posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบหก): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น รัฐบาลทหารรักษาการของนายพลเนวิน

27 มิถุนายน 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*****************************

ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองอันตึงเครียด และหมิ่นแหม่จะเกิดสงครามกลางเมือง  อู นุ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรับมนตรีพม่าเพื่อหลีกเลี่ยงการทำรัฐประหารของทหารสายคุมกำลัง และเชิญนายพลเนวิน นายทหารสายเสนาธิการให้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการโดยผ่านการลงมติของสภา

หลังขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ นายพลเนวินได้ประกาศต่อสาธารณะถึงเป้าหมายของการเป็นรัฐบาลผ่านผ่านเอกสารภายใต้หัวข้อ “อุดมการณ์แห่งชาติและบทบาทในการป้องกันประเทศ”  โดยมีเป้าหมาย ๓ ประการ ได้แก่

๑) นำบ้านเมืองกลับสู่การเคารพกฎหมายและความสงบเรียบร้อย

๒) ปลูกฝังประชาธิปไตย

๓) สร้างระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม

โดยนายพลเนวินเป็นผู้นำกองทัพกลับสู่ความเป็นเอกภาพ เพราะก่อนหน้านี้ ทหารแตกออกเป็นสองฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายผูกตัวเองกับกลุ่มการเมืองแต่ละกลุ่มที่ขัดแย้งกัน

หลังจากนายพลเนวินขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง อัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รายงานไว้อย่างน่าสนใจว่า  หลังจากนายพลเนวินได้กุมบังเหียนรัฐบาล อาการวิกฤตทางการเมืองที่เรื้อรังมาตลอดทศวรรษตั้งแต่พม่าประกาศเอกราชและมีการใช้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 ได้ยุติลงไปยังฉับพลัน !

วิกฤตการเมืองที่ว่านี้คือ สงครามกลางเมืองที่เริ่มเกิดขึ้นทันทีหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดแรกขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490

สงครามกลางเมืองที่ว่านี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และรวมทั้งกบฏคอมมิวนิสต์  ทำให้ตลอดระยะเวลา 11 ปี รัฐบาลพลเรือนของพม่าต้องตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพและไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างจริงๆจังๆและมuประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีของนายพลเนวินที่หลายคนคาดว่า คณะรัฐมนตรีของเขาน่าจะเต็มไปด้วยทหาร โดยเขาน่าจะตั้งนายทหารทั้งสองฝ่ายที่มีความขัดแย้งกัน นั่นคือ สายคุมกำลังและสายเสนาธิการ เพื่อทำให้ประโยชน์กระจายสู่นายทหารทั้งสองฝ่ายอันจะนำมาซึ่งความเป็นเอกภาพของกองทัพ หรืออย่างน้อย เขาก็น่าจะตั้งนายทหารจากสายของเขา นั่นคือ สายเสนาธิการให้กินตำแหน่งรัฐมนตรีโดยส่วนใหญ่  เพราะก่อนหน้านี้ที่นายทหารสายคุมกำลังคิดวางแผนจะทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล อู นุและพรรค Clean AFPFL และจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค Stable AFPFL ซึ่งเป็นพรรคคู่ขัดแย้งกับ Clean AFPFL ซึ่งน่าจะทำให้นายทหารสายคุมกำลังเข้าไปเป็นรัฐมนตรีเป็นจำนวนไม่น้อย

แต่กลับกลายเป็นว่าในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของนายพลเนวิน มีนายทหารเป็นรัฐมนตรีเพียงสองคนเท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่ นายพลเนวินแต่งตั้งจากพลเรือนทั้งสิ้น

แม้ว่าทหารจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงโดยส่วนใหญ่ แต่นายพลเนวินได้แต่งตั้งนายทหาร 20 นายเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ โดยตำแหน่งที่ว่านี้เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจบทบาทในการขับเคลื่อนและปฏิบัติงานให้ลุล่วงตามนโยบายของเขา   อย่างเช่น เขาส่ง พันเอกจี วิน (Kyi Win) ลงไปทำหน้าที่ปฏิบัติการผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรและชนบท  ส่งพันเอกชิต คาย (Chit Khaing) ลงในตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่เป็นกลไกสำคัญในการสั่งสมอิทธิพลทางการเมืองของรัฐบาลชุดก่อน   พันเอกบ๋า ถัน (Ba Than) ดูแลกิจการการปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาและข้อมูลข่าวสาร

