

“ในด้านการขับร้อง ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือ สุนทราภรณ์ ก็มีผลงานมากมายหลากหลายลีลา ทั้งจังหวะและอารมณ์ มีน้ำเสียงที่หวานนุ่ม ออดอ้อนชวนฟัง มีวิธีการขับร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการเอื้อนทอดเสียงแบบไทยๆ ที่ชวนฟังและฟังได้ไม่รู้เบื่อ มีความสามารถในการสอดใส่อารมณ์และตีความของบทเพลงแต่ละเพลงได้อย่างเยี่ยมยอด

“ส่วนการควบคุมวงดนตรีนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน จัดได้ว่าเป็นหัวหน้าวงดนตรี ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการได้เป็นเยี่ยม สามารถควบคุมดูแลนักดนตรีและนักร้องติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน สั่งสอนอบรมให้รู้จักรักษาเวลา มีความรับผิดชอบ รู้จักพัฒนาตนเองและหมั่นฝึกซ้อมอยู่เสมอ ผลักดันให้ นักดนตรี นักร้อง และผู้ประพันธ์เพลงแต่ละคน ให้ผลิตผลงานคุณภาพออกมาติดต่อกันไม่ขาดสาย โดยเฉพาะการแต่งและคัดเลือกเพลงให้เหมาะกับบุคคลิกและระดับเสียงของนักร้องแต่ละคน การเรียบเรียงเสียงประสานเพื่อให้ดนตรีแต่ละชิ้นมีความสอดคล้องกลมกลืน จนสามารถถ่ายทอด ความหมาย ความรู้สึกของบทเพลงนั้นๆ ได้สมบูรณ์เต็มที่

“ทั้งยังจัดตั้ง โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีขึ้นเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านดนตรีให้แก่ผู้สนใจทั่วไป เป็นการสร้างคลื่นลูกใหม่ให้กับวงการเพลงเรื่อยมาจนปัจจุบัน

“ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ถวายงานรับใช้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสต่างๆ เป็นประจำเสมอมา ทั้งงาน เพลงพระราชนิพนธ์ งานแสดงดนตรีเพื่อประชาชน ที่สถานีวิทยุ อ.ส. เวทีลีลาศสวนอัมพร และงานฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในที่ต่างๆ เป็นระยะเวลาอันยาวนานติดต่อกัน จนได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เพลงพระมหามงคล ให้เป็นเพลงประจำวง และพระราชทานธง ภ.ป.ร. เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ อีกด้วย

“ส่วนตัวของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน นั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานรางวัลในโอกาสต่างๆ ตราบจนบั้นปลายของชีวิต เพราะครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและซาบซึ้งในน้ำพระทัยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตลอดมา

“นอกจากนี้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ยังเป็นผู้ริเริ่มในการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ร่วมกับ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ และชมพู อรรถจินดา ทนายความชื่อดัง เพื่อพัฒนาส่งเสริมให้นักดนตรีไทยมีความรู้ความชำนาญสามารถแข่งขันกับนักดนตรีต่างชาติได้ ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมดนตรีฯ สมัยหนึ่งอีกด้วย”

คอนเสิร์ตครั้งนั้น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2544 งานนั้น มีประวัติความเป็นมาสืบย้อนไปได้ถึง 20 ปี นั่นคือ เมื่อครูเอื้อเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 นั้น ข่าวการเสียชีวิตของครูเอื้อถูกข่าวที่ใหญ่กว่ามาก “กลบ” ไปแทบหมด เพราะวันนั้นเกิด “กบฏยังเติร์ก” ที่มีการนำกองทหารออกมายึดกรุงเทพฯ ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่สถานการณ์พลิกกลับเมื่อกลุ่มผู้ก่อการยอมปล่อยตัวพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ออกจากบ้านสี่เสาเทเวศร พลเอกเปรมได้ถอยไป “ตั้งหลัก” ที่โคราช และนำทัพปราบผู้ก่อการลงได้สำเร็จ ข่าวมรณกรรมของครูเอื้อจึงถูกกลบไปแทบหมด

แต่แน่นอนว่าครูเอื้อนั้นเป็นบุคคลสำคัญอย่างมากในทางดนตรีเกินกว่าที่ข่าวใหญ่ใดๆ จะกลบได้หมด และก็มีคนที่มีวิสัยทัศน์อย่างคุณสมัคร สุนทรเวช ที่ต่อมาได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และต่อมายังได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ได้เขียนไว้ในคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า “ถ้าวันหนึ่งวันใดท่านมีอำนาจวาสนา ท่านจะสร้างรูปครูเอื้อไว้ในที่สาธารณะให้เหมือนนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เช่น โยฮันน์ ชเตราสส์”

ต่อมา เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และได้รับเชิญมาเป็นนักร้องกิตติมศักดิ์ให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ คุณสมัครได้กล่าวบนเวทีว่า พร้อมแล้วที่จะทำรูปปั้นครูเอื้อไว้ที่สวนลุมพินี เพราะเป็นสถานที่ที่วงดนตรีสุนทราภรณ์แสดงเป็นประจำ และท่านก็ยังถามออกไมโครโฟนว่า มีใครที่จะให้การสนับสนุนบ้าง

ซึ่งในวันนั้น ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. นั่งฟังเพลงอยู่ด้วย จึงเดินขึ้นไปบนเวทีแล้วตอบว่า อ.ส.ม.ท. ยินดีให้เวลาสุนทราภรณ์จัดรายการเพื่อหารายได้เป็นทุน ซึ่งประสบความสำเร็จ มีผู้บริจาคเงินให้รวม 2 ล้านบาท โดยคุณอาภรณ์ กรรณสูต ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของครูเอื้อประเดิมบริจาคเป็นคนแรก 1 แสนบาท ได้เงินเพียงพอ ค่ารูปปั้น และอนุสรณ์สถานครูเอื้อก็ดำเนินการต่อมาจนสำเร็จด้วยดี มีคำจารึกประวัติครูเอื้อที่ไว้อย่างสมบูรณ์งดงาม รูปปั้นเป็นฝีมือครูกนก บุญโพธิ์แก้ว ช่างจากกรมศิลปากร น้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม สูง 2.55 เมตร เด่นสง่าให้ประชาชนไปชมและชื่นชมอยู่ในสวนลุมพินี สืบมา

*******************