posttoday

ตำนานสุนทราภรณ์ (21)

27 มิถุนายน 2565

โดย...นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

************************

ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป และเป็นสากล ยุคสมัยหนึ่งเกิดวงดนตรีเพื่อชีวิตหลายวง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วงดนตรีเหล่านี้เกิดจากความรักในดนตรีและฝึกฝนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ผ่านการเรียนอย่างเป็นระบบหรือกิจจะลักษณะ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  หลายคนต้องเข้าป่า และถูกมอบหมายให้ใช้ดนตรีเป็นอาวุธ ซึ่งถึงจุดหนึ่งก็พบว่า ต้องมีการเพิ่มพูนความรู้และทักษะโดยไปเข้า “หลักสูตรเร่งรัด” ในประเทศจีน

หนังสือ “ปฏิบัติวัติเบาๆ” ของศิลา โคมฉาย ได้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

“หลักสูตรทางดนตรีที่พวกเราต้องเข้ารับการอบรมทั้งเร่งรัดและพิเศษ มีเวลาเพียง 4-6 เดือน เอาเพียงหลักการสำคัญๆ ไปค้นคว้าและปรับใช้กับลักษณะเฉพาะของไทย...”

 “ประเทศจีนให้ความสำคัญกับดนตรีกาลสูง ผู้คนที่ผ่านโรงเรียนระดับมัธยม มักจะรู้ทฤษฎีขั้นพื้นฐานและอ่านโน้ตเพลงได้ มีโรงเรียนเฉพาะสาขาดนตรีและศิลปการแสดง ผลิตนักเรียนผู้มีความสามารถพร้อม กระจายบรรจุในหน่วยโฆษณาคณะศิลปินประจำอำเภอ เรียนรู้จากการปฏิบัติสั่งสมประสบการณ์ พัฒนาฝีมือ หากส่อแววจะรุ่ง เตะตาแมวมองจากวงดนตรีระดับจังหวัดหรือเขตปกครองตนเอง ก็จะถูกคัดไปร่วมงาน”

“วงมณฑล...วงกองทัพ...วงระดับชาติ ประจำมหานครก็คัดคนโดยวิธีเดียวกันนี้ เลือกจากวงดนตรีระดับจังหวัด ส่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก่อนจะได้บรรจุงาน เป็นการไต่เต้าที่ต้องอาศัยฝีมือและความรักจริงในดนตรี”

สำหรับ “นักดนตรี” จากเมืองไทยเวลานั้น พวกที่เข้าหลักสูตรพิเศษจะเป็นการเรียนกับครูแบบตัวต่อตัว “แต่ละคนมีครูของตนเอง... นักเรียนกลุ่มเครื่องสาย เรียนซอ ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล่ เครื่องเป่ามีโอโบ คลาริเน็ต ฟลุต ทรัมเปต และเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่พัฒนาเสียงให้เป็นสากลแล้ว เช่น ขิมจีน พิณพระจันทร์ แคนน้ำเต้า อีกสามกลุ่มเรียนเรียบเรียงเสียงประสาน-แต่งเพลง การขับร้อง และพื้นฐานบัลเล่ต์”

สำหรับกลุ่มที่ต้องเตรียมเรียนเครื่องเป่า “หนักหนาและสาหัสกว่าใคร ด้วยเป็นเรื่องใหม่ ไม่มีใครเคยหยิบจับมาก่อน นักร้องนำจากมหิดลเป่าโอโบ มือกีตาร์โคมฉายเรียนคลาริเน็ต มือกลองกรรมาชนเป่าทรัมเป็ต หลักการคือการฝึกระบบหายใจใหม่ บรรจุลมลงท้อง... หายใจแบบคนนอนหลับ สร้างรูปแบบของริมฝีปากให้สามารถบังคับลมที่เป่าออกสั่นสะเทือนลิ้นไม้ หรือ หมุนวนไปตามท่ออย่างทรงพลัง ต้องฝึกให้คงรูปตลอดเวลา ... ฝึกแบบมีแต่เป่ากับเป่า สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณปากและแก้ม...สร้างจนอยู่ตัวจึงสามารถบรรเลงเพลง และยิ่งกล้ามเนื้อแกร่ง ยิ่งสามารถเป่าได้เสียงสูงขึ้น ประดาศิลปินเรา นักเป่าอ่อนหัด เมื่อต้องการเป่าเสียงสูง ถูกสัญชาตญาณกระตุ้นให้กดริมฝีปากหนักขึ้น...หนักขึ้น แทนการเกร็งเหยียดกล้ามเนื้อ... ไม่นานริมฝีปากด้านในปริฉีกอมเลือดกันเป็นทิวแถว” จึง “อาจต้องจารึกไว้สำหรับหน่วยเครื่องเป่าว่า... เพลงในเวลานั้นได้มาด้วยเลือดทีเดียวเทียว”