กล่าวได้ว่า นายทหาร 20 นายที่นายพลเนวินแต่งตั้งนี้กุมตำแหน่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารภาครัฐในขณะนั้น

นายทหาร 20 นายนี้ จัดได้ว่าเป็นนายทหารระดับ “ยังเติร์ก” มีอายุเฉลี่ยนราว 38 ปีเท่านั้น เป็น ผู้บังคับฝูงบิน 1 นาย ผู้บังคับการเรือ 1 นาย ที่เหลือเป็นนายทหารบกยศพันโท และนายทหารเหล่านี้ทำหน้าที่กันอย่างจริงจัง  นายทหารทั้ง 20 นายนี้จะประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์ ขณะเดียวกัน จะมีการประชุมกลุ่มย่อยมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ การประชุมหารือกันอยู่ตลอดนี้เพื่อต้องการที่จะลุยแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปให้ได้ และเมื่อนายทหารกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัญหาที่ต้องอาศัยการกำหนดหรือแก้ไขนโยบายในระดับชาติ พวกเขาก็จะส่งเรื่องไปให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจ

โจทย์สำคัญเบื้องต้นของคณะนายทหาร “ยังเติร์ก” 20 นายนี้ คือ ปัญหาความมั่นคงของชาติ และการกวาดล้างกลุ่มกบฎต่างๆ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2501 หลังนายพลเนวินจัดตั้งรัฐบาลเพียงไม่กี่วัน ได้มีการรณรงค์ต่อต้านการก่อความไม่สงบอย่างเข้มข้นมากกว่าที่ผ่านมาในอดีต เพราะรัฐบาลที่ผ่านมานั้นทำได้แค่การรณรงค์ แต่ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เหมือนในครั้งนี้  เพราะรัฐบาลนายพลเนวินได้สั่งการให้มีการไล่ล่ากองโจรคอมมิวนิสต์ที่ซ่อนตัวอยู่ในป่า รวมทั้งการไล่ล่าตามหมู่บ้านที่ฐานของพวกคอมมิวนิสต์ด้วย ทำให้กองโจรคอมมิวนิสต์ต้องแตกกระเจิง เป็นกลุ่มย่อย หนีไปคนละทิศคนละทาง ขณะเดียวกัน ก็มีการเกลี้ยกล่อมให้ยอมมอบตัว แต่คอมมิวนิสต์ระดับแกนนำที่ยังคงพยายามต่อสู้กับรัฐบาล จะโดนปฏิบัติการไล่ล่าอย่างไม่ปรานี

จากการปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มกบฏติดอาวุธอย่างจริงจัง ทางทหารพบว่ามีกองกำลังกลุ่มกบฎติดอาวุธถึง 7,000 กลุ่มที่ไปอยู่ตามบริเวณชายแดนของประเทศ โดยมีกลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มคอมมิวนิสต์ธงขาว รองลงมาคือ กลุ่มคอมมิวนิสต์ธงแดง และกลุ่มกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง ( Karen National Defence Organisation/KNDO) ที่อยู่ทางตอนใต้ และกองโจรจีน “ก๊กมินตั๋ง” ในทางตะวันออกของรัฐชาน

แม้ว่ายังมีกลุ่มกองโจรที่ยังคงแข็งขืนและใช้วิธีการลอบโจมตีและหลบหนี แต่โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของพม่าได้เริ่มเข้าสู่ความสงบและรัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ นั่นคือ รถไฟขบวนกลางคืนสามารถแล่นผ่านมันดาเลย์ (Mandalay) และสามารถลำเลียงขนส่งไม้สักไปยังแม่น้ำต่างๆในฤดูมรสุมได้ บริเวณทางตอนเหนือของแปร (เมืองแปรของพม่า) อยู่ในสภาพใกล้เป็นปกติ

บัญชาการระดับสูงของกองทัพพม่าคาดหวังว่า ภายในหนึ่งปี จะสามารถกำจัดกลุ่มก่อความไม่สงบได้ และไม่ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบนี้จะมีจุดยืนทางการเมืองใด หากกองทัพเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ ก็จะถูกจัดการโดยทันที

มีข้อน่าสังเกตว่า  จีนไม่ได้กังวลต่อการที่กลุ่มคอมมิวนิสต์พม่าถูกไล่ล่าและอ่อนกำลังลง  โดยจีนคาดหวังว่า เมื่อถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ก็จะจัดตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ในพม่ารุ่นใหม่ขึ้น นั่นหมายความว่า จีนสามารถ “เท” กลุ่มคอมมิวนิสต์พม่ารุ่นปัจจุบันได้

ราเวนโฮล์ท ได้กล่าวถึง โครงการทางการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลนายพลเนวิน นั่นคือ โครงการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยของประเทศที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม หรือจะว่าไปแล้ว เป็นการเกณฑ์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งข้อมูลให้กับทางรัฐบาล

โครงการดังกล่าวนี้มีชื่อว่า “ปฏิบัติการ Warazein” ถ้าแปลตรงตัว Warazein แปลว่า “สายฟ้าจากเบื้องบน”  โดยคำว่า warazein นี้มีที่มาจากตำนานพุทธศาสนาท้องถิ่นของพม่า อันหมายถึง ศาสตราวุธของกษัตริย์บนสรวงสวรรค์

ปฏิบัติการ Warazein เป็นปฏิบัติการการการข่าวเพื่อเปิดรับข้อมูลจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ ประชาชนสามารถโทรเลขหรือโทรศัพท์ผ่านรหัส warazein เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบและผู้ที่เป็นภัยต่อสังคม โดยในพื้นที่ห่างไกล ตามหมู่บ้านต่างๆ  จะมีการตั้งหีบเหล็กเพื่อให้ชาวบ้านมาหย่อนข้อมูลแจ้งเบาะแสต่างๆ โดยมีทหารคอยดูแลคุ้มกัน

จากปฏิบัติการดังกล่าวนี้ ทำให้รัฐบาลได้ข้อมูลข่าวกรองที่สำคัญ อีกทั้งประชาชนก็เริ่มมีความเชื่อมั่นไว้วางใจในความสามารถและประสิทธิภาพของรัฐบาลในการปกป้องคุ้มครองพวกเขาไปในเวลาเดียวกันด้วย

และจากข้อมูลชี้เบาะแสที่รัฐบาลนายพลเนวินได้จากความร่วมมือของประชาชนนี้เอง ทำให้มีนักการเมืองจำนวนถึง 1,600 คนและ ส.ส. 7 คนถูกดำเนินคดีและตัดสินจำคุกในข้อหาคอร์รัปชั่นและมีส่วนรู้เห็นกับการก่อความไม่สงบ และยิ่งรัฐบาลนายพลเนวินเข้าตรวจสอบฐานกำลังของผู้นำทางการเมืองของรัฐบาลชุดก่อนมากเท่าไร ก็ยิ่งพบข้าราชการทุจริตมากขึ้นเท่านั้น

ในฐานะที่เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราเวนโฮล์ทได้ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งโครงการดังกล่าวนี้โดยให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข่าวสาร และรัฐบาลได้สนองตอบอย่างทันที ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ทำให้เขานึกถึง วิธีการของนายเรมอน แมกไซไซ (Raymond Magsaysay) ประธานาธิบดีคนที่เจ็ดของฟิลิปปินส์ โดยหลังจากที่นายแมกไซไซขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการของประธานาธิบดี คณะกรรมาธิการนี้รับฟังข้อร้องเรียนของประชาชนและแนะนำให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ร้องเรียนมาอย่างรวดเร็ว หน่วยงานใหม่นี้ประกอบด้วยบุคลากรที่อายุยังน้อย และมีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อประธานาธิบดีแมกไซไซ คณะกรรมาธิการดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนในรัฐบาลของประธานาธิบดีแมกไซไซ หลังจากที่เขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่  แมกไซไซได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษและเป็นขวัญใจประชาชน