posttoday

ใต้ถุนบ้านซอยสวนพลู (๓๘)

25 มิถุนายน 2565

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*************

การทุจริตเหมือนตบมือ ต้องประกอบกันทั้งฝ่ายผู้รับและฝ่ายผู้ให้

เศรษฐกิจไทยในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๒๘ ถือว่า “โชติช่วงชัชวาล” มาก อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลัก ๒ - ๓ เรื่องใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง การเมืองที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องดีพอสมควร ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยนายทหารผู้มากบารมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่กำหนดให้ทหารมีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ ส่งผลต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น สอง การลดค่าเงินบาทใน พ.ศ. ๒๕๒๘ นั้น ที่ทำให้เงินตราไหลเข้าประเทศจากการขยายตัวของการส่งออก และช่วงก่อนหน้านี้ก็มีการพบก๊าซในอ่าวไทยจำนวนมหาศาล ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเติบโตอย่างมาก เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ผู้คนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และสาม การจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้มีการซื้อขายทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นไปอย่างคล่องตัว และมีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จีดีพีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ประเทศพัฒนาขึ้นในทุก ๆ ด้าน

เศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้นรวมไปถึง “เศรษฐกิจของนักการเมือง” นั่นด้วย เพราะแต่ไหนแต่ไรนักการเมืองก็จะ “ขอบริจาค” จากพ่อค้าและนักธุรกิจต่าง ๆ อยู่เป็นปกติ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วระบบที่รับบริจาคนี้ก็ไม่ได้มีกำเนิดมาจากนักการเมืองโดยตรง แต่เกิดมาตั้งแต่ยุคทหารครองเมืองในยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามนั่นแล้ว โดยเป็นพัฒนาการสืบเนื่องมาจากยุคคณะราษฎร กล่าวคือ หลังการทำรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พวกพ่อค้าที่แต่ก่อนต้องมีเจ้านายให้การคุ้มครองธุรกิจของตน และต้อง “ส่งส่วย” ให้กับเจ้านานทั้งหลายอยู่เป็นประจำ ก็เปลี่ยนมาส่งส่วยให้กับผู้นำในคณะราษฎร และยิ่งต้องจ่ายให้มากขึ้นกว่าสมัยที่จ่ายให้เจ้านายนั้นอีกด้วย แต่พอถึงยุคจอมพล ป.ที่ขึ้นมามีอำนาจตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ทหารได้ขึ้นมามีอำนาจโดยตรง พวกพ่อค้าก็วิ่งเข้าหาแต่พวกนายทหาร แม้ว่าจอมพล ป.จะหมดอำนาจไปเป็นช่วงสั้น ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ครั้นกลับมามีอำนาจอีกหลังรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ ทีนี้ทหารก็เข้าทำธุรกิจเสียเอง ทั้งการตั้งรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ให้นายทหารเข้าไปเป็นประธานกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น กับที่เข้าไปขอมีเอี่ยวรับหุ้นลมหรือกินเงินเดือนในบริษัทและกิจการของเอกชน รวมถึงที่ฝากให้ลูกหลานได้เข้าไปทำงานอยู่ในรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนทั้งหลาย อย่างที่เรียกว่า “ยุคทหารครองเมือง” นั้น

วัฒนธรรมการส่งส่วยเพื่อรับการคุ้มครองจากผู้มีอำนาจนี้กระทำกันสืบเนื่องเรื่อยมา จนถึงสมัยที่ผู้มีอำนาจเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หลังยุคที่ทหารถูกขับออกไป(ชั่วคราว)จากวงการเมือง ในเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พอมีการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ทีนี้ก็เป็นยุค “นักการเมืองครองเมือง” พวกพ่อค้านักธุรกิจก็ต้องหันมาซูฮกพวกนักเลือกตั้งทั้งหลาย สมัยนั้นเรียกว่า “การลงขัน” คือพวกนักการเมืองที่มาร่วมลงเลือกตั้งกันในแต่ละพรรค จะไปขอเรี่ยไรเงินจากสมัครพรรคพวกที่เป็นพ่อค้าและนักธุรกิจ ซึ่งก็กระทำกันได้ง่าย เนื่องจากนักการเมืองหลายคนก็มีพื้นฐานมาจากธุรกิจต่าง ๆ อยู่ด้วย เช่น บางคนเป็นนายธนาคาร บางคนเป็นเจ้าของกิจการ และบางคนก็มีคอนเน็คชั่นกับพ่อค้าและนักธุรกิจเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เงินทองจึงหลั่งไหลเข้าสู่พรรคการเมืองต่าง ๆ ทำให้การเลือกตั้งมีการใช้จ่ายเงินกันมหาศาล เพื่อเงินหาง่ายจึงใช้กันอย่างมือเติบ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “ธนาธิปไตย” หรือ “เงินเป็นใหญ่” ดังกล่าว

ในยุคของพลเอกเปรมนั่นเองที่ธนาธิปไตยได้เติบโตขึ้นอย่างน่ากลัว ว่ากันว่าปัจจัยหนึ่งก็คือกการที่พลเอกเปรมไม่ได้สนใจคนรอบข้างและไม่ได้เอาใจใส่ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยรอบ นั่นก็คือการกอบโกยเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ ของนักการเมืองที่อยู่รายรอบ แม้กระทั่งนายทหารที่อยู่รายรอบหรือที่ได้ดีมีตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ จากที่ป๋าเปรมขึ้นมามีอำนาจนั้นด้วย ดังที่ข้อความในฎีกาของนักวิชาการ ๙๙ คนที่เปิดผนึกให้สังคมได้รับรู้ในตอนต้นปี ๒๕๓๑ แม้ว่าป๋าเปรมจะไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อหลังการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมปีนั้น การส่งส่วยให้กับนักการเมืองและทหารก็ยังคงทำกันอย่างโจ๋งครึ่ม และนำมาสู่สภาพ “บุฟเฟต์คาบิเนต” ของรัฐบาลในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ตอนนั้นพรรคกิจสังคมเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เป็นอันดับสอง จึงได้ตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาลนั้นจำนวนมาก ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการ ๓ กระทรวงใหญ่ คือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยอื่น ๆ อีก ๗ รวม ๑๐ คน โดยผู้ที่มีตำแหน่งเหล่านี้จะเป็นผู้ที่เป็นแกนนำ ส.ส.ที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ อย่างที่สื่อมวลชนในสมัยนั้นเรียกว่า “มุ้ง” ดังนั้นรัฐมนตรีแต่ละคนก็จะต้องจัดการ “เลี้ยงดู” ส.ส.ในแต่มุ้งของตัวเองให้เป็นอย่างดี เพราะ ส.ส.เหล่านี้จะเป็นตัวเลขที่ไปนับ “โควตา” เพื่อรักษาตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น นั่นคือปัจจัยแรกที่ทำให้รัฐมนตรีต้อง “หาเงิน” คือเพื่อเอาเลี้ยงดู ส.ส.เหล่านั้นให้เป็น “ประจำ” และมีจำนวนที่ “มากพอ”

ปัจจัยที่สอง คือ “การเลี้ยงดูพรรค” เพราะการเลือกตั้งในยุคนั้นต้องใช้เงินมาก เรียกกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ “ซื้อเสียง” ที่ต้องจ่ายกันเป็นหลักร้อยจนถึงหลายร้อยบาทต่อหัว ร่วมด้วยระบบ “การจัดตั้งหัวคะแนน” ที่มีคนรับอาสาไป “หาคะแนน” ให้เป็นกลุ่มก้อน แล้วเหมาไปทำให้ได้คะแนนตามนั้น เช่น ผู้นำชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่าตนเองมีเสียงที่พร้อมจะลงให้ผู้สมัครคนใดก็ได้ ๒๐๐ เสียง ขอเสียงละ ๕๐๐ บาท กับ “ค่าเดิน” ที่ต้องแบ่งให้พรรคพวกในทีมอีก ๒ - ๓ คน ๕๐,๐๐๐ บาท รวมแล้ว ก็แค่ ๑๕๐,๐๐๐ บาท แต่หัวคะแนนอีกคนบอกว่า ลูกบ้านตนเองทั้งตำบลจะเทคะแนนให้ใครก็ได้ ขอแค่คนละ ๓๐๐ บาท ค่าเดินเท่ากัน คือ ๕๐,๐๐๐ บาท และรถปิคอัพอีกคัน นั่นคือหน่วยเลือกตั้งเดียว ที่ต้องใช้เงินอย่างน้อยนับแสนบาท เขตเลือกตั้งหนึ่ง ๆ จะมีหน่วยเลือกตั้งระหว่าง ๑๕๐ - ๒๐๐ หน่วย ก็ต้องใช้เงินถึงสิบ ๆ ล้านบาท

นักการเมืองที่อยู่ในยุคนั้น “ซาบซึ้ง” กันดีทุกคน ว่าจะต้องหาเงินให้ได้มาก ๆ ก็เพื่อเลี้ยงดู ส.ส.และเลี้ยงดูพรรค แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบาก เพราะพ่อต้านักธุรกิจก็ “ยินดี” ที่จะจ่ายเงินให้กับนักการเมืองอยู่เป็นปกติแล้ว อย่างที่เราเรียกว่า “ประโยชน์ต่างตอบแทนนั่นเอง”

เขาตอบแทนกันอะไรคงไม่ต้องมีคำตอบ แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ประเทศไทย “ได้” หรือ “เสีย” อะไรนั้นมากกว่า

***************