คณะนักดนตรีจากไทยรุ่นนั้น ไปเรียนที่มณฑลยูนนาน ครูคือคณะศิลปินของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา สำหรับหน่วยเรียบเรียงเสียงประสานและแต่งเพลง “เรียนรู้เรื่องคอร์ด คุณสมบัติเฉพาะทางของคอร์ด การใส่คอร์ดให้บทเพลงและการต่อคอร์ดเกลาทางเดินระหว่างคอร์ดให้ราบรื่น มีลักษณะเป็นแนวทำนองหลายแนว... เรียนเรื่องการประสานงานและความสมดุลกลมกลืนของเสียง ทำความรู้จักกับเครื่องดนตรีแต่ละประเภทในส่วนกระแสเสียงต่ออารมณ์ความรู้สึก... การประกอบวงดนตรีขนาดเล็กและขนาดกลาง”

ครูหน่วยนี้เป็นวาทยากรของวงดนตรีประจำหน่วยศิลปินแต่งเพลงประกอบรำ เรียบเรียงเสียงประสานและดำเนินการฝึกซ้อม ครูทักทาย “นักเรียนพลัดถิ่น” ด้วยประโยคอมตะ และหลักปรัชญาแห่งการดนตรี

“ดนตรีไม่ใช่การทำเสียงอึกทึก... แต่หากคือการจัดการข้อขัดแย้งอย่างเป็นระเบียบแบบแผน... ระหว่างเสี่ยงสูงกับเสียงต่ำ เสียงสั้นกับเสียงยาว หนักกับเบา ช้ากับเร็ว... เป็นเหตุเป็นผล ในกรอบจังหวะที่แน่นอน... จัดการอย่างสร้างสรรค์ มีศิลปะ เหมือนกับการทอผ้า ด้ายในแนวตั้งแนวนอนต่างคือองค์ประกอบของคอร์ด และแนวทำนองเพลงซึ่งต้องประดิษฐ์ดอกลายให้งามวิจิตร”

“เมื่อเป็นศิลปะ สิ่งที่เราต้องทำคือยึดหลักการนำเอาไปพัฒนา ตามแต่วิถีของใครของมัน...ตามแต่ลักษณะประจำชาติ อันมีรสนิยมทางศิลปะเฉพาะ... บนรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตน”

“ในส่วนของการแต่งเพลง เรียนรู้ถึงหลักการสร้างท่วงทำนองเพลง อันดับแรกต้องค้นให้พบหัวใจอันเป็นบทสรุปทำนองของบทเพลง ตรงนื้คือวรรคแรกของทำนอง...อย่างเช่นบทเพลงชื่อ “ชะตากรรม” ของบีโธเฟน ที่เปิดฉากวรรคแรกโดยเลียนเสียงการเคาะประตู...เมื่อความตายมาเคาะประตูเรียกหา... จากนั้นก็ขยายทำนองออกไปโดยวิธีการต่างๆ เท่าที่ปฏิบัติกันอยู่ในโลกซึ่งถูกสรุปให้เห็นเป็นรูปธรรม มันถูกขับเคลื่อนโดยอารมณ์ไปสู่กระแสสูง และถึงจุดคลี่คลายในจุดจบอันประทับใจ...”

“เนื้อหามักกำหนดอารมณ์เพลง ให้ท่วงทำนอง คำร้องที่ดีคือการบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ในใจคนส่วนข้างมาก แต่ไม่อาจกรองเรียงร้อยออกมาได้ ด้วยมันคือวรรณกรรม ถือโอกาสพูดแทนให้ตรงใจ... ตรงความรู้สึก...เมื่อใดนักประพันธ์สามารถประสานเนื้อหาและทำนองได้กลมกลืมลงตัวพอเหมาะพอดี อย่างมีบทบาทสนับสนุนต่อกัน บทเพลงมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง”

“เพลงยอดนิยมมักมีองค์ประกอบเช่นนี้”

“คำครูเน้นหนักหนาให้ยึดเฉพาะหลักการ เพราะการรังสรรค์บทเพลงคือการทำงานศิลปะที่ต้องสัมผัสด้วยอารมณ์ความรู้สึก ประสบการณ์และวุฒิภาวะ”

ศิลา โคมฉาย บันทึกไว้ด้วยความขมขื่นว่า “หลายปีต่อมาผมจึงได้ทราบว่า หลักการนี้ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย เพราะที่นี่ต้องสัมผัสด้วยการตลาด.... เพลงถูกทำมาเพื่อขายเท่านั้น”

แต่วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้พิสูจน์ผ่านกาลเวลาอันยาวนานว่าสามารถสร้างศิลปะที่เยี่ยมยอด เพราะสร้างขึ้นบนพื้นฐานของหลักวิชาการสากลอันแน่นหนาด้วยการเรียนรู้และฝึกฝนอย่างยาวนานเพียงพอ บวกกับการเข้าถึงดนตรีไทย สังคมและจิตใจคนไทยอย่างลึกซึ้งดื่มด่ำ ผสมผสานกับวิชาการการตลาดที่เยี่ยมยุทธ จึงสามารถครองใจคนไทยจำนวนมากมาได้อย่างยาวนาน และเชื่อมั่นว่าจะคงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป